หรือบูลลี่ (bullying) ซึ่งคนที่ถูกขานด้วยลักษณะของร่างกายแบบนี้ล้วนไม่พอใจ และอาจเป็นปมที่สืบยาวไปเมื่อเติบใหญ่ เหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดในสถานศึกษา ซึ่งส่งผลทำให้เด็กไม่อยากมาโรงเรียนขาดสมาธิในการเรียน สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ขณะนี้เยาวชนทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน

จากการสำรวจของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ปี 2563 พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน จำนวน 1,500 คน มีเด็กถึง 91.79 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกบูลลี่ วิธีบูลลี่ที่พบมากที่สุด คือ การตบหัว 62.07 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา ล้อบุพการี 43.57 เปอร์เซ็นต์ พูดจาเหยียดหยาม 41.78 เปอร์เซ็นต์ และอื่น ๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสีผ่านโลกโซเชียล นอกจากนี้เด็ก 1 ใน 3 หรือ 35.33 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกประมาณเทอมละ 2 ครั้ง และเด็ก 1 ใน 4 หรือ 24.86 เปอร์เซ็นต์ ถูกกลั่นแกล้ง 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์เลยทีเดียว ผลกระทบจากการถูกบูลลี่ส่งผลให้เด็กบางคนคิดโต้ตอบหรือต้องการเอาคืนถึง 42.86 เปอร์เซ็นต์ มีอาการเครียด 26.33 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสมาธิกับการเรียน 18.2 เปอร์เซ็นต์ ไม่อยากไปโรงเรียน 15.73 เปอร์เซ็นต์ เก็บตัว 15.6 เปอร์เซ็นต์ และมีอาการซึมเศร้า 13.4 เปอร์เซ็นต์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรผู้นำนักศึกษา ไอเซค ประเทศไทย และบริษัทโกลบิชอคาเดเมีย (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษาของศูนย์นวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Innovation Hub) เป็น เจ้าภาพจัดการแข่งขันนำเสนอแนวคิดเพื่อยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน รอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) โครงการ “International Friends for Peace 2022” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องในวันสันติภาพโลก (International Peace Day) เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา

ภายในงานมีการบรรยายและเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ทำไมเราต้องยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแก ในโรงเรียน แนวคิดและนวัตกรรมเพื่อยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน แนวคิดและนวัตกรรมเพื่อยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกจากมุมมองนานาชาติ โดยมีตัวแทนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,300 คน มีผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 30 คน แบ่งออกเป็น 10 ทีม ทีมละ 3 คน

โครงการ International Friends for Peace 2022 จัดโดย องค์กรผู้นำนักศึกษา ไอเซค ประเทศไทย และบริษัทโกลบิชอคาเดเมีย (ไทยแลนด์) เริ่มต้นจากการค้นหาตัวแทนเยาวชนเพื่อเป็นผู้นำด้านสันติภาพ หรือ Peace Leader รุ่นแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 โดยจัดกิจกรรมคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวนกว่าหมื่นคน จากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือกตัวแทนผู้นำที่มีคุณสมบัติหลักคือมีความปรารถนา (Passion) และความมุ่งมั่น (Commitment) ที่พร้อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และเป็นกระบอกเสียงให้กับเพื่อนเยาวชนด้วยกันในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยลดปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ผลการคัดเลือกเยาวชน ก็คือ เยาวชนกลุ่มนี้จะมาช่วยกันสร้างนวัตกรรมเพื่อลดความรุนแรงในโรงเรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะของการคิดเพื่อออกแบบ หรือ Design Thinking การสร้างโครงการ (Project Creation) พร้อมนำเสนอต่อหน้าสาธารณชนเพื่ออุทิศแก่สันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสันติภาพที่ปราศจากสงคราม เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจมนุษยชาติถึงผลกระทบและความเสียหายทั้งจากทรัพย์สินและชีวิตที่เกิดจากสงคราม

ธีรกร, ศรัญญา

ธีรกร อานันโทไทย ตัวแทนจาก Startup สอนภาษาอังกฤษ Globish กล่าวว่า เรื่องของความรุนแรงไม่ว่าทั้งระดับบุคคลและระดับโลกโดยผ่านการประท้วงต่าง ๆ ซึ่งน้อง ๆ มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อเราย่อขนาดให้เล็กลงพบว่าความรุนแรงปรากฏชัดในโรงเรียนทุกระดับชั้น ในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ และยังมีต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีแนวโน้มลดลง เป็นคำถามที่เราโฟกัสขึ้นมาถึงเรื่องการใช้ความรุนแรงและบูลลี่ที่เกิดขึ้น

“เรื่องของความรุนแรงไม่อยากให้นับเป็นเคสหรือสถิติเพียงอย่างเดียว เพราะตัวเลขเหล่านี้ไม่อยู่ลึกในความเจ็บป่วยหรืออยู่ในใจของเขา แต่เราไม่มีนิยามกรอบแบบนั้น สิ่งสำคัญคือเขารู้สึกอย่างไร ถ้าเป็นบาดแผลนั่นคือความรุนแรงสำหรับเขาแล้ว น้อง ๆ ในวัยเรียนไม่ว่าจะเป็นทุกชั้นการศึกษา สิ่งที่เกิดภายในใจนั่นคือความรุนแรงของเขา ทีมงานเราวิเคราะห์ระบบความรุนแรงในโรงเรียนอาจใช้การพูดคุยเชิงจิตวิทยาบำบัด โดยการสอบถามรู้สึกอย่างไร มองอย่างไรกับเหตุการณ์ อย่างนี้ถ้าย้อนเวลากลับไปได้อยากให้เกิดอะไรขึ้น และวันหน้าน้องอยากสร้างสังคมแบบไหนถ้าเราอยู่ร่วมกัน โดยที่เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาไม่มีบาดแผลในใจเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง สร้างสังคมที่เข้มแข็งอันนี้คือเป้าหมายของโครงการ”

ธีรกร มองว่าความรุนแรงเกิดจากความแตกต่าง ความคิดเห็น มุมมองทางอายุ สิ่งที่น่ากลัวของความแตกต่างนำไปสู่ความแตกแยก คำถามของสังคมเราจะอยู่ร่วมกันได้ไหมถ้าเราแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก ในแง่ผู้ใหญ่กันเองรับได้หรือไม่ ความคิดเห็นเริ่มง่าย ๆ ลดความรุนแรงในโรงเรียน โดยการสร้างภาคีเครือข่ายการศึกษาเป็นคอมมูนิตี้เล็ก ๆ ที่สร้างความพึงพอใจ และจริงจังลดความรุนแรงในโรงเรียน

สำหรับโครงการนี้เราตั้งโจทย์ว่าภายใต้เสียงออดเลิกเรียนน้อง ๆ จะลดพฤติกรรมความรุนแรงอย่างไร ตัวอย่างเช่น เราต้องเลิกล้อเพื่อนด้วยบอดี้ชาร์มมิ่ง หรือการล้อเพื่อนด้วยบุคลิกต่าง ๆ เช่น แว่น อ้วน ดำ เป็นเรื่องที่ต้องเจอกันมาแน่นอน วิธีการคือให้คนที่โดนออกมาเล่าความรู้สึก หรือน้อง ๆ ตั้งคำถามว่าวิชาหน้าที่พลเมืองเปลี่ยนได้ไหม ในวันนี้โลกออนไลน์เข้าถึงเร็วมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือ แต่ควรใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่จะไม่ทำร้ายกัน

ศรัญญา ศิริรัตน์ ประธานจัดงานร่วมสมาคม ไอแซค กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดที่เห็นมาน้อง ๆ มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลเยอะมาก เช่น น้อง ๆ บางกลุ่มเสนอเป็นเว็บไซต์เป็นพื้นที่ให้คนที่เป็นผู้ถูกบูลลี่เข้ามาพูดคุย ปรึกษาซึ่งกัน หรืออีกกลุ่มเน้นใช้เกมมาช่วย เพราะเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการเข้าใจของน้อง ๆ วัยเดียวกัน สอดแทรกเนื้อหาการบูลลี่ ถ้าเป็นตัวละครมาบูลลี่กัน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง วิธีแก้  คืออะไร

“คนเจอประสบการณ์รู้สาเหตุว่าการโดนบูลลี่ เขาจะเป็นคนที่มีทักษะที่จะริเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดในรุ่นต่อ ๆ ไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะโฟกัส น้องที่มีประสบการณ์จะมีคุณค่ามาก สามารถแชร์ความรู้สึกให้กับคนรอบข้างได้ และมีส่วนสำคัญป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้” ศรัญญา บอกเล่า

กิจกรรมแข่งขันนำเสนอแนวคิดเพื่อยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน เปิดให้เด็กชั้นมัธยมต้นเข้าเสนอความคิดยุติการบูลลี่และความรุนแรงในโรงเรียน เนื่องด้วยเด็กในวัยนี้ กำลังเริ่มต้นโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนตัวเขาเองเขาคิดว่า เขามีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว และมีความต้องการที่จะปล่อยของ

ประณิตา อุทัยเฉลิม หรือ “นิตา” นร.ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตจุฬาฝ่ายมัธยม ในฐานะหนึ่งในสมาชิกของทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้เล่าว่า ตัวเองเป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรมแต่มีฟันกระต่าย แต่บ่อยครั้งมักจะโดนเพื่อนหรือรุ่นพี่มักพูดให้เข้าหูว่า “น้องก็ดีนะแต่ฟันเหยิน” ได้ฟังแล้วรู้สึกไม่ดี เช่นเดียวกับ “บูเก้” มัญชุวีร์ ศักดิ์ชนะลายา นร.ชั้น ม.3 โรงเรียนเซนต์ยอห์นบอสโก เล่าว่า เธอเคยต้องตามครอบครัวไปเรียนที่กัมพูชา และช่วงนั้นมีกระแสข่าวไม่ชอบคนไทย เพื่อนไม่คบ แต่ก็มีเพื่อนกลุ่มหนึ่งเข้ามาปลอบใจ ทำให้เข้าใจเรื่องของการถูกบูลลี่เป็นอย่างดี ทั้ง “นิตา” และ “บูเก้” พร้อมด้วย “ทอฝัน” ธนิกา ชมพูทีป นร.ชั้น ม.2 โรงเรียนสามเสน ได้คิดรูปแบบของการแก้ปัญหาบูลลี่ด้วยการคิดแอพพลิเคชั่นที่พวกเธอบอกว่าเปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันไว้ก่อน ถ้าวันหนึ่งเด็กจะไปเจอสถานการณ์จริง โดยสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมา เมื่อเกิดเหตุการณ์บูลลี่เกิดขึ้นจะทำอย่างไร และคนที่บูลลี่คนอื่นต้องปรับพฤติกรรมอย่างไร ช่วยกันปลูกฝังจิตสำนึกให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ขณะเดียวกันคนที่เห็นเหตุการณ์ควรเข้าห้าม เราทำเป็นต้นแบบ มีสถานการณ์ให้เลือก ต้องปฏิบัติตัวถ้าเราเลือกถูกจะได้รับคำชม เมื่อเลือกผิดบ่อย ๆ เด็กเหล่านี้ต้องได้รับความช่วยเหลือหรือไม่โดยมีการเก็บสถิติที่เลือกผิดไว้

เพราะการบูลลี่แบบเด็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องเล่นอีกต่อไป ท่ามกลางที่เด็กเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เสี่ยงต่อการถูกบูลลี่และนำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างง่ายดาย.

พรประไพ เสือเขียว