พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. จำนวน7 คน จากการสรรหา และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งหากสรรหาได้ไม่ครบ 7 คน แต่ถ้ามีไม่ต่ำกว่า 5 คน ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้

กสทช. ปัจจุบันมี 5 คน คนที่ 6 ยังเป็น “ว่าที่” คือ พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. ด้านกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ หลังจากวุฒิสภา มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายประพันธ์ คูณมี ซึ่งเคยสมัคร กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร น่าจะมีคุณสมบัติขัดแย้งกับระเบียบ คณะกรรมการสรรหา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกผู้สมัครเป็น กสทช. แทนผู้ที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ 2 คน ลงวันที่ 21 มกราคม 2565 ข้อ 6 ที่กำหนดให้ “ผู้สมัครจะต้องสมัครเป็นกรรมการด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว และจะเปลี่ยนแปลงด้านที่สมัครในภายหลังไม่ได้”

นายประพันธ์ กล่าวว่า ในการสรรหาครั้งแรกระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายนปีที่แล้ว ตนเอง และพล.ต.อ.ดร. ณัฐธร เพราะสุนทร ได้ยื่นสมัครเป็นผู้เข้ารับการสรรหา กสทช.ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก แต่เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้เปิดรับการสรรหาใหม่ แทนผู้ที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ 2 คน คือ กสทช. ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.หรือด้านกฎหมาย และด้านโทรคมนาคม พล.ต.อ.ณัฐพร ซึ่งไม่ผ่านการสรรหาในด้านคุ้มครองผู้บริโภค ได้ยื่นสมัครเข้ารับการสรรหาใหม่อีกครั้ง และได้รับการสรรหาแบบม้วนเดียวจบ เป็น 1 ใน 2 ของผู้ที่ได้รับการสรรหาเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะเป็นการดำเนินการขัดต่อระเบียบการสรรหาในข้อ 6. ซึ่งระบุให้ผู้สมัครต้องสมัครเป็นกรรมการด้านในด้านหนึ่งเพียงด้านเดียวเท่านั้น จะเปลี่ยนแปลงด้านที่สมัครในภายหลังไม่ได้ แต่กระนั้นคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมวุฒิสภาก็ยังคงโหวตให้ความเห็นชอบว่าที่ กสทช.รายนี้ไปในที่สุด

“ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา ผมได้ทักท้วงเรื่องนี้ไปยังประธานวุฒิสภาแล้วเพราะเห็นว่า กระบวนการสรรหาครั้งนี้ไม่น่าจะถูกต้องชอบธรรม เพราะหากเปิดให้มีการกระโดดค้ำถ่อสมัครสาขาใดหรือด้านใดก็ได้แบบนี้ ผู้สมัครคนอื่น ๆ รวมทั้งผมเองก็คงทำกันไปแล้ว แต่เพราะทุกคนเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวขัดประกาศและระเบียบคณะกรรมการสรรหาฯ จึงไม่มีใครทำ แต่ก็ไม่สามารถจะทัดทานใบสั่งที่หนุนหลังจนทำให้ที่ประชุมวุฒิสภาผ่านให้ความเห็นชอบว่าที่ กสทช.รายดังกล่าวไปได้“ นายประพันธ์ กล่าว

นายประพันธ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ตนได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสรรหา กสทช.ต่อศาลปกครองเป็นคดีดำเลขที่ 1688/2565 เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการสรรหา เรื่องผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการสรรหาเป็น กสทช. เฉพาะกรณีของ พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร ที่ได้รับการสรรหาเป็น กสทช.ด้านกฎหมาย เพราะเห็นว่ามีคุณสมบัติขัดประกาศคณะกรรมการสรรหา พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา รวมทั้งยังได้ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ระงับการโหวตลงมติเห็นชอบตัวบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็น กสทช.รายดังกล่าว ซึ่ง

ศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้อง และ มีหมายเรียกให้ผู้ถูกฟ้องมาชี้แจงข้อกล่าวหาแล้ว แต่ภายหลังเมื่อวุฒิสภาโหวตรับรอง ปรากฏว่าศาลปกครองกลับคำสั่งที่ศาลเคยรับฟ้องเป็นไม่รับฟ้องแบบน่าสงสัยเพราะไม่เคยเกิดเรื่องเช่นนี้มาก่อน ตนจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดไปแล้วเมื่อวานนี้ (28 กันยายน 2565) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

เป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติด – ตม. ไม่น่าจะรู้เรื่องสื่อสาร

การที่คณะกรรมการสรรหาได้เห็นชอบให้ พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เป็นผู้สมควรได้รับการสรรหาเป็นว่าที่ กสทช.ใหม่ ยังเป็นการดำเนินการที่ส่อจะขัดระเบียบคณะกรรมการสรรหาในข้อ 2.2 ที่ระบุว่า “ผู้สมัครรับการสรรหา ต้องเป็นผู้มีลักษณะเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในด้านที่จะดำเนินการสรรหา” ทั้งนี้ เพราะจากประวัติการทำงานของ พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร ไม่ปรากฏว่า มีประสบการณ์ หรือความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมแต่อย่างใด เนื่องจากภายหลังจบการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก็เข้ารับราชการตำรวจ สายงานปราบปรามยาเสพติด สายงานตรวจคนเข้าเมือง จนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2564 ในตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงเลือกบุคคลที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในด้านคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็น กสทช. ด้านกฎหมาย

ไม่เข้าใจว่า ทำไมคณะกรรมการสรรหาถึงได้เลือกบุคคลที่ขาดคุณสมบัติและไม่ผ่านการคัดเลือกในด้านคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาเป็น “ว่าที่กสทช.” ด้านกฎหมายได้”

นายประพันธ์ กล่าวว่า เมื่อเรื่องนี้เป็นคดีในศาลปกครองแล้ว และมีข้อสงสัยว่า พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร น่าจะมีการกระทำขัดแย้งกับระเบียบการสรรหา จึงเป็นการไม่สมควรที่วุฒิสภาจะส่งรายชื่อให้นายกรัฐมนตรี นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อแต่งตั้งให้เป็น กสทช. หรือถ้าวุฒิสภาส่งชื่อมาแล้ว นายกรัฐมนตรีก็ควรชะลอเรื่องการทูลเกล้าฯ ไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำตัดสินจากศาลปกครอง