รัฐบาลประกาศให้ปีนี้ เป็นปีแห่งการแก้หนี้!! ซึ่งที่ผ่านมา แม้สารพัดหน่วยงานออกสารพัดมาตรการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการแก้หนี้…แต่เอาเข้าจริงการแก้หนี้ก็คือ…แก้หนี้ แต่ไม่ได้ “ปลดหนี้”

ภาระหนี้…ที่มีอยู่ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ไม่ได้หดหายไปไหน เพียงแค่อาจมีเวลาหายใจหายคอได้สะดวกมากขึ้น เพราะอาจได้พักชำระค่างวด คงเหลือไว้เพียงแค่การจ่ายดอกเบี้ย หรืออาจได้พักหนี้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ไม่ต้องจ่ายเงินงวด และอีกมากมายสารพัด

ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า…ในสิ้นปี 65 นี้ หนี้ครัวเรือนไทยจะอยู่ที่ประมาณ 14.97 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่ประมาณ 89.3% และยังเป็นหนี้ครัวเรือนที่สูงสุดในประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ทำการสำรวจเมื่อปี 50

ก่อนหน้านี้หนี้ครัวเรือนไทย เคยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 90.9% ต่อจีดีพี ในช่วงไตรมาสแรก ของปีที่แล้ว เป็นเพราะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นการไตรระดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 63

ขณะที่หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ประมาณครัวเรือนละ 5 แสนบาท ในจำนวนนี้แยกเป็นหนี้ในระบบ 78.9% ส่วนหนี้นอกระบบ มีสัดส่วนอยู่ที่ 21.1% ก็ถือว่า ยังเดชะบุญ ที่หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ

แต่!!ปัญหาอยู่ที่ว่า แนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกรวมถึงไทย ในเวลานี้ อยู่ในช่วงขาขึ้น แพงขึ้น ต่อให้สถาบันการเงินไทยจำใจ “ยอมกดดอกเบี้ยเงินกู้” ไว้ก่อนก็ตาม แต่สุดท้าย… ก็คงไม่สามารถฝืนตลาดได้อีกต่อไป

ด้วย…เพราะโลกใบนี้กำลังเผชิญสารพัดปัญหา ความพยายามของประเทศมหาอำนาจเพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้ร้อนแรงมากไปกว่านี้ ด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย กำลังส่งผลมาถึงประเทศไทยที่ต้องรอดูว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 28 ก.ย.นี้ จะตัดสินใจอย่างไร?

กลับมาที่ “ลูกหนี้” ที่เชื่อได้ว่า ณ เวลานี้ คงใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ว่ามูลหนี้ ดอกเบี้ย จะพุ่งทะยานไปกันอีกเท่าใด แล้วสุดท้ายจะมีปัญญา จ่ายหนี้ได้หรือไม่? นี่คือความกังวลใจ

เช่นเดียวกับจำนวนหนี้เน่า หรือหนี้เสียในระบบ ที่บรรดานายแบงก์ต่างออกมายอมรับว่า เริ่มมีปัญหาเรื่องของหนี้ตกชั้น หนี้เอ็นพีแอล ที่กำลังเริ่มกลับเข้ามาในระบบบ้างแล้ว

หลังจากหลายธนาคารได้ตัดหนี้สูญ ขายทิ้งและปรับโครงสร้างลูกหนี้ระยะยาว สาเหตุหลัก… มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีในวงกว้าง ทุกสถาบันต่างพยายามประคองลูกหนี้และต้องบริหารจัดการเอ็นพีแอลต่อเนื่อง

มีการประเมินกันว่าจำนวนหนี้เน่าในระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 65 นี้ น่าจะอยู่ที่ระดับ 2.95-3.05% ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่คาดไว้ประมาณ 2.9-2.93%

ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจ ด้วยแนวโน้มเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น หากไม่ทำอะไรกันเลย มีหวังมีแต่ เจ๊งกับเจ๊งต่อให้รัฐบาลได้เห็นชอบให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไปก็ตาม

แต่… ค่าแรงขึ้น ค่าครองชีพ…ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมากไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปี พ.ย.-ธ.ค.นี้ ที่แรงกดดันทางด้านพลังงานจะกลายมาเป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายค่าครองชีพของคนไทยแพงขึ้นมาอีกระลอก

จากแนวโน้มสารพัดที่กดดันลูกหนี้อยู่ในเวลานี้ ทำให้สถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน แบงก์ชาติ รวมถึงกระทรวงการคลังเอง ก็เสียวสันหลังอยู่ไม่น้อย จึงเดินหน้าร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น

หากไม่ทั้ง 3 ภาคส่วน ไม่เข้ามาดำเนินการอะไร อาจเป็นปัญหาตามมาในภายหลังแน่นอน และจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง แม้อาจต้องสูญเสียกำไรบางส่วนไปบ้างก็ตาม

ขณะเดียวยังมีการจัดงาน มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน เพื่อกวาดต้อนให้ลูกหนี้เข้ามาแก้ไขหนี้ของตัวเองก่อนจะสายเกินแก้ โดยแต่ละสถาบันการเงินต่างออกแพคเกจมาตรการพิเศษ เพื่อมาดึงดูด

ทั้งในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ ให้สินเชื่อใหม่ โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน มาให้คำแนะนำ พร้อมชี้แนะว่าลูกหนี้แต่ละรายควรแก้ไขปรับปรุงหนี้ของตัวเองอย่างไร เพื่อให้มูลหนี้ลดลงไป และไม่ตกชั้นจนกลายเป็นหนี้เสีย

เบื้องต้นจะเปิดให้มีการแก้หนี้ ให้กับลูกหนี้ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงนอนแบงก์ โดยเข้ามาแสดงเจตจำนงเพื่อเข้าร่วมมาตรการผ่านการลงทะเบียนทางช่องทางออนไลน์ และยังมีโครงการ “มหกรรมแก้หนี้สัญจร” ทุกพื้นที่ทั่วไทยอีกด้วย

โดยวันที่ 26 ..นี้ จะเปิดให้บรรดาลูกหนี้เข้ามาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการเป็นวันแรก จนถึง 30 .. 65 จากนั้นเจ้าจะติดต่อกลับไปภายใน 18 วัน เพื่อพิจารณาสถานะหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ต่อไป

ทั้งหมด!! ได้แต่หวังว่า บรรดาลูกหนี้ทั้งหลาย ต้องกระวีกระวาด ช่วยเหลือตัวเองเพื่อลดหนี้ลงให้ได้มากที่สุด อย่ามัวแต่ฝันหวาน หรือมโนเอาเอง ว่าเจ้าหนี้จะยกหนี้ให้ เพราะ…ไม่มีแน่นอน!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู