ด้วยเข้าใจว่าหากเป็นคนภายนอกก็คงไม่มีใครอยากไปยุ่งเกี่ยว พัวพันกับสิ่งผิดกฎหมายแม้จะเป็นการแจ้งเพื่อสกัดปัญหา หรือกระทั่งคนในครอบครัวเอง การเลือกทางออกโดยแจ้งเบาะแสพฤติกรรมของคนใกล้ชิดก็ตัดสินใจไม่ได้ง่าย ๆ

แต่เพราะวิกฤติอาชญากรรมเลวร้ายเกินกว่าคาดคิดได้เกิดขึ้นแล้ว ทุกวิถีทางที่ทำได้จึงต้องช่วยกัน!!!

การ “แจ้งเบาะแส” คือหนึ่งวิธีที่ถูกคาดหวังการ “ชี้เป้า” ที่มากขึ้น อย่างน้อยก็ป้องกันไม่ให้ ผู้ใช้กลายเป็นผู้เสพ ผู้เสพกลายเป็นผู้ค้า หรือคนคลุ้มคลั่งได้สักคนก็ยังดี 

ปัจจุบันการแจ้งเบาะแสทำได้ง่ายกว่าอดีต เมื่อระบบพัฒนาแจ้งผ่านออนไลน์ เน้นความสะดวก รวดเร็วไม่เป็นภาระ และปลอดภัยเพราะผู้แจ้งไม่ต้องแสดงตัว ยกตัวอย่าง

1.สำนักงานจเรตำรวจ เปิดแจ้งเบาะแสยาเสพติดทุกประเภทในพื้นที่ผ่าน เว็บไซต์ http://www.jcoms.police.go.th/notice (JCoMS) โดยระบบจะรายงานผลกับผู้แจ้งด้วย

2.สายด่วน สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) 1386 

3.เว็บไซต์ ป.ป.ส. www.oncb.go.th

ในส่วนของ ป.ป.ส. มีข้อมูลร้องเรียนยาเสพติดเฉพาะผ่านสายด่วน 1386 ในห้วงเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.63-30 ก.ย.65 มีร้องเรียน 17,636 เรื่อง บุคคลเกี่ยวข้อง 15,972 คน ส่วนใหญ่ดำเนินการแล้ว 17,520 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 116 เรื่อง

เมื่อจำแนกรายช่องทางพบส่วยมากแจ้งผ่านเว็บไซต์ รองมาผ่านสายด่วน และหากคำนวนเฉพาะช่วง 7 วัน (24 ก.ย.-30 ก.ย.65) จะพบการร้องเรียนเฉลี่ยวันละ 48 เรื่อง

จากการตรวจสอบนอกจากการแจ้ง ระบบส่วนใหญ่พัฒนาให้สามารถติดตามความคืบหน้าได้ โดยผู้แจ้งเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่มีทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์

ระบบจะมีแบบฟอร์มการแจ้งข้อมูลจำเป็นให้กรอก เน้นข้อมูลกลุ่มบุคคลเป้าหมาย ข้อมูลส่วนตัวผู้แจ้ง “ไม่จำเป็น” ต้องระบุ หรือหากระบุไว้จะได้รับการรักษาเป็นความลับ ข้อมูลสำคัญในการแจ้งเบาะแส อาทิ

-ลักษณะการกระทำความผิด (ผลิต/ปลูก, ขาย/ค้า, เสพ, สถานที่มั่วสุม หรือต้องการนำตัวผู้เสพเข้าบำบัด), สถานที่กระทำผิด (สถานที่ขายหรือค้า/สถานที่มั่วสุม)

-ข้อมูลผู้กระทำความผิด หรือผู้ที่ต้องการให้นำตัวไปบำบัด เป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องให้รายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน เพื่อเจาะจงตัวบุคคลได้ถูกต้อง แม่นยำ เช่น ชื่อ-สกุล ชื่อเล่น/ฉายา เพศ ส่วนสูง สีผิว หรือตำหนิรูปพรรณสันฐาน ช่องทางโซเชียลมีเดีย ที่พักปัจจุบัน ซึ่งหากมียานพาหนะให้ระบุประเภทรถ ยี่ห้อ สี หมายเลขทะเบียนด้วย การให้เบาะแสสามารถแจ้งได้ครั้งละหลายคน

-ข้อมูลยาเสพติด เช่น ยาบ้า ไอซ์ ยาอี ยาเค หรืออื่นๆ สามารถระบุได้มากกว่า 1 ชนิด หากมีภาพถ่ายสามารถแนบประกอบด้วยได้

-สถานที่กระทำผิด (ที่ขาย/มั่วสุม) ชื่อสถานที่ จังหวัด หรือหมู่บ้าน

ที่ผ่านมาการแจ้งเบาะแสยาเสพติดซึ่งเป็นกลไกตัดวงจรอาจไม่ได้รับความใส่ใจมากเท่าที่ควรทั้งจากผู้แจ้งที่ยังไม่เห็นภาพพลังเล็กๆจากข้อมูลเหล่านี้ อีกส่วนคือความปลอดภัย ขณะที่รัฐเองยังไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้พลเมืองดีกล้าออกมาชี้เป้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดูเหมือนมีแรงกระเพื่อมเล็กๆ ที่น่าสนใจหลังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ออกมาให้ความเห็นถึงปัญหาการแจ้งเบาะแสในปัจจุบันที่ว่ากันว่า ยาเสพติดมีมากมายและมีในทุกหมู่บ้าน แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่ามีผู้ที่แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับยาเสพติดเพียงจำนวนน้อย

ประเทศไทยมีกว่า 80,000 หมู่บ้าน แต่เฉพาะแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1386 มีประมาณ 16,000 สาย ซึ่งตั้งข้อสังเกตอาจเป็นเพราะแต่ละบ้านไม่ได้รับความเดือดร้อน หรือกลัวเป็นอันตราย หรือจะไม่ได้รับความปลอดภัย จึงไม่กล้าแจ้ง

ล่าสุด จึงมีข้อเสนอถึงการใช้ “บล็อกเชน” มาสร้างระบบปกปิดข้อมูลผู้แจ้งเบาะแส เพื่อเพิ่มความมั่นใจการให้ข้อมูลของประชาชนที่มากขึ้น

เป็นมิติความตื่นตัวที่ต้องไม่ทำอย่างฉาบฉวย เพราะการเพิกเฉยของทั้งรัฐ และคนในสังคม อาจมีราคาต้องจ่ายที่ไม่สิ้นสุด การสร้างความมั่นใจให้พลังเล็กๆออกมามากขึ้น หากรัฐ “นำ” ได้แข็งแรง เบาะแสถูกใช้ปราบปรามจริงจัง ข้อมูลจากประชาชนจะร่วมมือหลั่งไหลตามมาแน่นอน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]