แม้ตำรวจเทศกิจกล่าวว่า การผละงานประท้วงของกลุ่มคนงานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน แต่ในมุมมองของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวกัมพูชา พวกเขารู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ภายใต้การเฝ้าสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่อง และทุกความเคลื่อนไหวของพวกเขา ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ถูกติดตามโดยซอฟต์แวร์, กล้อง และโดรน

กล้องวงจรปิดมากกว่า 1,000 ตัว ในกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเฝ้าระวังแบบใหม่ทั่วประเทศ ได้รับการจัดหาและติดตั้งโดยจีน ที่ขายแพ็กเกจการเฝ้าระวังทางดิจิทัลอย่างครอบคลุมให้กับรัฐบาลกัมพูชา ภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐาน “แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (บีอาร์ไอ)

นายพาย สีพัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชา ปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อพุ่งเป้าไปที่นักเคลื่อนไหวและผู้นำสหภาพแรงงาน พร้อมกล่าวว่า กล้องวงจรปิดและโครงสร้างพื้นฐานการเฝ้าระวังอื่น ๆ มีไว้สำหรับความปลอดภัย, การต่อสู้กับอาชญากรรม, การละเมิดกฎจราจร และการกระทำผิดกฎหมายอื่น ๆ

แต่ขณะที่ทางการให้เหตุผลการเฝ้าระวังว่าเป็นเรื่องของความปลอดภัย กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดความเป็นส่วนตัว ตลอดจนความเป็นไปได้ของการรวบรวมข้อมูลและการเลือกปฏิบัติ ด้วยเทคโนโลยีที่มักจะมีการใช้โดยปราศจากการปรึกษาหารือสาธารณะ และการไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลที่เข้มงวด

นอกจากนี้ หลายประเทศที่เข้าร่วมโครงการบีอาร์ไอกำลังใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงระบบจดจำใบหน้าที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งเชื่อมโยงกับการล่วงเกินชนกลุ่มน้อยอย่างชาวอุยกูร์ในจีน สำหรับโปรแกรมตำรวจอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนเครื่องมือดิจิทัลสำหรับติดตามไซต์ของสื่อสังคมออนไลน์

สำหรับทั่วโลก การเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีเอไอได้นำไปสู่การขยายตัวของระบบเฝ้าระวังจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงการจดจำใบหน้า และการระบุตัวตนด้วยเสียง โดยมีจุดประสงค์การใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่การติดตามอาชญากร ไปจนถึงการตรวจสอบการเข้าชั้นเรียนของนักศึกษา

นายสตีเวน เฟลด์สไตน์ นักวิชาการอาวุโสจากกองทุนบริจาคคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (ซีอีไอพี) คลังสมองที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า “เทคโนโลยีได้เปลี่ยนลักษณะของวิธีที่รัฐบาลดำเนินการเฝ้าระวัง และสิ่งที่พวกเขาเลือกใช้เพื่อการติดตาม”

ขณะที่นางจักร โสเพียพ จากศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชา กล่าวว่า แม้รัฐบาลกัมพูชากำลังสร้างเกตเวย์อินเทอร์เน็ตระดับชาติ ที่คล้ายคลึงกับไฟร์วอลล์อินเทอร์เน็ตของจีน ซึ่งบล็อกเว็บไซต์และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ แต่มันกลับมีความโปร่งใสเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับระบบเหล่านี้

“รัฐบาลไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลที่รวบรวม และวิธีที่ทางการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ ซึ่งการขาดความโปร่งใสเช่นนี้เป็นปัญหาอย่างมาก” เธอกล่าว “การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นการให้เครื่องมือเพิ่มเติมแก่รัฐบาล เพื่อปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์และกลุ่มผู้เห็นต่างด้วย”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS