พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. เปิดการเสวนานโยบาย ปักหมุด Palliative Care ใน กทม. เพื่อเข้าใจการดูแลแบบประคับประคองอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ทั้งนี้ ปัจจุบันการดูแลแบบประคับประคองเริ่มมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้นในสังคมโลก ด้วยเป้าหมายหลักของการดูแลเพื่อลดความทรมานของผู้ป่วย และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ได้แก่ การดูแลด้านกาย ใจ ปัญญา และสังคมของผู้ป่วย จนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบ

อย่างไรก็ตาม แต่ละปีพบทั่วโลกมีผู้ป่วยต้องการการดูแลแบบประคับประคองมากถึง 40 ล้านคน แต่มีเพียง 20 ประเทศทั่วโลก มีการดูแลแบบประคับประคองในระดับดีเยี่ยม ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนประเทศกำลังพัฒนามีผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองร้อยละ 14 เท่านั้น อุปสรรคที่ทำให้ไม่ครอบคลุมคือ การขาดความตระหนักเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองในเชิงนโยบาย ผู้ประกอบวิชาชีพและประชาชนขาดการวิเคราะห์ผลประโยชน์และผลเสียที่ผู้ป่วย ตลอดจนวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับความตาย

ปีนี้ The Worldwide Hospice Palliative Care Alliance ได้ประกาศ The World Hospice and Palliative Care Day Theme “Healing Hearts and Communities” เพราะหลายครอบครัวต้องเผชิญการสุญเสียจากโควิด-19 จึงจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจ การเตรียมวางแผนชีวิตจนถึงวาระสุดท้าย เปรียบเสมือนการได้รับวัคซีนตั้งรับสถานการณ์สูญเสียที่อาจเข้ามาทุกช่วงชีวิต

รองปลัด กทม. ระบุ ให้ความสำคัญกับการจัดระบบบริการดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยทุกกลุ่ม โดยเน้นให้ทุกโรงพยาบาลมีบริการการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแบบผู้ป่วยนอก โดยบูรณาการร่วมกับคลินิกผู้สูงอายุคลินิกอายุรกรรม และบริการการดูแลแบบประคับประคองแบบผู้ป่วยใน จัดให้มี Palliative Bed หรือ Palliative Ward ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากสหสาขาวิชาชีพเพื่อวางแผนร่วมกัน กรณีผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองต้องได้รับการดูแลแบบต่อเนื่องที่บ้าน

นอกจากนี้ ตั้งเป้าผลักดันให้การดูแลแบบประคับประคองเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยใช้คณะทำงานขับเคลื่อนระบบดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะฟื้นฟู ผู้ป่วยแบบประคับประคอง และคณะทำงานขับเคลื่อน sand box ราชพิพัฒน์ model โดยปี 65 กทม.เปิดศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองราชพิพัฒน์ เพื่อการฟื้นฟูและการดูแลเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดยการติดตามผ่านกล้อง มีระบบบริการโทรฯ ปรึกษาได้ 24 ชม. และจัดระบบขนส่งสาธารณสุข เช่น รถฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการในโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุขรวดเร็วและทั่วถึง พร้อมมีแผนขยายผลทั่ว กทม. โดยจะผลักดันในคณะกรรมการ Service Plan สาขาการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆ ร่วมด้วย.