ทั้งอิตาลีและบริษัทเอนี ที่ควบคุมโดยรัฐบาล สามารถใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ด้านอุปทานที่มีอยู่กับประเทศเหล่านั้น เพื่อรับก๊าซพิเศษที่จะเป็นตัวทดแทนปริมาณก๊าซส่วนใหญ่ที่ได้รับจากผู้จัดส่งอันดับต้นอย่างรัสเซีย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงอันว่องไว ซึ่งหลายประเทศในยุโรปไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสงครามครั้งนี้ยังคงเขย่าทั้งทวีปให้เจอกับ “ความจริงอีกแบบหนึ่ง”

ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนี มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และเป็นที่รู้จักกันดีถึงการวางแผนอย่างรอบคอบ ถูกจับได้ว่า ไม่ได้เตรียมตัวไว้ทั้งหมด ทั้งการเข้าใกล้ภาวะถดถอย, อุตสาหกรรมกำลังเตรียมการปันส่วนก๊าซและพลังงาน และเพิ่งจะทำให้สาธารณูปโภคสำคัญเป็นของรัฐ

ขณะที่ อิตาลี ประเทศซึ่งคุ้นเคยกับวิกฤติเศรษฐกิจ กลับมีนโยบายยืดหยุ่นมากกว่า และมั่นใจว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปันส่วนก๊าซ ตามข้อมูลของเอนี อิตาลีบริโภคก๊าซรัสเซียราว 29,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเมื่อปีที่แล้ว หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของการนำเข้า ซึ่งรัฐบาลโรมจะค่อย ๆ แทนที่ปริมาณก๊าซราว 10,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากประเทศอื่น ตั้งแต่ฤดูหนาวปีนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีหน้า ปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่เพิ่มขึ้นจะเริ่มส่งเข้ามาจากประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อียิปต์, กาตาร์, ดีอาร์คองโก, ไนจีเรีย และแองโกลา ทำให้อิตาลีสามารถแทนที่ก๊าซรัสเซียได้อีกประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะที่เยอรมนี ซึ่งนำเข้าก๊าซรัสเซีย 58,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็น 58% ของการบริโภค ต้องเผชิญกับการส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 ที่ลดลงตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จนกระทั่งหยุดลงในเดือน ส.ค.

การไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบทดแทนระยะยาวจากประเทศอื่นได้มากพอ ร่วมกับการขาดบริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ของประเทศที่มีการผลิตในต่างประเทศ เยอรมนีจึงถูกบังคับให้ไปยังตลาดซื้อขายทันที ซึ่งจำเป็นต้องจ่ายเงินประมาณ 8 เท่า ของราคาก๊าซทดแทนเมื่อปีที่แล้ว อีกทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ยังสามารถกำหนดความมั่นคงด้านพลังงานได้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่และผู้บริหารหลายคนของเยอรมนีได้คำนวณผิดพลาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากการผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนโดยรัสเซีย ซึ่งบ่งชี้ว่า วิกฤติในปัจจุบันอาจมีทิศทางที่ต่างออกไป

แม้เยอรมนีตั้งเป้าที่จะแทนที่ก๊าซรัสเซียทั้งหมดภายในช่วงกลางปี 2567 แต่หน่วยงานสาธารณูปโภคบางแห่งคิดว่ามันอาจใช้เวลามากกว่านั้น เนื่องจากแหล่งก๊าซอื่น ๆ ขาดแคลน และมีปริมาณที่ยากต่อการจัดหาตามความต้องการ นอกจากนี้ ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องว่ามันจะเป็น “ความพยายามราคาแพง”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES