แม้ประเทศอื่นในละแวกใกล้เคียงของอินเดีย เช่น เมียนมา, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, มาเลเซีย, ปากีสถาน และไทย จะมีการส่งออกปลาตะลุมพุกฮิลซา ตลอดจนความหลากหลายของปลาที่ผลิตในระดับภายในประเทศของรัฐคุชราฏและรัฐมหาราษฏระ แต่ปลาตะลุมพุกฮิลซาของบังกลาเทศยังคงเป็นที่ต้องการมากที่สุดสำหรับอินเดีย

ดังนั้น การหารือเกี่ยวกับการส่งออกปลาตะลุกพุกฮิลซาจึงเกิดขึ้นทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ผู้นำบังกลาเทศ ไปเยือนอินเดีย และการเยือนครั้งล่าสุดในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

เรือประมงออกหาปลาตะลุมพุกฮิลซา ในอ่าวเบงกอล ส่วนที่อยู่ภายในน่านน้ำอาณาเขตของบังกลาเทศ

ปลาตะลุมพุกฮิลซากลายเป็นสัญลักษณ์ของการทูต ในความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับบังกลาเทศ ซึ่งฮาสินาใช้พันธุ์ปลาตัวสีเงินเหล่านี้ในโอกาสต่าง ๆ ทั้งการส่งออก และของขวัญเพื่อพัฒนาเป้าหมายทางการทูต อีกทั้งแนวปฏิบัตินี้มีการดำเนินการตั้งแต่ที่เธอเข้ารับตำแหน่งครั้งแรกเมื่อปี 2539 โดยฮาสินาได้มอบปลาตะลุกพุกฮิลซาให้กับนายโจตี บาสุ มุขยมนตรีของรับเบงกอลตะวันตกในขณะนั้น และสิ่งนี้ยังเกิดขึ้นก่อนที่มีจะมีสนธิสัญญาแบ่งปันแม่น้ำคงคาด้วย

ตามรายงานหลายฉบับ ปลาตะลุมพุกฮิลซา 2,450 เมตริกตัน จะถูกส่งออกไปยังอินเดียภายในวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาปลาตะลุมพุกฮิลซาที่สูงขึ้นในบังกลาเทศอันเนื่องมาจากความขาดแคลนของสต๊อกปลาจากแม่น้ำปัทมา กลับทำให้ชาวเมืองต่างโกรธเคืองเกี่ยวกับการส่งออกปลาจำนวนมากเช่นนี้

อันที่จริง รัฐบาลธากาเคยออกคำสั่งห้ามการส่งออกเมื่อปี 2555 เนื่องจากการขาดแคลนการผลิตในบังกลาเทศ และการขาดความคืบหน้าในประเด็นการแแบ่งปันน้ำของแม่น้ำธีสตา เพราะความเห็นที่แตกต่างกัน ระหว่างรัฐบาลกลางอินเดียกับรัฐบาลของรัฐเบงกอลตะวันตก

“แกงเผ็ดปลาตะลุมพุกฮิลซา” ที่ร้านอาหารแห้งหนึ่ง ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย

ตามปกติ ปลาตะลุมพุกฮิลซาจะขายในอัตราราคาที่ 800-1,400 รูปีอินเดียโดยเฉลี่ย (ประมาณ 372-651 บาท) ซึ่งการส่งออกปลาตะลุมพุกฮิลซาสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ดังนั้นมันจึงเป็นเหตุผลที่ช่วงก่อนเทศกาลทุรคาบูชาจะเริ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ผู้ส่งออกชาวบังกลาเทศจำนวนมากจะขออนุญาตต่อกระทรวงพาณิชย์ของประเทศเพื่อส่งออกอาหารที่เป็นนิยมนี้ไปยังอินเดีย

ในทำนองเดียวกัน รัฐเบงกอลตะวันตกกำลังประสบกับปัญหา การจับปลาปลาตะลุมพุกฮิลซาได้น้อยลง เพราะอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคที่มากเกินไป ด้วยเหตุนี้ ผู้นำเข้าปลาในรัฐจึงมักจะร้องขอให้รัฐบาลธากายกเลิกคำสั่งห้ามการส่งออก เนื่องจากปลาตะลุมพุกฮิลซาขนาดพอเหมาะเริ่มหายากขึ้น ในตลาดรัฐเบงกอลตะวันตก

ทั้งนี้ รัฐบาลของฮาสินาต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ในขณะที่สร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายในประเทศ และการรักษาผลประโยชน์ทางการทูตกับอินเดีย ในแง่ของการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า ดังนั้นแล้ว แนวทางปฏิบัติด้านการทูตปลาตะลุมพุกฮิลซาจะกลายเป็นตัวกำหนดสำคัญ ของโชคชะตาทางการเมืองของรัฐบาล.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES