นายซามูเอล เบนเดตต์ นักวิเคราะห์ด้านการทหารของรัสเซียจากกลุ่มวิจัย “ซีเอ็นเอ” ในสหรัฐ กล่าวว่า โดรนกามิกาเซ่ที่รัสเซียใช้ถูกเชื่อว่านำเข้าจากอิหร่าน พวกมันเป็นทั้งอาวุธทางทหารและอาวุธทางจิตวิทยา มิหนำซ้ำ การโจมตีเมืองใหญ่ที่ควรจะมีการป้องกันภัยคุกคามทางอากาศเป็นอย่างดีนั้น แสดงให้เห็นว่า กองทัพรัสเซียยังคงแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีเป้าหมายทางทหารหรือพลเรือนก็ตาม


ยูเครนและสหรัฐอ้างว่า โดรนที่รัสเซียนำมาใช้ถูกผลิตขึ้นที่อิหร่าน รู้จักกันในชื่อ “ชาเฮด-136” ก่อนที่รัสเซียจะเปลี่ยนชื่อเป็น “เจรัน-2” อย่างไรก็ดี อิหร่านยืนกรานปฏิเสธทุกกระแสข่าว ว่าให้โดรนกับรัสเซียเพื่อใช้ทำสงครามในยูเครน


ทั้งนี้ โดรนเป็นส่วนหนึ่งในหมวดหมู่ยุทโธปกรณ์ที่เรียกว่า “อาวุธแบบดักรออยู่กับที่” ซึ่งหมายความว่าพวกมัน “ถูกออกแบบมาให้ลอยเหนือสนามรบ” และมองหาเป้าหมายต่าง ๆ เช่น เรดาร์ ส่วนคำว่า “กามิกาเซ่” ที่นำมาใช้กับโดรนประเภทนี้และอาวุธอื่น ๆ อ้างอิงมาจากกองนักบินทหารของจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งบินชนพลีชีพในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

Al Jazeera English


แม้โดรนชาเฮด-136 จะมีเสียงดังและมองเห็นได้ง่าย ทำให้พลเรือนมีโอกาสหาที่หลบภัยก่อนเกิดการระเบิดได้มากขึ้น และมีรัศมีการระเบิดที่เล็กกว่าขีปนาวุธขนาดใหญ่ แต่พวกมันสามารถเล็ดรอดผ่านระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน หรือบังคับให้ทหารยูเครนใช้ทรัพยากรการป้องกันทางอากาศที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อทำลายโดรนก่อนที่พวกมันจะโจมตีเป้าหมายได้


การชิงความได้เปรียบในสนามรบของกองกำลังรัสเซียมีเพิ่มขึ้นจากการใช้โดรน โดยยูเครนเชื่อว่า รัสเซียสั่งซื้อโดรนกามิกาเซ่จากอิหร่านมากถึง 2,400 ลำ ซึ่งรัฐบาลเคียฟได้แสดงการตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ล้ำหน้ามากขึ้น


แม้รัสเซียมีอุตสาหกรรมอาวุธเป็นของตัวเอง แต่สำหรับผู้สันทัดกรณีบางคน มันเป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลมอสโกต้องพึ่งพารัฐบาลเตหะรานในด้านโดรน ซึ่งการหันไปหาอิหร่านในปีนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมอสโกยังมีความสามารถเกี่ยวกับโดรนภายในประเทศไม่เพียงพอ


อย่างไรก็ดี การที่รัสเซียใช้โดรนกามิกาเซ่ของอิหร่านส่งผลให้รัฐบาลเคียฟลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเตหะราน ซึ่งประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เรียกความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอิหร่านว่าเป็น “การร่วมมือกับความชั่วร้าย”


อีกด้านหนึ่ง สหรัฐให้คำมั่นที่จะส่งโดรนกามิกาเซ่ของตัวเองที่เรียกว่า “สวิตช์เบลดส์” มากกว่า 700 ลำให้กับยูเครน แม้แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังโดรนชาเฮด-136 และสวิตช์เบลดส์จะเหมือนกัน แต่โดรนสวิตช์เบลดส์มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างออกไป และความแตกต่างสำคัญประการหนึ่งระหว่างโดนทั้งสองรุ่นนี้ คือ “ระยะ” โดยโดรนสวิตช์เบลดส์มีระยะพิสัยทำการสูงสุดถึง 25 ไมล์.


เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS