ภาพการสวมกอดและเดินจูงมือกันอย่างชื่นมื่น ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อม Speech นายกฯ สปป.ลาว “เรากินข้าวร่วมนากินปลาร่วมน้ำ”

ในงานพิธี วางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ของกรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม ประเทศไทย และ กรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป. เมื่อวันที่ 28 ต.ค.65 สะท้อนมิตรภาพและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง 2 ประเทศ

กรมทางหลวงเริ่มก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เมื่อปี 63 ด้วยงบประมาณ 3,653,121,512 บาท เป็นการร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2,500,743,850 บาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1,152,377,662 บาท แบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน ปัจจุบันได้ผลงานแล้ว 60.5%

ฝั่งไทยแบ่งก่อสร้างเป็น 3 ตอน ตอน 1 งานถนนฝั่งไทยระยะทาง 9.400 กม. ในพื้นที่ จ.บึงกาฬ วงเงิน 831,110,000 บาท เริ่มสัญญา 30 มิ.ย.63 สิ้นสุด 16 ธ.ค.65 บริษัท บัญชากิจ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ได้ผลงาน 76.3% ตอน 2 งานถนนฝั่งไทยและด่านพรมแดนฝั่งไทย ระยะทาง 2.683 กม. จ.บึงกาฬ วงเงิน 883,110,000 บาท เริ่มสัญญา 25 ก.ย.63 สิ้นสุด 13 มี.ค.66 บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ได้ผลงาน 67.6% ตอน 3 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยก ทล. 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) วงเงิน 786,523,850 บาท เริ่มสัญญา 24 พ.ย.63 สิ้นสุด 8 พ.ย.66 บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้างได้ผลงาน 35.5%

ส่วนฝั่งลาวแบ่งก่อสร้างเป็น 2 ตอน วงเงินรวม 1,152,377,662 บาท ตอน 1 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขง วงเงิน 379,197,662 บาท ได้ผลงาน 45.7% และ ตอน 2 งานอาคารด่านพรมแดน วงเงิน 773,180,000 บาท ได้ผลงาน 68.1% คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดบริการได้ทั้งโครงการในปี 67

โครงการมีระยะทาง 16.34 กม. เป็นถนนฝั่งไทย 13.033 กม. และถนนฝั่งลาว 3.307 กม. เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร สะพานข้ามแม่นํ้าโขงเป็นสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่อง มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตร และทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่ง รวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุมทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว

แนวเส้นทางฝั่งไทยเริ่มต้นที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 (ทล.222 สายพังโคน-บึงกาฬ) พื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไคสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ จากนั้นตัดทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217และตัดทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3013 ข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทางจราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว สิ้นสุดโครงการบนทางหลวงหมายเลข 13 สปป.ลาว เชื่อมเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ

โครงสร้างสะพานได้นำ “แคน” เครื่องดนตรีท้องถิ่น มากำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สะท้อนถึงความสนุก รื่นเริง ความเป็นมิตรไมตรี ความคุ้นเคย และความเป็นกันเองในวัฒนธรรม ส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดี สร้างความเจริญทางด้านสังคม และเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นประตูการค้าที่สำคัญส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวจากไทยสู่ สปป.ลาว รวมไปถึงเวียดนามและจีนตอนใต้

ในอนาคต ทล.มีแผนก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) วงเงิน 4,765 ล้านบาท ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างหารือ สปป.ลาว เรื่องงบประมาณการก่อสร้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยวางแผนเสนอของบฯก่อสร้างปี 67 แล้วเสร็จเปิดบริการปี 69

กรมทางหลวงก่อสร้างสะพานเชื่อมประเทศเพื่อนบ้านแล้ว 10 แห่ง ประกอบด้วย สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว 5 แห่ง เปิดบริการแล้ว 4 แห่ง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) และอยู่ระหว่างก่อสร้างแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)

สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา 2 แห่ง เปิดบริการแล้ว แห่งที่ 1 (แม่สอด-เมียวดี) และแห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา 1แห่ง คือ สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท) อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กับ เมืองปอยเปต จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา สร้างสะพานและถนนเชื่อมเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้างด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพ (ไทย-มาเลเซีย) 2 แห่ง เปิดบริการแล้วแห่งที่ 1 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันจัง) และแห่งที่ 2 (แว้ง-บูกิตบูงา) หรือสะพานบ้านบูเก๊ะตา ข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2

สะพานมิตรภาพสัญลักษณ์ความสัมพันธ์เชื่อมประเทศเพื่อนบ้านอันงดงามและจะยั่งยืนตลอดไป

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง