“จุดเด่น” คือ… รสชาติหวาน หอม อร่อยกว่ากล้วยหอมทองของคู่แข่งขันในตลาด ส่งผลให้ทางญี่ปุ่นต้องการนำเข้ามาก ซึ่งเป็น “โอกาสดีของเกษตรกรไทย” ผู้ปลูกกล้วยหอมทอง ที่จะ “สร้างมูลค่า” จากตลาดนี้ อย่างไรก็ตาม แต่การ “ส่งออกไปญี่ปุ่น” ก็มี “โจทย์” ที่เกษตรกรไทย ผู้ส่งออกไทย “จะต้องทำให้ได้”…

จะ “ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูง”…

ก็ “ต้องยกระดับการผลิตให้ตอบโจทย์”

จะต้อง “ลดการใช้สารเคมีให้มากที่สุด”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มี “กรณีศึกษา” โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ร่วมคณะผู้บริหาร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ที่นำโดย ศรัทธา อินทรพรหม และ สุภาษิต ศุภวุฒิ  ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมโครงการ การบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” ซึ่งได้มีการนำ โมเดล D & MBA : Design & Manage by Area ไปปรับใช้ โดยเน้นการเชื่อมโยงเกษตรกรหัวขบวนในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้เกิดการ จ้างงาน-สร้างอาชีพ-สร้างรายได้…

นำสู่การจัดการ-แก้ปัญหาหนี้ในชุมชน

หนึ่งในวิสาหกิจชุมชนตัวอย่างที่ทางคณะได้เยี่ยมชมคือ “วิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ฟาร์ม” ซึ่งปลูก “กล้วยหอมทอง” ส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะ “ญี่ปุ่น” ซึ่งทาง ณรงค์ศักดิ์ สนัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ฟาร์ม เล่าว่า… กลุ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2562 มีสมาชิกเริ่มแรก 50 ราย จนปัจจุบันมีสมาชิกกระจายอยู่ 5 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, มุกดาหาร, ยโสธร มีพื้นที่ปลูกกล้วย 700 ไร่ ที่เป็นพื้นที่เพื่อส่งจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น และมีพื้นที่ปลูกกล้วย 600 ไร่ ใน จ.อุบลราชธานี และ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนี้ยังเล่าอีกว่า… ทางกลุ่มมี “กฎเหล็ก” สำหรับสมาชิก นั่นคือ… “ต้องไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก” โดยได้รณรงค์เรื่องนี้มาแต่ต้น และสำหรับสายพันธุ์กล้วยหอมทองนั้นทางกลุ่มจะปลูก “พันธุ์แขนทอง” ซึ่งจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเอง โดยกล้วยพันธุ์นี้มีรสชาติดี และเก็บได้นาน จึงเหมาะแก่การขนส่งระยะทางไกล

สำหรับ “ตลาดส่งออกไปญี่ปุ่น” นั้น ณรงค์ศักดิ์ เล่าว่า… เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2563 หลังมีคู่ค้าจากประเทศญี่ปุ่นติดต่อเข้ามาที่กลุ่ม ซึ่งกล้วยหอมทองของกลุ่มเป็น กล้วยที่ปลูกโดยปลอดสารเคมี 100% ทำให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพการปลูกและผลผลิต จนได้รับความไว้วางใจให้ทำสัญญาซื้อขายระหว่างกัน เพื่อส่งออกกล้วยหอมไปวางจำหน่ายที่ญี่ปุ่น

“พวกยาฆ่าเชื้อรา ฆ่าหนอน ฆ่าแมลง ต้องไม่มีเด็ดขาด สำหรับปุ๋ยที่เป็นธาตุอาหารพืชใช้ได้ แต่ต้องใช้ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งก่อนจะตกลงกัน ญี่ปุ่นจะส่งตัวแทนเข้ามาตรวจสอบก่อน”…ณรงค์ศักดิ์ ระบุถึง “กฎเหล็กที่เข้มงวด”

พร้อมกับเล่าเพิ่มเติมว่า… ก่อนจะได้เซ็นสัญญากัน ทางญี่ปุ่นจะตรวจสอบแบบจริงจัง เพื่อดูว่ากล้วยที่ปลูกปลอดสารจริงไหม? จากนั้นจะดูสภาพแวดล้อมของสวนว่าห่างจากแปลงเสี่ยงตามมาตรฐานหรือไม่? โดยต้องห่างจากแปลงที่มีความเสี่ยงไม่ต่ำกว่า 10 เมตร เมื่อตรวจสอบผ่านก็จะได้ “โควตาส่งกล้วยเข้าไปขายที่ญี่ปุ่น” จากทางคู่ค้า ซึ่งไม่ใช่ตรวจครั้งแรกครั้งเดียวแล้วจบ แต่ทางกลุ่มจะลงตรวจแปลงปลูกกล้วยที่ส่งออก 4-5 ครั้งต่อเดือน และมีการตรวจสอบสารเคมีในผลผลิตทุก ๆ 3 เดือน…เหล่านี้เป็นขั้นตอนที่เข้มงวดจากทางญี่ปุ่น ที่เกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยนั้น “จำเป็นต้องรู้ข้อมูล”

ทั้งนี้ แม้ทางกลุ่มจะเป็นเหมือนน้องใหม่ในการส่งออกกล้วยไปญี่ปุ่น แต่ได้รับโควตาส่งออกกว่า 50 ตันจากทางญี่ปุ่น โดยราคาส่งออกอยู่ที่กิโลกรัมละ 22 บาท และด้วยความที่ตลาดคนญี่ปุ่นต้องการบริโภคกล้วยหอมทองจากไทยสูงมาก ทำให้ทางญี่ปุ่นได้แนะนำให้ขยายพื้นที่ปลูกให้ทันความต้องการ แต่เรื่องนี้ ณรงค์ศักดิ์ บอกว่า… แม้ต้องการเพิ่มพื้นที่ผลิตให้เพิ่มขึ้นทันกับความต้องการ แต่ก็ ต้องไม่ลืมเช็ก “คุณสมบัติสมาชิก” ที่จะเข้ามาใหม่ ด้วย… ซึ่ง… “รายได้ขั้นต่ำจะอยู่ที่ไร่ละ 70,000-80,000 บาทต่อรอบเพาะปลูก (8 เดือน)” …นี่เป็นรายได้ต่อไร่-รายได้จากการปลูกกล้วยหอมทองส่งออกไปญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้งาม แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วย โดยเฉพาะกับตลาดญี่ปุ่น ที่ “ต้องปฏิบัติตามกฎเหล็ก” ที่ญี่ปุ่นวางไว้ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาไม่ใช่เรื่องตลาด แต่อยู่ที่จะทำกล้วยให้มีคุณภาพได้แค่ไหนมากกว่า ซึ่ง… “คนญี่ปุ่นบริโภคกล้วยหอม 1 ล้านตันต่อปี ถ้าเกษตรกรไทยทำได้ โอกาสครองตลาดนี้ก็มีสูง” …ประธานกลุ่มฯ ฟรุทส์ฟาร์ม ระบุ

ขณะที่ สุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วย ผจก.ธ.ก.ส. ระบุว่า… จากการเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของฟรุทส์ฟาร์มไปสู่การเชื่อมโยงทางธุรกิจอย่างครบวงจร ธ.ก.ส.จึงได้สนับสนุนเงินทุนให้กับวิสาหกิจชุมชนนี้ ผ่าน “สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย” ไปแล้วกว่า 3,000,000 บาท เพื่อให้ ฟรุทส์ฟาร์มสามารถต่อยอดและยกระดับสู่การส่งออกผลิตผลสู่สากล ซึ่งภายใต้โครงการฯ การออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ ของ ธ.ก.ส. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มนี้ก็เป็นอีก “ตัวอย่างความสำเร็จ”…

“ยกระดับอาชีพเกษตร” แบบตอบโจทย์

“ตอบโจทย์” ทั้ง “ตลาด-แก้หนี้แก้จน”…

ตัวอย่างดังกล่าวนี้ก็ “น่าสนใจมาก!!”.