นับหนึ่งโจทย์ “ปฏิรูปตำรวจ” มา 8 ปี หลังรัฐประหารและพยายามปัดฝุ่นกลไกยุติธรรมต้นทาง วันนี้คงเร็วไปหากจะตัดสินเพียงตัวอักษรว่า ดีขึ้น-แย่ลง ดังนั้น มาชวนคุยสาระสำคัญกับความคาดหวังช่วงเปลี่ยนผ่าน น่าจะมีมุมมองให้ขบคิดกันต่อ “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามความเห็นกับ รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งสะท้อนหลายประเด็นไว้น่าสนใจ

คาดหวัง “หน้าตา” กลไกลูกตรง “เบ้า”

รศ.ดร.ภูมิ มองว่า แม้กฎหมายอาจไม่ได้ดั่งใจหลายคน แต่อย่างน้อยก็ “ขยับ” ในเรื่อง “ปฎิรูป” สองส่วนสำคัญคือโครงสร้างและการให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยการเปิดช่องทางร้องเรียน ความคาดหวังแรกที่ต้องดูคือ “รายละเอียด” ที่จะกลายเป็นข้อปฏิบัติ เป็นกลไกขับเคลื่อนจะออกมาได้เร็วแค่ไหน พร้อมชี้ประเด็นต้องจับตา เช่น การออกกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และกฎหมายลำดับรองต่างๆ จะสมกับหลักการที่เขียนไว้หรือไม่  

ในส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนเห็นว่ากฎหมายพยายามเปิดพื้นที่มีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) หากได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือการร่วมเป็นองค์ประกอบกรรมการ ก.ตร. หรือ ก.ร.ตร. ที่มีการพูดกันว่า เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนนอกที่ไม่ใช่ตำรวจเข้ามาเป็นกรรมการด้วย

ขจัดระบบ “วิ่งเต้น” ด่านแรกความไว้วางใจ

รศ.ดร.ภูมิ มองการทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจดีขึ้น แน่นอนว่าประชาชนที่ไปสถานีตำรวจก็เพื่อให้ปัดเป่าความเดือดร้อน

ในแง่ปรับปรุงโครงสร้างการให้ความสำคัญกับสถานีทั้งเรื่องบุคลากรและภารกิจรองรับต้องชัดเจนขึ้น ควบคู่ไปกับการกำหนดภารกิจภายใน การเติบโตในสายงาน และสิ่งที่ต้องขจัดไปให้ได้คือ “ระบบการวิ่งเต้น” การลดวิ่งเต้นจะเป็นด่านแรกที่ทำให้เกิดความไว้วางใจ

อีกส่วนคือช่องทางร้องเรียนแม้มีระบุไว้ แต่หากประชาชนยังกลัวได้รับอันตรายก็จะไม่กล้าแจ้งอยู่ดี จุดนี้เป็นปัญหาหลักกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือเห็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง กลับไม่กล้าแจ้งเบาะแส ดังนั้น กลไกที่มีการร้องเรียนต้องสร้างความมั่นใจถึงการคุ้มครองและเยียวยา นอกจากนี้ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าร่วมกระบวนตรวจสอบการทำงาน ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทำแล้ว

ปรับระบบตำรวจแค่ข้อหนึ่งในห่วงโซ่ยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญคือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีค่าใช้จ่าย เช่น การประกันตัว การต่อสู้คดี สิ่งเหล่านี้อาจยังไม่ถึงที่หวังไว้ หากไม่ได้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพราะอย่าลืมว่าการปฏิรูปตำรวจเป็นเพียงต้นทางเท่านั้น ยังมีมิติอื่นๆ ที่จะมาเป็นโซ่คอยลิงก์ให้กระบวนการยุติธรรมขับเคลื่อนไปได้

“ปฏิรูป” ต้องใช้ความอดทนสูง ละลายโครงสร้าง-ความเคยชิน เชื่อเสียงสะท้อนไม่สูญเปล่า

รศ.ดร.ภูมิ ชี้ส่วนตัวมองการปฏิรูปต้องใช้เวลา เพราะการเปลี่ยนโครงสร้างที่องค์กรมีมานานและเคยชิน ต้องอาศัยความอดทนสูงมาก แต่เมื่อมีการขยับการปฏิรูป ก็แสดงให้เห็นว่ากระแสสังคมที่มีการเรียกร้องตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปบ้างในบางประเด็น

“แม้อาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่สังคมคาดหวัง แต่อย่างน้อยก็จะได้เห็นกลไกใหม่ๆ ตามกฎหมายฉบับนี้ เชื่อว่าในอนาคตสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนที่มีคนทำวิจัย มีนักวิชาการ หรือภาคประชาชน ออกมาเรียกร้องกันจะถูกขับเคลื่อนไปมากยิ่งขึ้น เพราะการปฏิรูปในบางส่วนจะต้องมีกฎหมายบางตัวถูกทบทวนว่าที่ออกมานั้น มีผลสัมฤทธิ์อย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นปฏิรูปต่อไปอีกในอนาคต”

รศ.ดร.ภูมิ ทิ้งท้ายถึงมิติการปฏิรูปตำรวจที่สังคมคาดหวังคือ การอำนวยความยุติธรรมและการให้ความช่วยเหลือกับประชาชน โดยเฉพาะในคดีอาญาซึ่งเป็นคดีที่มีความร้ายแรง อีกส่วนคือปฏิรูปกระบวนการภายใน ซึ่งจะทำให้ตำรวจมีขวัญและกำลังใจ มีการทำงานที่สอดคล้องโครงสร้างและภารกิจที่มีสวัสดิการเพียงพอต่อการทำงานและการดำรงชีวิต.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]