แม้ฤดูหนาวจะใกล้เข้ามาตามการคาดหมายลักษณะอากาศ แต่ช่วงปลายฤดูเวลานี้ยังคงชุ่มฉ่ำ ในบางวันมีเมฆฝนพร้อมจะตกโปรยปรายลงมา การติดตามข่าวสาร ตรวจสอบสภาพอากาศเพื่อเตรียมตัวก่อนออกจากบ้านเป็นสิ่งสำคัญ…

ในความชุ่มฉ่ำ อากาศชื้น ๆ นอกจากสุขภาพสุขอนามัยที่ต้องดูแล การใช้ไฟใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะ พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น อีกทั้งถึง ช่วงน้ำลด หลังน้ำท่วม การฟื้นฟูระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนการใช้งาน ฯลฯ เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟดูด ไฟฟ้าลัดวงจร เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อม โดยมีหลากเรื่องน่ารู้และข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย

ดร.พสิษฐ์ สุวรรณภิงคาร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร ให้ความรู้ ให้คำแนะนำการใช้ไฟฟ้าในประเด็นนี้ว่า ช่วงเวลานี้ที่ยังคงมีฝนตก มีน้ำท่วมขัง จากที่เคยกล่าวถึงการเตรียมพร้อมป้องกันอันตรายอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากกระแสไฟฟ้าจากพายุฝนฟ้าคะนอง นับแต่ช่วงที่ฝนตกฟ้าคะนองซึ่งอาจเกิด ฟ้าผ่า ขึ้นได้ ซึ่งไม่ควรประมาท และไม่ควรออกไปในที่โล่งหรือกลางแจ้ง

อีกทั้งไม่ควรหลบพายุฝนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงฟ้าผ่า โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ สูงโดดเด่น หรือเสาไฟฟ้าแรงสูง หรือบริเวณสิ่งปลูกสร้างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ แหล่งน้ำ โดยโลหะและน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้าซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้ ควรเข้าไปในอาคาร ไม่ควรอยู่ในที่โล่งแจ้ง หรือแม้แต่การประกอบกิจกรรมกลางแจ้งใด ๆ ในช่วงฝนตกฟ้าคะนองควรหลีกเลี่ยง ฯลฯ

การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ใช้คอมพิวเตอร์หรือการเปิดโทรทัศน์ช่วงที่มีฝนตกหนัก หากมีอุปกรณ์ป้องกัน หรือต่อสายดินจะไม่ค่อยเกิดปัญหา แต่อย่างไรแล้วเพื่อเป็นการป้องกันให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ควรถอดปลั๊ก และรอในช่วงที่ฟ้าคะนองผ่านไปก่อนจึงค่อยกลับมาใช้งานต่อ    

“ช่วงเวลานี้ดังที่ทราบยังคงมีฝนฟ้าคะนองและหลายพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ในสิ่งที่ต้องพึงระวัง เมื่อน้ำท่วม หรือกรณีที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นกับบ้านของเรา สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือเรื่องไฟฟ้า โดยน้ำที่ไหลเข้าบ้านแม้จะอยู่ในระดับพื้น เพียงตาตุ่ม สิ่งแรกที่ต้องทำคือการปลดเบรกเกอร์ไฟชั้นล่างของบ้านออกจากระบบก่อน

การที่ต้องยกเบรกเกอร์ตัดวงจรไฟฟ้าลงทั้งนี้เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่า น้ำหรือความชื้นจะเข้าไปในปลั๊กหรือไม่ หากลืมจุดนี้ กังวลอยู่กับการขนสิ่งของหนีน้ำ หากเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วบริเวณสายไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่กำลังขนย้ายหรือเสียบปลั๊กอยู่ อาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ไฟดูดถึงแก่ชีวิต”

อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ดร.พสิษฐ์ ขยายความเพิ่มอีกว่า หลังจากตัดไฟในบ้าน จากนั้นควรตรวจดูอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ถอดปลั๊ก ออกจากเต้ารับเต้าเสียบทั้งหมด และช่วงที่ต้องขนย้ายสิ่งของ เดินลุยน้ำ หากสวมใส่รองเท้าบู๊ตได้ควรสวมใส่ อย่าคิดว่ามีความลำบาก การสวมใส่รองเท้าบู๊ตจะช่วยป้องกันอันตราย

ส่วนถ้ามีน้ำท่วมสูงมาก ๆ หน่วยงานการไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่จะเข้ามาช่วยเหลือดูแลความปลอดภัย ทั้งนี้ในช่วงที่ตัดไฟเพื่อให้มีความมั่นใจสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้โดยใช้ไขควงเช็กแลมป์นำไปแตะที่สายไฟ หรือตู้ไฟเพื่อตรวจสอบให้มีความมั่นใจ เพื่อความปลอดภัย เป็นต้น

ช่วงที่น้ำลดลง เมื่อกลับเข้าบ้าน หลายคนอยากใช้ไฟในทันที ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น มีความอันตราย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ดร.พสิษฐ์ ให้ความรู้โดยอธิบายเพิ่มอีกว่า ช่วงน้ำท่วมขัง น้ำจะเข้าไปในปลั๊ก ก่อนการใช้งานจึงควรตรวจความพร้อมก่อนในเบื้องต้น และนอกจากปลั๊กยังมีส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ สวิตช์ไฟ ฯลฯทั้งนี้อาจให้ช่างไฟฟ้าช่วยตรวจเช็กตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ ไม่ควรใช้ไฟในทันที

ดร.พสิษฐ์ สุวรรณภิงคา

“หากมีความจำเป็นที่ต้องสัมผัสอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ควรสวมใส่ถุงมือยาง และรองเท้ายางหุ้มส้น หรือใช้โต๊ะ เก้าอี้ กล่องที่เป็นไม้รองบนพื้น เพื่อเป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้าไม่ให้ไหลผ่านครบวงจร อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะที่มือหรือร่างกายเปียก หรือกําลังยืนอยู่บนพื้นเปียก เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด”

จากที่กล่าว การใช้ไฟฟ้าหลังน้ำท่วม เบื้องต้นควรตรวจสอบความพร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ก่อนน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็น ปั๊มน้ำ ตู้เย็น เต้ารับ สวิตช์ไฟ ฯลฯ ควรนํามาตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์โดยช่างไฟฟ้าที่ชํานาญก่อนนำกลับไปใช้งานใหม่

แผงเมนสวิตช์ ควรมีการตรวจสอบเช่นกัน โดยการดับไฟฟ้าด้วยการปลดคัตเอาต์และถอดฟิวส์ หรือการปลดเซอร์กิตเบรกเกอร์ ซึ่งเซอร์กิตเบรกเกอร์ควรมีสภาพสมบูรณ์ ไม่มีความชื้น ขณะที่สายต่อลงดินนั้น ไม่ควรชํารุด หรือขั้วหลุดออกจากหลักดิน สายไฟฟ้า
ควรมีสภาพสมบูรณ์ ฉนวนหุ้มสายไม่แตกร้าว ไม่บวม หลุดหรือกรอบ แตกร่อน เสื่อมสภาพ หรือมีรอยไหม้ และไม่เปียกชื้น ไม่ถูกรัดหรือบาดกับโลหะ เป็นต้น 

นอกจากนี้ในส่วนของ ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน ที่ประสบภัยน้ำท่วม ควรตรวจสภาพสายไฟฟ้า ระบบแสงสว่าง ระบบเต้ารับ เต้าเสียบ สายพ่วงไฟฟ้า ฯลฯ มีสภาพสมบูรณ์ ไม่เปียกชื้น ไม่มีน้ำขัง อยู่ในสภาพแห้งพร้อมใช้ ฯลฯ กรณีที่พบว่ามี ไฟฟ้ารั่ว สิ่งแรกที่ควรต้องทำคือการตัดไฟในที่เกิดเหตุทันที

ส่วนถ้าพบคนถูก ไฟดูด การเข้าไปให้การช่วยเหลือจะต้องใช้ความระมัดระวัง และต้องทำด้วยความปลอดภัย ไม่สัมผัสจับต้องบุคคลนั้นด้วยมือเปล่าในทันที  ให้ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า อย่างเช่น ใช้ไม้แห้ง ผ้าแห้งพันมือ เสื้อผ้าแห้งที่ไม่มีความชื้นห่อตัวเขา หรือคล้องดึงตัวออกมาจากบริเวณที่มีไฟรั่ว จากนั้นปฐมพยาบาลตามอาการที่เกิดขึ้น  

นอกจากน้ำท่วมขัง ในช่วงเวลานี้ที่ยังคงมีฝนตกอากาศชื้น หรือแม้จะเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งอากาศมีความแห้ง ในเรื่องของไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้า ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องต้องตรวจสอบความพร้อม ดูแลให้มีความสมบูรณ์เสมอทุกฤดูกาล โดยไม่ควรประมาท

“อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ใช้มาเป็นเวลานานย่อมมีความเสื่อมสภาพเกิดขึ้น ยิ่งบริเวณใดที่มีความชื้น บริเวณนั้นย่อมมีโอกาสเกิดไฟช็อตขึ้นได้ สำหรับบ้านที่มีอายุมากและบริเวณนั้นมีน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง แนะนำควรต้องได้รับการตรวจเช็กระบบไฟฟ้าในบ้านโดยให้ช่างไฟฟ้าตรวจสอบระบบสายไฟฟ้าว่ามีการชำรุดหรือไม่ ตรวจแนวสายไฟที่สังเกตเห็นได้และตรวจสายไฟที่ฝังอยู่ในกำแพง ในท่อซึ่งมีอุปกรณ์ตรวจวัด โดยหากมีการรั่วของไฟฟ้าจะมีการแจ้งเตือน ฯลฯ”

หลังน้ำลด นอกจากการตรวจ ปลั๊กไฟ สายไฟ สวิตช์ไฟ เป็นอีกสิ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไป ทั้งนี้ทุกครั้งที่เปิดไฟต้องเปิดสวิตช์ไฟ  ขณะที่น้ำท่วมปลั๊กก็ต้องดูสวิตช์ไฟร่วมด้วย โดยมักจะมีความชื้นถึงกัน ก่อนการใช้งานเบื้องต้นจึงต้องไล่ความชื้น เมื่อไล่ความชื้นแล้วสำรวจดูการชำรุดในส่วนต่าง ๆ ตามที่กล่าวมา 

อีกทั้งช่วงที่น้ำลดลงอาจประสานติดต่อกับหน่วยงานไฟฟ้า มหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยในสังกัดอาชีวศึกษา ซึ่งหลายสถานที่มีโครงการช่วยเหลือหลังน้ำท่วม ช่วยซ่อมบำรุงเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ประกอบอาชีพ และอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายจาก
อุทกภัย  ฯลฯ

ดร.พสิษฐ์ ให้มุมมองทิ้งท้ายถึงความปลอดภัยจากไฟดูดไฟรั่วเพิ่มเติมจากที่ให้ข้อมูลอีกว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากไฟรั่ว ไฟรั่วมีสาเหตุเกิดได้ทั้งจากอุปกรณ์เสื่อมสภาพ ชำรุด หรือการติดตั้งไม่ถูกตามมาตรฐาน ขาดสายดิน และขาดอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วและไฟดูด ฯลฯ ไฟจึงรั่วมาอยู่ที่อุปกรณ์ เมื่อสัมผัสจับในทันทีไฟที่รั่วอยู่แล้วจะวิ่งเข้ามา สถานะตอนนั้นคือไฟดูด และจากที่กล่าวเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าดูด สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตัดกระแสไฟฟ้าให้เร็วที่สุด ปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บและนำส่งโรงพยาบาล ทั้งนี้ผู้ที่ช่วยเหลือ ต้องช่วยด้วยความระมัดระวังและมีสติ ได้นำกลับมาดูแลตนเอง ดูแลบ้าน

ป้องกันก่อนเกิดอันตรายและการสูญเสีย รวมถึงใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัยในช่วงเวลานี้ “ฤดูฝน” ที่ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และต่อเนื่องไปหลังพ้นน้ำท่วม.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ