เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565 ที่อังกฤษ เกิดเหตุการณ์ที่อาจเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ก็คงได้ เมื่อ ‘เอ-ดา’ (Ai-Da) หุ่นยนต์ศิลปินซึ่งตั้งชื่อตาม เอดา เลิฟเลซ นักคณิตศาสตร์คนสำคัญในศตวรรษที่ 19 ได้กลายเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่เข้าร่วมประชุมกับวุฒิสมาชิกพร้อมกับคณะกรรมการการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลในสภาสูงของอังกฤษ

เอ-ดา ไปปรากฏตัวเพื่อช่วยตอบข้อซักถามจากสมาชิกวุฒิสภาในหัวข้อเกี่ยวกับอนาคตของงานศิลปะ การออกแบบ แฟชั่นและอุตสาหกรรมดนตรี รวมถึงคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ส่งผลกระทบต่อแวดวงเหล่านี้ แน่นอนว่าเธอไม่ได้ไปเพียงคน (ตัว) เดียว แต่ไปพร้อมกับทีมงานและผู้สร้างตัวตนของของเธอขึ้นมา 

หุ่นยนต์ เอ-ดา ออกแบบโดย เอแดน เมลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะยุคโมเดิร์นและศิลปะร่วมสมัยด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ตัวหุ่นนั้นสร้างขึ้นโดยบริษัท Engineered Arts ในมณฑลคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ 

เอ-ดา มีกล้องติดตั้งไว้ในดวงตาทั้งสองข้างและใช้ระบบคอมพิวเตอร์อัลกอริทึมเพื่อสร้างบุคลิกที่เป็น “มนุษย์” ขึ้นมาให้เธอ

กระนั้น เธอก็ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าในฐานะ “มนุษย์” ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ ในระหว่างตอบคำถาม ยังเกิดเหตุการณ์ที่ เอ-ดา ‘เครื่องดับ’ ซึ่งทำให้เธอผล็อยหลับไปและผู้ดูแลหุ่นยนต์ต้องเข้ามาตั้งโปรแกรมให้เธอใหม่ 

อย่างไรก็ตาม เอ-ดา สามารถตอบคำถามและแสดงหลักฐานสนับสนุนเหตุผลของเธอได้ในระดับหนึ่ง โดยจะต้องป้อนคำถามไปล่วงหน้า เพื่อให้ เอ-ดา เตรียมคำตอบ เมลเลอร์ อธิบายว่า เอ-ดา ใช้โมเดลการใช้ภาษาของ AI เธอจึงสามารถตอบโต้ได้เหมือนคน แต่อาจจะไม่ได้คุณภาพเท่าคนจริง ๆ ตามหลักการแล้ว เมลเลอร์ คือผู้รับผิดชอบทุกคำที่ เอ-ดา พูดอออกมา

เอ-ดา ชี้แจงต่อหน้าวุฒิสมาชิกว่าเธอทำงานวาดภาพโดยอาศัยกล้องที่ติดตั้งอยู่ในดวงตา ใช้แขนกลและระบบอัลกอริทึมในการเขียนบทกวี ร่วมกับเครือข่ายข้อมูลในการวิเคราะห์ข้อความจำนวนมหาศาล จากนั้นจึงใช้ตัวอย่างโครงสร้างและเนื้อหาเพื่อสร้างบทกวีขึ้นมาใหม่ 

เอ-ดา กล่าวว่าเธอไม่มีประสบการณ์ตรง จึงไม่สามารถบอกได้ว่าวิธีการของเธอต่างจากการใช้สมองของมนุษย์อย่างไร แต่ย้ำว่า ถึงเธอจะ “ไม่มีชีวิต” เธอก็ยังคงสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้

เอ-ดา และผลงานภาพเหมือนศิลปินดังของเธอเมื่อครั้งไปออกบูทที่งานเทศกาลดนตรี Glastonbury ในเมืองพิลตัน เมื่อเดือนมิ.ย. 2565

ในส่วนของการสร้างสรรค์งานศิลปะนั้น หุ่นยนต์ เอ-ดา จะใช้ระบบอัลกริทึมที่ต่างจากการเขียนบทกวี เธอระบุว่า เทคโนโลยีนั้นมีส่วนในการสร้างสรรค์งานเชิงพาณิชย์ศิลป์อย่างมากอยู่แล้ว เช่น การใช้กล้องและเทคโนโลยีการผสานภาพถ่ายและภาพยนตร์ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต 

เอ-ดา กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าแนวโน้มนี้จะมีผลกระทบในวงกว้างกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ เนื่องจากเทคโนโลยีสามารถเป็นได้ทั้งโอกาสและการคุกคามการทำงานของศิลปิน

ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์หรือโปรแกรม AI เหล่านี้ช่วยเหลือศิลปินได้เมื่อต้องทำงานที่มีรูปแบบซ้ำซาก เช่น การแต่งเพลงประกอบโฆษณาสั้น ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ศิลปินผู้ยึดอาชีพนี้ในการทำมาหาเลี้ยงตัวเองต้องตกอยู่ในความเสี่ยงว่าอาจไม่มีงานทำ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

ตามข้อมูลของ แดน คอนเวย์ ประธานบริหารของสมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือของอังกฤษ หุ่นยนต์ AI ยังสามารถเขียนหนังสือได้ แม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นที่สามารถเขียนวรรณกรรมที่จับใจคนอ่านได้ แต่มันสามารถเขียนหนังสือที่ไม่ต้องการคุณภาพมากนักได้ครั้งละมาก ๆ ซึ่งในแง่หนึ่ง มันสามารถช่วยกำจัดนักเขียนที่ไม่มีคุณภาพออกไปได้ 

ณ ปัจจุบัน หุ่นยนต์ยังไม่สามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างขึ้น เนื่องจากตามกฎหมายอังกฤษแล้ว ผลงานที่จะมีลิขสิทธิ์ได้ต้องมีความเป็น “ต้นฉบับ/ต้นแบบ” (Originality) ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ แต่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้

ในเวลาเดียวกันก็มีการนำผลงานที่มีลิขสิทธิ์จำนวนมากมาใช้ ‘ฝึกฝน’ ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย ตราบเท่าที่เป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การวิจัยหรือเพื่อการศึกษา ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์

คาดว่าต่อไปในอนาคตจะมีการเปิดพื้นที่ใหม่ในการสร้างสรรค์งานศิลปะโดยหุ่นยนต์ AI แต่ขณะเดียวก็ต้องคำนึงถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งก็คือการปกป้องอาชีพการงานของมนุษย์ในแวดวงเดียวกันให้ได้ด้วย

แหล่งข้อมูล : canadatoday.news

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES