แต่การขยายตัวอย่างไม่จำกัดย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย เพราะเมื่อคอนกรีตเข้ามาแทนพื้นที่สีเขียว และการก่อสร้างรอบริมทะเลสาบปิดกั้นคลองที่เชื่อมต่อกัน ส่งผลให้เกิดการจำกัดความสามารถของเมืองในการดูดซับและระบายน้ำออก

หลังต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนักสุดในรอบหลายทศวรรษ เมื่อช่วงกลางเดือนนี้ หมู่บ้านเยมาลูร์ จมอยู่ใต้น้ำสูงระดับเอว เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนอื่นของเมืองเบงกาลูรู ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไอทีทางตอนใต้ของอินเดีย และสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของเมืองด้วย

แม้ชาวบ้านจะเบื่อหน่ายกับการจราจรที่ติดขัด และการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จนมีการร้องเรียนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองมานานแล้ว แต่เหตุน้ำท่วมในฤดูมรสุมได้สร้างคำถามใหม่ ๆ เกี่ยวกับความยั่งยืนของการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหากรูปแบบสภาพอากาศเริ่มไม่แน่นอนและรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งยังไม่พอใจ เกี่ยวกับการชะงักงันที่เลวร้ายลง ซึ่งพวกเขากล่าวว่า มันสามารถสร้างความเสียหายถึงหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐในวันเดียว ขณะที่บริษัทประกันภัยต่างบอกว่าการประเมินเบื้องต้นสำหรับการสูญเสียทรัพย์สินมีมูลค่าหลายล้านรูปีอินเดีย และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในไม่อีกกี่วันข้างหน้า

“อินเดียคือศูนย์กลางเทคโนโลยีสำหรับองค์กรระดับโลก ดังนั้นแล้ว หากมีการหยุดชะงักใด ๆ ที่เกิดขึ้นที่นี่ มันจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก และเนื่องจากเมืองเบงกาลูรูเป็นศูนย์กลางของไอที มันจึงไม่มีข้อยกเว้น” นายเค เอส วิศวนาธาน รองประธานสมาคมบริษัทซอฟต์แวร์และบริการแห่งชาติ (แนสคอม) กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น แม้กระทั่งก่อนเกิดอุทกภัย กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มยังกล่าวเตือนถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอในเมืองเบงกาลูรู ซึ่งอาจทำให้หลายบริษัทปิดกิจการออกไปได้ โดยพวกเขาพูดคุยเรื่องเหล่านี้มานานหลายปี จนตอนนี้มันมาถึงจุดที่จริงจังแล้ว และทุกบริษัทต่างเห็นตรงกันเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองนี้อีกด้วย

การขยายตัวเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างผิดกฎหมายที่สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลกระทบต่อทะเลสาบเกือบ 200 แห่งของเมืองเบงกาลูรู รวมถึงเครือข่ายคลองที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อมต่อถึงกัน ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดฝนตกหนักดังเช่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบบระบายน้ำของเมืองจึงไม่สามารถรักษาระดับน้ำเอาไว้ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ราบต่ำอย่างหมู่บ้านเยมาลูร์

ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐกรณาฏกะ กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ ว่าทางการจะใช้เงิน 3,000 ล้านรูปีอินเดีย (ประมาณ 1,400 ล้านบาท) เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ให้ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนเรียกโครงการริเริ่มดังกล่าวว่าเป็น “ปฏิกิริยาตอบสนองอย่างฉับพลันที่จะค่อย ๆ หายไป” เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดน้ำท่วม เมื่อนั้นถึงจะมีการปรึกษาหารือกัน ในขณะที่เมืองเบงกาลูรูกำลังทรุดโทรม และจะตายลงในไม่ช้า.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS