…เป็น “ภาพรวมก่อนและหลังมีสถานการณ์โควิด-19” ที่ทาง เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ระบุไว้หลังพิธีต้อนรับคณะจากประเทศไทยโดยองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดคยองกี (GTO) ที่ก็ถือเป็น “นิมิตหมายอันดี” ในการฟื้นสัมพันธ์ภาคการท่องเที่ยวระหว่าง ไทยเกาหลีใต้” หลังโควิด-19 ซาลง…

ผ่านกิจกรรม “FAM Tour” พื้นที่คยองกี

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ทาง สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และผู้ประกอบการนำเที่ยวจากประเทศไทย ได้รับเชิญจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดคยองกี หรือ GTO (Gyeonggi Tourism Organization) และ สายการบิน Korean Air ไปเข้าร่วมกิจกรรม FAM Tour (Familiarization Tour) ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้รับเชิญและร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย โดยทางเกาหลีใต้ได้มีการชูแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดคยองกีเป็นหนึ่งในพื้นที่แสดงความพร้อมในการเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว หลังการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและเกาหลีใต้ต้องหยุดชะงักไปมากจากสถานการณ์โควิด-19

ท่ามกลาง สมรภูมิตลาดท่องเที่ยว”

ที่เปลี่ยนไป-มีแวว แข่งขันดุเดือดขึ้น”

ทางนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยวได้สะท้อนข้อมูลแง่มุมกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… ตลาดท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่ยังมีแนวโน้มที่ดี หากมีการวางแผนและทำการตลาดร่วมกันกับไทย ก็จะเป็นเรื่องดีกับตลาดท่องเที่ยวไทยได้ด้วย ซึ่งพื้นที่ท่องเที่ยวของเกาหลีใต้อย่างจังหวัดคยองกีนั้นก็โดดเด่นน่าสนใจ โดยทางองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของคยองกีเองนั้นก็พยายามที่จะสร้างการรับรู้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยมาอย่างต่อเนื่อง และก็เชื่อว่า…เมื่อตลาดท่องเที่ยวเดินเครื่องเต็มที่แล้ว คยองกีนี่ก็น่าจะได้รับความสนใจจากคนไทยไม่น้อย โดยเฉพาะใน “ยุค Post Covid-19” ที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนไปจากเดิมซึ่งการ “หันมาเน้นท่องเที่ยวเมืองรองเพื่อเลี่ยงความแออัด” คือพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคนี้

สำหรับข้อมูลโดยสังเขปของ “คยองกี” นั้น…เป็นจังหวัดหนึ่งของเกาหลีใต้ที่เมื่อดูจากแผนที่จะเห็นว่ามีพื้นที่ล้อมรอบเมืองหลวงคือกรุงโซลไว้ โดยมีเขตการปกครองถึง 31 เมือง และด้วยความที่มีพื้นที่กว้างจึงมี “ทรัพยากรการท่องเที่ยว” ที่หลากหลาย มีทั้ง โซนเมือง-โซนธรรมชาติ-โซนวัฒนธรรม จึงถือเป็นอีกพื้นที่ “ไมซ์ (MICE)” ที่สำคัญของเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทรัพยากรด้านท่องเที่ยวที่สามารถนำมาใช้เป็น “วัตถุดิบชั้นเลิศ” แต่การจะเดินทางท่องเที่ยวเกาหลีใต้ของคนไทยภายใต้ยุค Post Covid-19 นั้น กรณีนี้ยังมี “การบ้าน” ที่ผู้ประกอบการไทยและเกาหลีใต้ต้องช่วยกัน “ลดอุปสรรค” โดยหนึ่งในนั้นหนีไม่พ้นเรื่อง “กระบวนการเข้าเมือง” หลังจากก่อนหน้านี้มีกระแสครึกโครมเรื่องนี้ และก็เป็นปัจจัยทำให้คนไทยหลายคนยัง “ลังเล-กล้า ๆ กลัว ๆ” แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมาทางประเทศเกาหลีใต้จะมีการ “ยกเลิกมาตรการคัดกรองโควิด-19” โดยผู้ที่เดินทางเข้าเมือง “ไม่ต้องตรวจ RT-PCR” เมื่อเดินทางถึงแล้วก็ตาม…

เกี่ยวกับเรื่องนี้…ก็มีแง่มุมน่าสนใจจาก คัง ดงฮัน (Kang Dong-Han) หัวหน้าฝ่ายธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศ และไมซ์ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดคยองกี ที่ได้สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… เมื่อปี 2562 มีคนไทยที่ถูกเกาหลีใต้ส่งกลับสูงเป็นอันดับ 1 จนเป็นปัญหาที่กระทบกับการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลีใต้อย่างมาก ซึ่งจังหวัดคยองกีก็พยายามจะผลักดันแนวทางเพื่อแก้ปัญหานี้ เพื่อให้บรรยากาศท่องเที่ยวกลับมาคึกคักดังเดิมเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยล่าสุดที่เกาหลีใต้ได้ยกเลิกการตรวจโควิด-19 เมื่อมาถึง…นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายาม “ลดอุปสรรค” ลดข้อจำกัด…

เมื่อ พื้นที่ท่องเที่ยวมุ่งหวังจะฟื้นตัว”

“ลดอุปสรรค” ย่อม เป็นกลไกสำคัญ!!”

ทั้งนี้ สลับกลับมาฟังแง่มุมจากนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว ที่ได้ระบุไว้ด้วยว่า… ปีหน้า ปี 2566 ยิ่งต้องจับตา “สงครามการท่องเที่ยว (Tourism Warfare)” ที่แต่ละประเทศต่างพยายาม แย่งชิงเม็ดเงิน!! ซึ่งก็อยู่ที่ว่าใครจะมีฝีมือดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดี โดย ปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จนั้นขึ้นกับวิสัยทัศน์ การวางแผน การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ที่ต้องมีมุมมองที่ส่งเสริมกันและกัน ซึ่งกับ “คยองกี” ก็ถือเป็น “กรณีศึกษาที่น่าสนใจ” เพราะทั้งพยายามรักษาสัมพันธ์กับผู้ประกอบการไทยมาตลอด และยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะปรับตัวให้ทันสถานการณ์ด้วย

“บางคนบอกเที่ยวต่างประเทศทำให้คนไทยเอาเงินออกไป ซึ่งก็ถูก แต่อย่าลืม ถ้า Take อย่างเดียว ไม่มี Give แล้วใครจะทำงานกับเรา ท่ามกลางตลาดแข่งขันเช่นนี้ไทยต้องวางบาลานซ์ให้ดี ซึ่งตลอด 10 ปีที่ทำงานเชิงนโยบายมาทำให้รู้ว่าถ้าไทยบาลานซ์ได้ดีก็จะช่วยให้การท่องเที่ยวเราดีขึ้นได้เป็นลำดับ” …เป็นแง่มุม “น่าคิด” ที่นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยวสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ ที่ชี้ว่า “มูฟเมนต์ท่องเที่ยวคยองกี” นี่ “ก็น่าถอดรหัส”

ยุคที่…ศึกตลาดท่องเที่ยวโลกดุเดือด!!”

เช่นนี้…ไทยก็ยิ่งต้องจัดสมดุลให้ดี ๆ”

ประโยชน์ร่วม วินวิน”…ก็ สำคัญ”.