วันนี้(15 ส.ค.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ  ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ และ  นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) ผู้ก่อตั้ง “We Care Network – เครือข่ายเราดูแลกัน” ซึ่งทำโครงการ Covid-19 Home Care ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ที่ต้องรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ( HI )  ได้นำคณะลงพื้นที่ ชุมชนวังแดง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. ตรวจเชิงรุกคนในชุมชน ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19  เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการตรวจเชิงรุก และคัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้กับประชาชน แต่หากให้ประชาชนนำไปตรวจเองโดยขาดความรู้ จะทำให้เกิดความผิดพลาดของผลที่ออกมาได้สูง  จึงได้หารือกับทีมแพทย์อาสา We Care Network เพื่อออกตรวจตามจุดต่าง ๆ และให้คำแนะนำแก่ชุมชน  นอกจากนี้การลงพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการลงทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูลผู้ที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อ โดยมีบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที นำไปพัฒนาเป็นฐานข้อมูล รูปแบบเแอพพลิเคชั่นหรือซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ในตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการการตรวจได้ง่ายขึ้น

“การตรวจในชุนชนที่มีกลุ่มเสี่ยงและมีผู้ติดเชื้อ จะเรียกมาทีละครอบครัว เพื่อลดความแออัด เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อ จะทำการคัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน ส่งเข้าสู่ระบบ Community Isolation เพื่อรอเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป ซึ่งมองว่า สิ่งที่ทำในวันนี้ จะเป็นโมเดลต้นแบบต่อไป” รมว.ดิจิทัลฯกล่าว

ด้าน นพ.ฆนัท กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก สิ่งสำคัญคือ ต้องแยกผู้ป่วยออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งการตรวจเชิงรุก หรือการตรวจหาเชื้อด้วยตนเองของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เครือข่ายสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และเครือข่าย We Care Network ได้เข้ามาให้บริการตรวจเชื้อโควิดประชาชน ซึ่งทำไปหลายจุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท หน่วยงาน และชุมชนต่าง ๆ ข้อมูลของผู้เข้ารับการตรวจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ ประเมินผล เพื่อวางแผนในเชิงระบาดวิทยาต่อไป

“ท่านรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ให้ความสำคัญ กับเรื่องนี้ โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้ ไปพัฒนาเป็นรูปแบบของการลงทะเบียน จะช่วยให้เห็นแนวทางการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะทำให้เราวางแผนดำเนินการเชิงรุกต่อไปได้ในจุดอื่นๆ

การจัดการระบบการตรวจเชิงรุกในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ต่างฝ่ายต่างทำ ยังไม่มีระบบที่เชื่อมโยงและติดตามผล ซึ่งเรื่องนี้จะได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาให้เป็นระบบที่ใช้ในระดับประเทศต่อไป” นพ.ฆนัทกล่าว

นพ.ฆนัทกล่าวอีกว่า ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สั่งซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อเร่งการตรวจเชิงรุกให้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการวางแนวทางมาตรการ ในการใช้ชุดตรวจ ATK ให้เกิดประโยชน์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  อาจจะต้องมีการติดตามว่า ซีเรียลนัมเบอร์ชุดตรวจที่ให้ไปนั้น ประชาชนที่ได้รับมีการนำไปใช้ตรวจจริงหรือไม่  เพราะปัญหาอีกประการหนึ่งของการตรวจด้วยตนเองพบว่า  ประชาชนได้ชุดตรวจ ATK ไป แล้วนำไปเก็บไว้ ไม่ยอมตรวจ หรือขาดความรู้ในการใช้งานชุดตรวจ ซึ่งจะทำให้เกิดการรายงานผลผิดพลาด  ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการหรือวิธีการที่จะช่วยประชาชนในการให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม

ด้าน น.ส.กานต์กนิษฐ์ กล่าวว่า ความสำคัญของการตรวจเชิงรุกคือการแยกผู้ป่วยออกมา ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อเนื่องในอีกหลายชุมชน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งต้องขอขอบคุณทีมแพทย์จิตอาสา We Care Network ที่เข้ามาช่วยเหลือการตรวจในชุมชนต่าง ๆ