โดยหนึ่งในแนวทางที่ได้เสนอแนะคือมาตรการ “เพิ่มรายได้ให้ประชาชน” ให้มีเงินในกระเป๋าพอที่จะต่อกรกับสถานการณ์เงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้กับประชากรวัยทำงานก็มุมหนึ่ง ขณะที่กับ “ประชากรผู้สูงวัย” นี่ก็ “ละเลยไม่ได้!!”…

ต้องมีแนวทางช่วยให้ผู้สูงวัยไม่กระทบ

จำเป็นต้องมีวิธีการที่จะ ช่วยผู้สูงอายุ

“ให้มีรายได้” ที่ ไม่ใช่แค่รับเบี้ยยังชีพ”

วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเรื่องนี้ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีข้อมูลน่าสนใจใน เว็บไซต์สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่เผยแพร่ไว้ผ่านบทความ “การสร้างรายได้ในยุคสมัยใหม่สำหรับผู้สูงอายุ” โดย วรโชติ โพธาราม ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง ซึ่งระบุไว้ว่า…การสํารวจภาวะการทำงานของประชากร ปี 2562 พบว่า…มีผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ 4.23 ล้านคน คิดเป็น 34.5% ของจำนวนผู้สูงอายุรวม 12.27 ล้านคน

ผลสำรวจเกี่ยวกับภาวะด้านการทำงานของประชากรยังพบว่า…ในกลุ่ม ผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่ นั้น สามารถจะจำแนกออกเป็น…อันดับ 1 ทำธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง 62.1% อันดับ 2 ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 20.4% อันดับ 3 ทำงานเป็นลูกจ้างเอกชน 11.2% อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่กว่า 4 ล้านคน แต่ขณะเดียวกันก็ พบผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาจากการทำงานสูงถึง 8.74 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหาการทำงานนั้น…

มักจะเกิดจาก “ปัจจัยเรื่องค่าตอบแทน”

ค่าตอบแทนที่ได้รับนั้น “ไม่สมเหตุสมผล

ขณะที่… “ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าไทยยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังคงมีศักยภาพในการทำงาน ดังนั้นหากเร่งพัฒนาฝีมือและเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้กับผู้สูงอายุเหล่านี้ได้ก็น่าจะเป็นการสร้างอาชีพ-สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุเหล่านี้” …ในบทความดังกล่าวระบุไว้ซึ่งชี้ว่าผู้สูงอายุไทยมีศักยภาพ แต่ยังไม่ค่อยได้รับการส่งเสริม…

ให้…“ชะลอเวลาเกษียณเพื่อทำงานต่อ”

ยุคดิจิทัลมีงานมากมายให้ผู้สูงวัยทำ

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้อมูลในแหล่งข้อมูลดังที่ระบุข้างต้นสะท้อนไว้ว่า…กับยุคดิจิทัลเช่นนี้ มีอาชีพมากมายที่ผู้สูงอายุของไทยทำได้ โดยเฉพาะ อาชีพที่เป็นนายของตัวเอง ที่เป็นงานที่สามารถยืดหยุ่นได้ ทั้งในเรื่องของเวลา และสถานที่ทำงาน ซึ่งถ้าหากได้รับการส่งเสริมสนับสนุน ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของสังคมไทยและลูกหลานของผู้สูงอายุเหล่านี้ นอกจากนั้นยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีเพิ่มขึ้น จากการที่ได้ทำงาน หรือไม่ต้องเป็นภาระให้กับลูกหลานนั่นเอง

นี่คือ “ข้อดี” การ “ส่งเสริมผู้สูงวัยทำงาน” 

และกับ “ตัวอย่างอาชีพยุคดิจิทัล” ในบทความใน เว็บไซต์ DEPA ระบุไว้ว่า… มีอาทิ… อาชีพครูออนไลน์ ซึ่งผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ หรือมีความรู้เฉพาะทาง หรือเป็นปราชญ์ชาวบ้าน สามารถพัฒนาส่งเสริมและนำความรู้กับประสบการณ์ที่มีมาแบ่งปันถ่ายทอดเพื่อสร้างรายได้ให้ตนเองผ่านการสอนออนไลน์ ผ่านวิดีโอคอล หรือแม้แต่อัดคลิปวิดีโอลงยูทูบ, อาชีพที่ปรึกษาเฉพาะด้าน ด้วยการนำความรู้และประสบการณ์เฉพาะทางมาใช้ ซึ่งปัจจุบันนี้หลาย ๆ องค์กรก็นิยมเชิญให้ผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วไปเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยในการตัดสินใจต่าง ๆ หรือแม้แต่ช่วยแนะนำการวางแผนกลยุทธ์

อาชีพขายของออนไลน์-ทำงานฝีมือขายผ่านสื่อดิจิทัล นี่ถือเป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุยุคดิจิทัล ซึ่งผู้สูงอายุก็สามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากผู้สูงอายุหลายคนก็มีพรสวรรค์ หรือทักษะในด้านนี้ อีกทั้งในปัจจุบันก็มีช่องทางการขายผ่านทางดิลิเวอรี่ ร้านค้าออนไลน์ หรือจะเปิดร้านขายที่บ้านก็เป็นอีกช่องทางที่ทำได้เช่นกัน, อาชีพนักเขียน-นักแปล นี่ก็เป็นอีกช่องทางสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุที่มีความรู้ในด้านนี้ ที่สำคัญสามารถทำงานจากที่บ้านได้ โดยไม่ต้องเดินทาง

อาชีพทำฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ ที่เหมาะกับผู้สูงอายุที่ชอบการปลูกต้นไม้หรือทำสวน เนื่องจากได้อยู่กับธรรมชาติ อีกทั้งยังได้ออกกำลังกายไปในตัว นอกจากนั้นผลผลิตที่ปลูกไว้ยังสามารถนำมาประกอบอาหารรับประทานเอง โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ และถ้าหากผลผลิตเหลือก็นำไปขายได้ ซึ่งยุคปัจจุบันสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการทำการเกษตรได้ เพื่อช่วยทุ่นแรง ลดการใช้แรงงาน และยังมีความแม่นยำในการบริหารจัดการแปลงปลูกได้ดีเพิ่มขึ้นด้วย

และตัวอย่างอีกอาชีพที่ผู้สูงอายุไทยสามารถจะทำได้คือ อาชีพทำโฮมสเตย์ โดยเฉพาะที่มีที่พักในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยได้ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ รวมถึงใช้แพลตฟอร์มเข้ามาช่วยในด้านการบริหาร หรือการจองที่พัก ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถทำอาชีพได้ง่ายมากขึ้น …เหล่านี้เป็น “อาชีพตัวอย่าง” โดยสังเขป สำหรับ ผู้สูงอายุ

ใช้สกิล-ดิจิทัล จะ ทำได้หลายอาชีพ

ส่งเสริมผู้สูงวัยทำงาน” นั้น ย่อมจะดี

จะเงินเฟ้อ-ไม่เฟ้อ…ก็ น่าหนุนเต็มที่.