“อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีนักธุรกิจผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทสลา สเปซเอ็กซ์ และอีกหลายบริษัท ขณะเดียวกัน เป็นที่ทราบกันดีว่า หลายครั้งหลายคราที่มัสก์แสดงความเห็น “แหวกแนว” ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับ การเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม แล้วการให้ความเห็นหรือข้อเสนอของมัสก์ เรียกเสียงฮือฮา และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งบวกและลบทุกครั้งไป

Reuters

กรณีล่าสุด คือการที่มัสก์ให้สัมภาษณ์พิเศษ กับหนังสือพิมพ์เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส ในเดือนนี้ โดยมัสก์กล่าวในตอนหนึ่ง เสนอแนวคิดของตัวเองเพื่อคลี่คลายวิกฤติการณ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน ด้วยการจัดตั้ง “เขตบริหารพิเศษในระดับที่รัฐบาลไทเปยอมรับได้” ซึ่งต้องเป็นไปได้ว่า ให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าฮ่องกง

ขณะเดียวกัน มัสก์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลปักกิ่ง “ไม่เห็นด้วย” กับการที่บริษัทสเปซเอ็กซ์ของเขา ส่งดาวเทียมสตาร์ลิงก์ปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้แก่ยูเครนเป็นกรณีพิเศษ และมัสก์ให้ความเห็นอีกว่า บรรยากาศตึงเครียดข้ามช่องแคบระหว่างจีนกับไต้หวันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก “เป็นวงกว้าง”

ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ผู้นำไต้หวัน และนายไล่ ชิง-เต๋อ รองประธานาธิบดี ร่วมพิธีฉลองวันชาติไต้หวัน ที่กรุงไทเป 10 ต.ค. 2565

แน่นอนว่า เนื้อหาตอนดังกล่าวจากบทสัมภาษณ์ของมัสก์ เป็นที่ชอบอกชอบใจอย่างมากสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง นายฉิน กัง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐ ออกมากล่าวขอบคุณมัสก์ ต่อการร่วมเรียกร้องสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน และแนวคิดการจัดตั้งเขตบริหารพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับแกนกลางนโยบายของรัฐบาลปักกิ่งในเรื่องนี้ นั่นคือ การรวมชาติอย่างสันติ และหลักการบริหารแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนแสดงความพอใจว่า “มีคนเข้าใจหลักการนี้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น”

ฉันใดฉันนั้น รัฐบาลไทเปย่อมต้องแสดงความไม่พอใจ นางเซียว เหม่ย-ฉิน ผู้แทนสาธารณรัฐจีนประจำกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ไต้หวันผลิตและส่งออกสินค้าหลายอย่าง แต่เสรีภาพและประชาธิปไตย “เป็นเรื่องที่ซื้อขายไม่ได้” ดังนั้น “ข้อเสนอในรูปแบบใดก็ตาม” แม้มีเป้าหมายเพื่อการสร้างสันติภาพ แต่ต้องปราศจากการบีบบังคับ และต้องเคารพความต้องการของชาวไต้หวัน ตามแนวทางประชาธิปไตย

ทางเข้าโรงงานของเทสลา ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการเปิดเผยจากนางรูลา คาลาฟ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของเดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส ซึ่งเป็นผู้สัมภาษณ์พิเศษมัสก์ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ว่ามัสก์ “ใช้เวลานานมาก” ในการคิดคำตอบของคำถามเกี่ยวกับธุรกิจของเทสลาในจีน ซึ่งเป็นตลาดต่างประเทศใหญ่ที่สุดของเทสลา และมีโรงงานตั้งอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ด้วย เป็นสัญญาณว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับมัสก์ “ละเอียดอ่อนและซับซ้อน” เกินกว่าที่บุคคลภายนอกจะคาดเดา

ทั้งนี้ มุมมองของมัสก์ที่มีต่อไต้หวันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความวิตกกังวลว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความขัดแย้งยืดเยื้อระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลไทเป จะลุกลามขยายวงเป็น “สงครามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” แม้มัสก์ยืนกรานว่า ธุรกิจของเทสลาในจีนจะยังคงดำเนินต่อไป “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม” แต่คาดการณ์ว่า แอปเปิ้ล “จะประสบกับปัญหาหนัก” และ “30% ของเศรษฐกิจโลก” จะได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างจีนกับไต้หวัน สะท้อนว่า “ความกังวลแท้จริง” ของมัสก์ คือเรื่องเศรษฐกิจเหนือสิ่งอื่นใด แม้จะเสนอแนวทางแก้ไขในรูปแบบการเมืองก็ตาม

เกี่ยวกับการที่มัสก์กล่าวถึง “ความวิตกกังวล” ของรัฐบาลปักกิ่ง เกี่ยวกับโครงการดาวเทียมอินเตอร์เน็ทสตาร์ลิงก์ อาจเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับ “ความมั่นคง” แน่นอนว่าจีนมีอำนาจแบนโครงการดังกล่าวในประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นจากมัสก์ แต่ “ความหมายระหว่างบรรทัด” จากคำตอบของมัสก์เกี่ยวกับเรื่องนี้ น่าจะเป็นไปได้ว่า สตาร์ลิงก์ต้องไม่ให้บริการในไต้หวันอย่างเด็ดขาด

ขณะเดียวกัน มีการวิเคราะห์เช่นกันว่า จีนอาจ “ระแคะระคาย” หรือแสดงท่าทีบางอย่างให้มัสก์ “ทราบล่วงหน้า” ว่าการให้สัมภาษณ์พิเศษของมัสก์ต่อเดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส “เป็นที่รับทราบ” ของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งมีอิทธิที่จะสามารถกำหนดทิศทางให้มัสก์สามารถกล่าว หรือไม่ต้องกล่าว หรือกล่าวเพียงน้อยนิดได้ในประเด็นใดก็ได้ ตามที่จีนต้องการ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า หากไม่ให้ความร่วมมือ ธุรกิจของมัสก์ในจีน “จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES