รายละเอียดของคดีฆาตกรรมครั้งนี้ สร้างความตกใจให้กับคนทั้งประเทศ หญิงสาววัย 28 ปี ทำงานกะเย็นที่สถานีรถไฟใต้ดินตามปกติ โดยไม่รู้ตัวว่ามีคนแอบมองเธออยู่ ขณะที่นายจอน จู-ฮวาน วัย 31 ปี ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุ สวมถุงมือและหมวกอาบน้ำแบบใช้แล้วทิ้ง ยืนรออยู่นอกห้องน้ำนานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนตามเธอเข้าไปข้างใน แล้วใช้มีดแทงหญิงสาวจนเสียชีวิต เพียงหนึ่งวันก่อนที่เขาจะถูกตัดสินโทษในข้อหาแอบติดตามเธอ

ด้านครอบครัวของผู้เสียชีวิตไม่เพียงแต่เศร้าเสียใจเพราะการสูญเสียบุตรสาว แต่เป็นเพราะเธอไม่เคยบอกพวกเขาว่าเจออะไรมาบ้าง โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตดูแลน้องสาวในฐานะพี่สาวคนโต และไม่แสดงอาการเป็นทุกข์แต่อย่างใด ซี่งครอบครัวเชื่อว่าเธอไม่บอกเรื่องนี้ เพราะไม่อยากสร้างภาระให้กับพวกเขา

ตอนนี้ ครอบครัวของเธอ ร่วมกับชาวเกาหลีใต้ทั้งประเทศ กำลังดูรายละเอียดคดีที่น่าสะพรึงกลัว พวกเขาเปิดเผยถึงจุดอ่อนในกฎหมายสะกดรอยตามของเกาหลีใต้ และนำไปสู่การกล่าวหาว่า รัฐบาลไม่ดำเนินการต่อความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างจริงจังมากพอ

จวบจนถึงเมื่อปีที่แล้ว การแอบตามถูกจัดว่าเป็นความผิดไม่ร้ายแรง และมีโทษปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จนกระทั่งมีการลงมติผ่านกฎหมายต่อต้านการสะกดรอยตามในเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ชาวเกาหลีใต้หลายคนโต้แย้งว่า มันไม่เพียงพอ เพราะผู้กระทำผิดสามารถถูกดำเนินคดีได้ ต่อเมื่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อยินยอมเท่านั้น ซึ่งช่องโหว่นี้ ทำให้คนร้ายสามารถกลั่นแกล้งเหยื่อของพวกเขา จนนำไปสู่การถอนคดีได้

แม้ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ผู้นำเกาหลีใต้ ยอมรับว่ากฎหมายสะกดรอยตามนั้นล้าสมัย และต้องมีการปฏิรูป โดยสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการ แต่ ศ.ลี ซู-จุง นักจิตวิทยาอาชญากร แนะนำให้รัฐบาลยกเลิกมาตราที่จำเป็นต้องให้เหยื่อยินยอมเพื่อดำเนินคดี ขณะที่ศาลฎีกาเกาหลีใต้ เสนอให้มีการใช้คำสั่งห้ามกับผู้ต้องสงสัยข้อหาสะกดรอยตามที่ไม่ถูกควบคุมตัว

อย่างไรก็ตาม โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นได้ปลุกความทรงจำของเหตุฆาตกรรมที่คล้ายคลึงกันเมื่อ 6 ปีก่อน เมื่อหญิงสาววัย 20 ปี ถูกคนร้ายแทงเสียชีวิตในห้องน้ำสาธารณะ ใกล้สถานีกังนัม โดยชายผู้ก่อเหตุกล่าวว่า เขาลงมือฆ่าเธอ เพื่อเป็นการแก้แค้นผู้หญิงทุกคนที่ดูถูกเขา

สำหรับกลุ่มผู้ประท้วงการฆาตกรรมครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า “ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” พวกเขามองว่าตัวเองถูกหลอกให้เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น และในตอนนี้ พวกเขาจะรอดูสิ่งที่จะตามมาต่อไป

ความรู้สึกเช่นนี้สะท้อนก้องอยู่บนโพสต์-อิต หลายสิบข้อความ ที่ตั้งคำถามกับสังคมของเกาหลีใต้ว่า “ผู้หญิงอีกกี่คนจะต้องตายเพื่อให้ประเทศนี้มีการเปลี่ยนแปลง?”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : Yonhap News Agency