ประเด็นสำคัญคือสมดุลของอำนาจภายในอียู ซึ่งกำลังเผชิญกับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และวิกฤติด้านพลังงานและค่าครองชีพครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษของยุโรป

ภายหลังชัยชนะในการเลือกตั้งของฝ่ายชาตินิยมในสวีเดน มันมีความกังวลเกิดขึ้น กับรัฐบาลที่กรุงบรัสเซลส์, รัฐบาลในกรุงปารีส และรัฐบาลในกรุงเบอร์ลิน เกี่ยวกับการสร้าง “แนวหน้าประชานิยม” ซึ่งอาจขัดขวางการตัดสินใจของอียู ที่พยายามป้องกันภาวะถดถอย และปกป้องครัวเรือนจากภาวะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ความตั้งใจของ เมโลนี ยังไม่ชัดเจน แม้เธอนำเสนอพรรคบราเธอร์ส ออฟ อิตาลี ในฐานะกองกำลังอนุรักษนิยมกระแสหลัก ที่ถูกปลดออกจากรางเหง้าของลัทธิฟาสซิสต์ แต่คนรักยุโรปบางคนกลับไม่เชื่อเรื่องนี้ อีกทั้งบางส่วนยังกังวลว่า สมาชิกผู้ก่อตั้งของอียูอาจตกอยู่ในสถาการณ์เช่นนี้ และมันเป็นภัยคุกคามต่อทั้งอียูและอิตาลีด้วย

สำหรับฮังการีและโปแลนด์ สองประเทศนี้ได้ทดสอบมาตรฐานประชาธิปไตยของยุโรป โดยกลุ่มผู้สนับสนุนของนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ผู้นำฮังการี มองว่า เมโลนี เป็นโอกาสสำหรับรัฐบาลบูดาเปสต์ ที่จะได้พันธมิตรใหม่ในการต่อสู้กับผู้บริหารของอียู ขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐบาลวอร์ซอ กล่าวว่า พรรคฝ่ายขวาได้รับการสนับสนุนมากกว่าที่เคยมีมา และมันคือโอกาสที่จะแก้ไขนโยบายของยุโรปอีกด้วย

DW News

แม้ เมโลนี มีแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรป รวมถึงมุมมองต่อต้านการย้ายถิ่นฐาน และการส่งเสริมค่านิยมครอบครัวแบบดั้งเดิมเหมือนกับ ออร์บาน อย่างไรก็ตาม เธอให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้นโยบายการคลังอย่างรอบคอบ และรักษาความสามัคคีกับอียูและพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่จะสนับสนุนยูเครนในการต่อต้านรัสเซีย อีกทั้งเธอยังพยายามสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรในสหภาพยุโรปเกี่ยวกับเจตจำนงของเธอในภาษาฝรั่งเศส, ภาษาอังกฤษ และภาษาสเปนด้วย

นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ของยุโรปกล่าวว่า เมโลนี กำลังทำการพูดคุยติดต่อโดยตรงกับนายมาริโอ ดรากี อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น และทำให้มั่นใจว่าอิตาลีจะไม่ตกสู่ภาวะวิกฤติในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจผันผวน รวมทั้งเป็นการทำให้เธอเข้าใจว่า บางปัญหามีความสำคัญมากเพียงใด และเธอไม่สามารถทำพลาดจนเสียหายยับเยินได้

ในกรุงบรัสเซลส์ เจ้าหน้าที่รัฐต่างไม่แน่ใจว่า เมโลนี จะจัดการแผนฟื้นฟูยุโรปในส่วนของอิตาลีได้อย่างไร ตลอดจนมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้สินที่ล้นพ้นตัวของอิตาลี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของอิตาลี พุ่งขึ้นเร็วกว่าประเทศอื่นในกลุ่มยูโรโซน

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลปารีสได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่รัฐอิตาลีของรัฐบาลที่ออกจากตำแหน่งว่า อย่าพยายามเผชิญหน้ากับ เมโลนี แบบสาธารณะ เพื่อป้องกันการผลักดันเธอให้จนมุม และทำให้เธอรู้สึกว่าแทบไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการกระชับความสัมพันธ์กับออร์บาน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS