เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ล่าสุด ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี อวดโฉมให้ชมความสุกสว่าง งดงามบนท้องฟ้า ทั้งนี้ การโคจรเข้าใกล้โลกของดาวพฤหัสบดี เป็นอีกช่วงเวลาสำคัญสำหรับการศึกษา สังเกตการณ์ โดยยังคงชมปรากฏการณ์นี้ได้ในช่วงคํ่าไปถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้โลกครั้งต่อไปในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความรู้ เล่าเรื่องที่น่าติดตามของดาวพฤหัสบดี พาชมดวงจันทร์บริวาร ทั้งเล่าถึงปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่กำลังจะมาถึงว่า ปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา ถือเป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี โดยนับแต่อดีตที่ดาวพฤหัสบดีโคจรเข้าใกล้โลก ปีนี้ถือว่าใกล้ที่สุด ที่ระยะทางห่างจากโลกประมาณ 591 ล้านกิโลเมตร แต่หากเป็นช่วงที่อยู่ไกลจะมีระยะทางห่างไปประมาณเก้าร้อยกว่าล้านกิโลเมตร

นอกจากเรื่องระยะทางการโคจรใกล้โลก ช่วงเวลานี้ในคืนที่ไม่มีเมฆฝน ท้องฟ้าสดใส ถ้ามองท้องฟ้าไปทางทิศตะวันออกนับแต่ช่วงหัวคํ่าจะเห็นดวงดาวสว่าง สีเหลืองส้ม ๆ ซึ่งนั่นคือ ดาวพฤหัสบดี โดยจะมีความแตกต่างจากดาวดวงอื่น ๆ บนท้องฟ้า จะเด่นชัด สุกสว่าง จะเห็นได้ชัดถือเป็นความพิเศษของท้องฟ้าในช่วงเวลานี้

“ดาวพฤหัสบดีสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า นับแต่ช่วงหัวคํ่าทางทิศตะวันออก จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ดึกขึ้นจะเคลื่อนที่เฉียงไปทางใต้ แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงที่จะสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้จะเป็นช่วงหัวคํ่าไปเกือบถึงรุ่งเช้า และถ้ามองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์บริวารทั้ง 4 ดวงอย่างชัดเจน และจะสังเกตเห็น ดาวเสาร์ ปรากฏสว่างถัดจากดาวพฤหัสบดี ไปทางทิศตะวันตก”

การโคจรเข้ามาใกล้โลก นอกจากจะได้สังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีอย่างชัดเจนแล้ว ด้วยระยะทางที่ดาวเคราะห์โคจรเข้ามาใกล้โลก เป็นอีกช่วงเวลาสำคัญ โดยนักดาราศาสตร์ที่อยู่บนโลกจะใช้ช่วงเวลานี้สังเกตการณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์ ขยายความเพิ่มอีกว่า อย่างแรกเมื่อมีระยะที่ใกล้โลก จะเห็นขนาดปรากฏที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และด้วยที่ดาวเคราะห์อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ จะสังเกตเห็นได้นับแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไป

“นักดาราศาสตร์จะมีเวลาในการสังเกตการณ์ ศึกษาเก็บข้อมูลดาวในเวลากลางคืน ถ่ายภาพบันทึกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาวนานขึ้น จะแตกต่างจากช่วงอื่น ๆ ที่ดาวพฤหัสบดีไม่ได้อยู่ใกล้โลก หรืออยู่ในตำแหน่งที่ตรงข้ามดวงอาทิตย์

หากสังเกตในช่วงฤดูหนาว เราจะมีโอกาสสังเกตดาวเคราะห์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ได้ทางช่วงหัวคํ่าทางทิศตะวันตก เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จะตกลับขอบฟ้าไป แต่ถ้าเป็นช่วงเวลานี้จะมีโอกาสสังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืนและก็มีโอกาสเห็นได้ในมุมที่สูง อยู่กลางศีรษะในช่วงดึก โดยช่วงเวลานี้จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเมฆ

นักดาราศาสตร์สามารถเก็บข้อมูลจากโลกได้ดีขึ้น โดยตำแหน่งของวัตถุเมื่ออยู่ในมุมที่สูงจะมีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ใสเคลียร์กว่าช่วงที่อยู่ใกล้ขอบฟ้า ทำให้เก็บข้อมูลของดาวพฤหัสได้ละเอียดขึ้น คมชัดมากขึ้น

นอกจากนี้จากการศึกษาสำรวจดาวพฤหัสบดียังมีข้อมูลอัพเดท โดยพบว่า จากเดิมตามที่ทราบกันว่า ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวาร 67 ดวง โดยมีดวงจันทร์บริวารมากกว่าดาวเสาร์ เป็นข้อมูลในช่วงสิบกว่าปี แต่ด้วยเทคโนโลยี อุปกรณ์ที่พร้อมสมบูรณ์อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอวกาศดีขึ้น จากการสำรวจพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีมี 80 ดวง ขณะที่ดาวเสาร์มีดวงจันทร์บริวาร 83 ดวง เป็นข้อมูลล่าสุดที่ได้รับการยืนยัน

อีกทั้ง ภาพล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ ถ่ายภาพดาวพฤหัสบดีเผยให้เห็นรายละเอียดของ “ดาวพฤหัสบดี” คมชัด เห็นวงแหวนล้อมรอบ ทั้งนี้ จากภาพถ่ายโดยทั่วไปไม่เคยเห็นวงแหวนมาก่อน และแน่นอนว่า ด้วยตาเปล่าไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ทรงพลังบันทึกภาพให้เห็น

อีกสิ่งที่นักดาราศาสตร์เฝ้าติดตาม โดยที่เป็นไฮไลต์หนึ่งคือ พายุใหญ่บนดาวพฤหัสบดี หรือที่รู้จักกันในชื่อ จุดแดงใหญ่ (The Great Red Spot) โดยพายุที่เกิดมายาวนานนี้ มีขนาดเล็กลง นอกจากนี้จากการติดตามศึกษาดาวพฤหัสบดีของนักดาราศาสตร์ ยังพบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีประโยชน์กับโลกของเรามาก โดยนอกจากความสวยงาม มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากโลก เช่นเดียวกับดาวพุธ ศุกร์ อังคาร และดาวเสาร์

ดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นดาวเคราะห์แก๊ส ที่มีแรงโน้มถ่วงมหาศาล ยังช่วยเบี่ยงเบนทิศทางของวัตถุในอวกาศไม่ให้พุ่งชนโลกของเรา ซึ่งก็เหมือนกับว่า ดาวพฤหัสบดีเป็นเกราะคุ้มกันวัตถุที่อยู่นอกอวกาศ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเข้ามาพุ่งชนโลกของเรา ซึ่งหลายต่อหลายครั้งก็มีข้อมูล แรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีดึงวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นดาวหาง ดาวเคราะห์น้อยเข้ามาชนตัวเองแทน ช่วยให้โลกเราพ้นภัยอีกทางหนึ่ง ดาวพฤหัสบดี หรือดาวเคราะห์ต่าง ๆ ที่โคจรเข้ามาให้ชม จึงเป็นโอกาสทองของการศึกษา สังเกตการณ์

คุณศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า นอกจากนี้ถ้าดูดาวผ่านกล้องโทรทัศน์จะเห็น แถบเมฆ บนดาวพฤหัสบดี และอีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้คือ ดวงจันทร์บริวารทั้ง 4 ดวง ซึ่งประกอบด้วย ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด คัลลิสโต อย่างชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถที่จะบอกได้ว่า ดวงจันทร์ดวงไหนมีชื่อว่าอะไร? มีลักษณะอย่างไร? ทั้งได้เห็นถึงการโคจรรอบดาวพฤหัสบดี ฯลฯ ซึ่งการที่มีเวลาศึกษาสังเกตได้ยาวนานตลอดทั้งคืนในช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสที่ดี

“สำหรับใครที่ดูด้วยกล้องดูดาวขนาดเล็กบนโลก ในช่วงเวลาประมาณทุกครึ่งชั่วโมงถ้าย้อนกลับมาดูอีกครั้งจะเห็นตำแหน่งของดวงจันทร์บริวารทั้งสี่ดวงเปลี่ยนตำแหน่งไป โดยดวงจันทร์ที่เปลี่ยนตำแหน่ง หรือเคลื่อนที่เร็วสุด ก็คือ ไอโอ ด้วยที่เป็นดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีที่สุด

อีกหนึ่งดวงที่สังเกตง่ายคือ แกนิมีด เป็นดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีที่มีขนาดใหญ่สุด สว่างสุด และอีกดวงหนึ่งที่น่าสนใจคือ คัลลิสโต ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีที่มีวงโคจรอยู่ไกลที่สุด โดยถ้าสังเกตเห็นดาวที่อยู่ไกลจากวงโคจรดาวพฤหัสบดีออกไปและสว่างน้อย ก็มีโอกาสที่จะเป็นดวงจันทร์ดวงนี้ และถ้าเราสังเกตรู้ได้ทั้งสามดวงแล้ว ดวงที่เหลือก็ไม่ยากที่จะคาดเดา เป็นเทคนิคหนึ่งในการสังเกต”

การดูดาวพฤหัสบดีถ้ามีกล้องส่องทางไกล กล้องสองตา กล้องที่มีกำลังขยาย 7 เท่าขึ้นไปก็จะเริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีได้
จะเห็นเป็นดาวสีส้ม ๆ เห็นดวงจันทร์บริวารเป็นจุดเล็ก ๆ ทั้งนี้ จากที่กล่าวยังคงส่องกล้องชมดาวต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่ดาวพฤหัสบดีจะค่อย ๆ เปลี่ยนตำแหน่งไป จะมีโอกาสเห็นได้ถึงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่อาจเริ่มมองได้ไม่ชัดเท่ากับช่วงเวลานี้ ที่เป็นเวลาทอง

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์ยังให้ข้อมูล ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตาม ที่กำลังจะมาถึง เพิ่มอีกว่า ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น นับแต่เดือนตุลาคม ไปถึงปลายปีนี้ ในเดือนพฤศจิกายน วันที่ 8 จะมีปรากฏการณ์ใหญ่ทางด้านดาราศาสตร์ที่สามารถสังเกตเห็นได้ทางฝั่งเอเชีย คือ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง

ต่อเนื่องมาช่วงต้นเดือนธันวาคมจะมี ปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลก โดยคนบนโลกมองผ่านกล้องสามารถสังเกตเห็นพื้นผิวขั้วนํ้าแข็งของดาวอังคารชัดเจนขึ้น สามารถสังเกตขนาดปรากฏของดาวอังคารที่ใหญ่ขึ้นอีก อีกทั้งในปีนี้ยังมีโอกาสได้ชม ฝนดาวตกเจมินิดส์ เห็นได้จำนวนมากนับแต่ช่วงหัวคํ่าไปจนถึงช่วงคํ่า ๆ ก่อนจะมีดวงจันทร์ปรากฏขึ้น โดยฝนดาวตกจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าหนาว อากาศเย็นสบายและท้องฟ้าสดใส เป็นอีกปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายปี

เป็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่น่าติดตาม เช่นเดียวกับช่วงเวลานี้ที่ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก”.