ซึ่งที่ผ่านมาสามารถรองรับให้การช่วยเหลือบำบัดรักษาผู้ป่วยได้มากกว่า 3.2 ล้านเคสต่อปี และก็ยังถือเป็น “อะคาเดมี ฮับ (Academic Hub)” เป็นศูนย์กลางด้านวิชาการแพทย์ของประเทศไทย… นับจากนี้สถานพยาบาลที่มีชื่อว่า ศิริราช จะยิ่งน่าสนใจขึ้นอีก…

กับการ ขับเคลื่อนสู่การเป็นต้นแบบ

สมาร์ท ฮอสพิทอล (Smart Hospital)”

ทั้งนี้… นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้นวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ มุ่งหวังดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพที่สุด เกิดปัญหาน้อยที่สุด …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการให้ข้อมูลผ่านมาทาง ทีมสกู๊ปเดลินิวส์ ถึง ภารกิจโรงพยาบาลศิริราช ในกรณีนี้ ซึ่งเป็นการระบุโดย ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งรับไม้ต่อจาก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา

“เริ่มจากแอพพลิเคชั่น Siriraj Connect เชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ สามารถแจ้งเตือนวันนัดหมายล่วงหน้า ลงทะเบียนเพื่อยืนยันเวลานัดก่อนเข้าพบแพทย์ แจ้งเตือนคิวตรวจแบบเรียลไทม์ เช็กคิวเจาะเลือดและรับยา และชำระเงินได้จากแอพพลิเคชั่นเดียว รวมถึง Telemedicine การให้คำปรึกษาทางไกลกับคนไข้ที่ไม่สะดวกมาที่โรงพยาบาล… จากนั้นจึงมีการร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำเทคโนโลยี 5G Cloud และระบบ AI ปัญญาประดิษฐ์ มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล” …นี่ก็ข้อมูลอีกส่วนเกี่ยวกับกรณีนี้

ขณะที่ รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร ก็ได้เสริมข้อมูลกรณีนี้ไว้ โดยสรุปบางช่วงบางตอนมีว่า… สมาร์ท ฮอสพิทอล หรือ โรงพยาบาลอัจฉริยะ นั้น หมายถึงการออกแบบการให้บริการแก่ผู้ป่วยด้วยการใช้เทคโนโลยี หรือ “ใช้ Disruptive เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยทำให้ผู้ป่วยที่รับบริการบำบัดรักษาได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีความสะดวก ตลอดจนเพิ่มการเข้าถึงและสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับบริการ โดยล่าสุดในจำนวน 9 โครงการย่อยของโครงการ “Siriraj Smart Hospital” ก็มีหลายโครงการที่ดำเนินงานไปแล้วเกือบ 100% ซึ่งในอีกมุมนี่ก็จะเป็นการ…  

ช่วยเพิ่มความสะดวกและผลิตภาพ…

ในการทำงานของบุคลากรโรงพยาบาล

และนอกเหนือจากส่วนที่นำเสนอมาข้างต้นแล้ว…ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ของทางศิริราชก็ยังมีในส่วนที่ ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้ระบุไว้ ซึ่งโดยสังเขปมีดังนี้คือ… มีการใช้คำว่า “Smart” มาเป็นหลักคิด จากโจทย์ใหญ่เรื่องความแออัด การเข้าไม่ถึงบริการ จากการที่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการเฉลี่ยปีละมากกว่า 3 ล้านเคส และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี จนเกิดเป็นความไม่สมดุลของการรับบริการและการให้บริการ จึงเป็นที่มาของโครงการ “Smart Hospital”

เราคลี่กระบวนการของคนไข้ ตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาล ระหว่างมารับบริการ และหลังรับการรักษา เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับเพื่อลดขั้นตอน ลดเวลา ลดข้อผิดพลาด และให้การรักษาที่ถูกต้องแม่นยำ ทำให้เกิดสมดุลระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ รวมทั้งสามารถติดตามอาการของคนไข้ได้ต่อเนื่อง…นี่คือหลักใหญ่ของ “Smart” ในกรณีนี้ ที่รวมถึง… นำเทคโนโลยีมาออกแบบระบบการให้บริการเพื่อลดปัญหาความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา… ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม ในสถานที่เหมาะสม ในราคาที่คุ้มค่าเหมาะสม และทำให้เกิดความพึงพอใจมากที่สุด…และที่สำคัญคือเป็นการ… แก้ปัญหาโดยคนไข้เป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้ สลับกลับมาดูข้อมูลจากการระบุของ ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คนปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้ที่เผยแพร่ผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ยังมีส่วนที่มีการระบุไว้ด้วยว่า… การดำเนินการเรื่องนี้นอกจาก เทคโนโลยีทันสมัย แล้ว สิ่งที่สำคัญเช่นกันคือ บุคลากร ที่ต้องมีความเข้าใจนวัตกรรม มีทักษะการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ที่ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งศิริราชก็มีความพร้อมทั้งระบบการศึกษา อาจารย์ที่เชี่ยวชาญ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดพื้นที่ที่เรียกว่า “Smart Digital Hub” สำหรับให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน บุคลากรโรงพยาบาล ได้เข้ามาแลกเปลี่ยน “องค์ความรู้” เพื่อร่วมกัน “สร้างนวัตกรรม”

“ระยะแรกเรามีต้นแบบ 9 เรื่อง และกำลังขยับสู่ระยะ 2 เรามี Siriraj Data Plus ศูนย์รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารระบบโรงพยาบาลทั้งหมด สามารถนำข้อมูลประกอบกับ AI ดีไซน์จุดที่จะพัฒนา เช่น ทรัพยากรบุคคล การเงิน การคลัง พัสดุทรัพย์สิน เป็นการบริหารจัดการที่นำข้อมูลมาทำให้เกิดประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย เวลา ขั้นตอน เพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าจะเป็น ต้นแบบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้ในอนาคต” …ทาง ศ.นพ.อภิชาติ ระบุไว้

ก็น่าสนใจ-น่าติดตามดูสถานพยาบาลนี้

กับ ยุค Smart” ที่กำลังมีการขับเคลื่อน

ภายใต้จุดสำคัญ คนไข้เป็นศูนย์กลาง”.