ในยุคที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และการเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้น้ำมันมีราคาพุ่งสูงขึ้น จนเกิดภาวะสินค้าขึ้นราคา และเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง ก็ได้มีผู้นำหมู่บ้านหญิงคนหนึ่ง คือ นางแต๋ว ลุณวงค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ได้ชักชวนให้ลูกบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร หันมาทำการเกษตรผสมผสานตามศาสตร์พระราชา โดยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้
ดังเช่น “ลุงพอน” โกสกุล อายุ 67 ปี อดีต อบต. 2 สมัย อยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 6 ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ ซึ่งเดิมมีอาชีพเป็นเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ที่ต้องพึ่งพาฟ้าฝน ซึ่งถ้าปีไหนดวงดีได้ผลผลิตสูง ก็มักจะประสบกับปัญหาผลผลิตมีราคาตกต่ำ โดยก่อนหน้าที่ลุงพอนจะหันมาทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ลุงพอนมีอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกข้าวโพด แต่ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากเกิดภาวะผลผลิตราคาตกต่ำ
ลุงพอน จึงหันไปลงสมัคร อบต. เพื่อเป็นผู้นำหมู่บ้าน แต่พอถึงช่วงเวลาติดป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ลุงพอน ได้นึกถึงคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงแนะนำให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรผสมผสานแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยไม่กี่ไร่ ลุงพอนจึงรีบถอนตัว และเริ่มทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงในเนื้อที่จำนวน 7 ไร่ 2 งาน
ด้วยกำลังแรงกาย ลุงพอนได้ขุดบ่อเลี้ยงปลาจำนวนหลายบ่อ และได้ปลูกพืชสวนและผลไม้ปลอดสารพิษหลากหลายชนิด ทั้งตามคันคูระหว่างสระน้ำและในพื้นที่ทั่วไป อาทิ อินทผลัม มะม่วง กล้วย ส้มโอ ขนุน มะกรูด มะนาว ละมุด น้อยหน่า มะละกอ พริกขี้หนู เป็นต้น
ปัจจุบัน “ลุงพอน” จะปลูกทุกอย่างที่กินได้ และกินทุกอย่างที่ปลูกได้ ที่เหลือจะนำไปขายสร้างรายได้ และแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน จนทำให้ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด หรือพิษเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ ลุงพอนก็ไม่เดือดร้อน หรือได้รับผลกระทบใดๆ หนำซ้ำสวนของลุงพอน ยังเป็นครัวอาหารที่คอยแบ่งปันพืชสวนที่ใช้ในการประกอบเป็นอาหาร ให้กับเพื่อนบ้านในหมู่บ้านอีกด้วย
ลุงพอน เล่าว่า แต่ก่อนก็เป็นเกษตรกรทำไร่ทำนา พออายุมากแล้วทำไม่ไหว ก็เลยหันมาทำสวนอยู่ที่ข้างๆ บ้าน เวลาเหนื่อยก็พัก เมื่อก่อนเคยเป็น อบต.มา 2 สมัย ตอนนี้อายุมากแล้ว ไม่เอาแล้ว อินทผลัมที่นี่ปลูกบนคันคูสระน้ำไม่เหมือนที่อื่น รากก็อยู่ใกล้น้ำ รสชาติก็จะดีและดกกว่าที่อื่น ก็อยากให้เกษตรกรรายอื่นทดลองดู เพราะไม่ต้องรดน้ำมาก ส่วนในสระก็เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาทับทิม พอเพื่อนบ้านมา ก็เอาแหมาทอดเอาปลาขึ้นมากิน
“ซึ่งพอเราหันมาทำเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ก็รู้สึกภูมิใจ ดีใจ เพราะสะดวกสบายที่ได้อยู่กับสวนติดบ้าน ตื่นเช้ามาเห็นต้นไม้เราก็ชุ่มชื่น เพราะมีอายุมากแล้ว และจะปลูกขยายไปเรื่อยๆ โดยเรามีทุกอย่าง ปลาก็มีกิน มะละกอ กล้วย น้อยหน่า มะนาว ก็มีกิน ไม่ต้องไปซื้อ แต่ก่อนต้องซื้อเขาแพง ลูกละบาทสองบาท แต่ตอนนี้เพื่อนบ้านมาที่สวน ก็เก็บไปกินได้ทุกคน”
ด้าน นางแต๋ว ลุณวงค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 กล่าวว่า เริ่มแรกเราทำเป็นตัวอย่างก่อน แล้วเชิญชวนลูกบ้านให้มาทำด้วยกัน ก็มีหลายครัวเรือนที่ออกมาทำก็ได้ผลดี และได้บอกต่อๆ กันไป แบ่งปันกันไป ในช่วงวิกฤติโควิดจะดีมาก เรามีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ และชาวบ้านเห็นว่าทำแล้วได้ประโยชน์ เวลามีอะไรเข้ามาก็ดูแลตัวเองได้ โดยไม่ต้องไปพึ่งพาส่วนไหน เพราะมันมีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่โควิดระบาดในหมู่บ้าน แล้วออกไปตลาดไม่ได้ เขาปิดตลาด ปิดหมู่บ้าน คนไหนที่ทำในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของผู้ใหญ่พาทำ ก็จะอยู่กันได้และแบ่งปันกันในหมู่บ้านได้เลย
“ตอนนี้ก็น่าจะเกิน 50% แล้ว ที่คนออกมาทำกัน ส่วนคนไม่มีพื้นที่จริงๆ เขาก็ยังทำในหมู่บ้านเขาได้ ส่วนคนที่ออกมาทำข้างนอกก็เริ่มออกมาเยอะ มาขุดสระเลี้ยงปลา ปลูกพืชสวนครัว และไม้ผล ซึ่งช่วงนี้มีผลไม้ขายในหมู่บ้านแล้ว อย่างเช่นสวนลุงพอน เป็นตัวอย่างที่ดี มีอินทผลัมหลายสายพันธุ์ จำหน่ายในราคาตั้งแต่กิโลละ 300 บาทขึ้นไป ตอนนี้ผลผลิตเริ่มออกแล้ว ส่วนสวนอื่นก็จะมีพวก กล้วย มะม่วง ปลา และไก่ ที่ขายได้ ทุกครอบครัวในหมู่บ้านอยู่กันอย่างสบายแบบพอเพียง มีอะไรก็แบ่งปันกันไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ตนตั้งใจทำไว้ และจะทำต่อไป”
คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : กิตติ ตันติมาลา จ.เพชรบูรณ์
แนะนำเรื่องราวชีวิตดั่งนิยาย หรือสอบถามได้ที่ [email protected]
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” เพิ่มเติมได้ที่นี่..