…นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุของ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ “กสศ.” หรือ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” เกี่ยวกับการ “สร้างโอกาสการศึกษาเสมอภาค” ที่ขณะนี้กำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ…

“โอกาสศึกษาเสมอภาค” นี่ “เรื่องสำคัญ”

ทั้งกับตัวบุคคลจนถึงการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ กลุ่มนักเรียนที่ ดร.ไกรยส ระบุข้างต้นคือ “นักเรียนทุนเสมอภาค” ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นแรกที่ได้รับการคัดกรองเมื่อปีการศึกษา 2561 โดยเวลานั้น กสศ. ที่มีภารกิจ “ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเร่งให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษา ผ่านการพัฒนากลไกและมาตรการเชิงระบบ ให้สามารถ “สร้างโอกาสที่จะนำสู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดภายใต้งบประมาณของประเทศที่มีจำกัด

ทาง กสศ. ได้วิจัยพัฒนากระบวนการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษด้วยวิธีวัดรายได้โดยอ้อม (Proxy Means Test : PMT) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อชี้เป้าเด็กที่มีชีวิตยากลำบากมากที่สุด ร้อยละ 15-20 ของประเทศ ให้ได้รับเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือ “ทุนเสมอภาค” กสศ. ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเดินทาง ค่าครองชีพทางการศึกษา โดยมีเงื่อนไขต้องมีอัตราเข้าเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80-85 ซึ่งจากการติดตามกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้มา 4 ปีพบว่าได้ช่วยให้มีอัตราเข้าเรียนดีขึ้น มีพัฒนาการที่สมวัยมากขึ้น จำนวนเด็กหลุดระบบการศึกษาน้อยลง ตามลำดับ และมีแนวโน้มศึกษาต่อระดับที่สูงกว่าภาคบังคับมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ระหว่างศึกษาประเมินผล 4 ปี กสศ. พบว่า การจะทำให้โอกาสการศึกษาเป็นเรื่องที่ยั่งยืนได้สำหรับนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ คือการปิดช่องว่างการส่งต่อการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ ผ่านการเชื่อมต่อฐานข้อมูลและการทำงานส่งต่อนักเรียน ให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

“ทำอย่างไรจะให้การช่วยเหลือในระบบไร้รอยต่อจากอนุบาลถึงอุดมศึกษา เมื่อเราค้นพบเด็กจากการคัดกรองแล้ว ต้องหาทางคุ้มครองเขาไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา และส่งต่อให้เขามีโอกาสเรียนให้ได้สูงสุดตามศักยภาพและความมุ่งมั่นของเขาและครอบครัว เด็กทุกคนไม่ว่าเกิดมายากดีมีจนก็ควรมีสิทธิบรรลุเป้าหมายการศึกษาสูงสุดที่เขาใฝ่ฝัน สิ่งนี้คือเป้าหมายชีวิตของเขา และเป้าหมายของประเทศ ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน”

ดร.ไกรยส ระบุอีกว่า… จากโจทย์ดังกล่าว การสนับสนุนเด็กช้างเผือกให้ได้ศึกษาสูงสุดอย่างเต็มศักยภาพ เป็นจุดเริ่มภารกิจ “ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ที่ กสศ. ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และที่ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษ ที่ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ผ่านระบบ TCAS และส่งต่อ
ข้อมูลสู่มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อ จัดหาทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนอื่น ๆ ที่จำเป็นอย่างรอบด้าน เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสเสมอภาคทางการศึกษา

ทั้งนี้ การพัฒนา “ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ช่วยให้ไทยมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว ครอบคลุมเด็กและเยาวชนที่ครัวเรือนมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศจำนวนกว่า 1.9 ล้านคน ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือสนับสนุนส่งเสริมให้ไม่หลุดจากระบบการศึกษา

“การพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่ กสศ. และหน่วยงานภาคี เริ่มภารกิจเมื่อปลายปี 2564 ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญ ปัจจุบันมีเยาวชน 20,018 คน กำลังศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา 75 แห่ง ประกอบด้วย กลุ่มมหาวิทยาลัยกำกับของรัฐมากที่สุด 7,599 คน รองลงมาสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5,891 คน กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ 5,132 คน กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล 1,235 คน กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนและสถาบันการศึกษาอื่น ๆ 161 คน ในจำนวนนี้มี 6 คนสอบผ่านการคัดเลือกเข้ากลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และเป็นนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กสศ. 25 คน”

ดร.ไกรยส แจกแจง อีกทั้งยังระบุว่า… ในสถานการณ์ที่ ไทยต้องการ “ก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การ “สร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” เป็นการลงทุนต่อประเทศที่สำคัญ ต้องช่วยให้เด็กและเยาวชน “ก้าวข้ามรอยต่อในระบบการศึกษา” อันเกิดจากปัญหาความยากจน-ด้อยโอกาสต่าง ๆ และพัฒนาสู่ระดับการศึกษาสูงที่สุดเท่าที่ศักยภาพจะพาไปถึง ซึ่งจะส่งผลถึงรายได้จากการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาโดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่จบการศึกษาสูงกว่าพ่อแม่ ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเพียงชั้นประถมหรือเทียบเท่า

“แล้ววันที่คนรุ่นนี้มีรายได้สูงขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน ย่อมหมายถึงการเปิดประตูสู่โอกาสในชีวิตที่มากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และหยุดวงจรความยากจนที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น…

ให้สิ้นสุดลงในรุ่นของพวกเขา”.