ก่อนหน้านี้เคยมีความคิดว่า…การทำงานหาเงินเป็นการใช้ชีวิต แต่พอวันหนึ่งที่เราได้ก้าวออกมาเดินทาง…ได้ออกไปช่วยคนอื่น…ไปเป็นครูอาสา ทำให้เราเพิ่งรู้ว่า…นี่แหละคือการใช้ชีวิตจริง ๆ” เสียงจาก “สุนันทา คีรีรักษ์” หรือที่โลกโซเชียลรู้จักเธอในฐานะ “ครูสุ” เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “Su Backpacker-ครูสุครูอาสาแบกเป้เที่ยว” ที่มีคอนเทนต์น่าสนใจเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กับเป็น “ครูอาสา” รวมถึงมีบทบาทเป็น “ศูนย์รวมรับสมัครจิตอาสา” เพื่อรวบรวม “คนใจดี” ไปทำกิจกรรมเพื่อเด็กและผู้คนในพื้นที่ห่างไกล ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวของครูอาสาสาวคนนี้มานำเสนอ…

“ครูสุ” หรือ “สุนันทา คีรีรักษ์” หรือที่หลายคนรู้จักเธอผ่านโลกโซเชียลในชื่อ “ครูสุครูอาสาแบกเป้เที่ยว” เล่าย้อนถึงเส้นทางชีวิตของเธอก่อนจะก้าวเข้าสู่ “เส้นทางครูอาสา” ให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า เธอเกิดและเติบโตที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นลูก 1 ใน 7 ของครอบครัว ซึ่งในช่วงวัยเด็ก ครูสุบอกว่ามีชีวิตที่ยากลำบากไม่เบา เพราะคุณพ่อแยกทางกับคุณแม่ โดยทาง “คุณแม่-สารภี คีรีรักษ์” เป็นคนที่แบกภาระรับผิดชอบดูแลลูก ๆ เพียงลำพังคนเดียว และด้วยความที่เธอนั้นเป็นพี่คนโต ทำให้เธอต้องคอยช่วยคุณแม่ดูแลน้อง ๆ ซึ่งทุกเช้าเมื่อตื่นขึ้นมา เธอจะมีหน้าที่ดูแลน้อง ๆ หุงหาข้าวให้กิน ก่อนที่น้อง ๆ จะไปโรงเรียน

’มื้ออาหารตอนนั้นมีแค่ข้าวคลุกเกลือ ก็ทำให้น้องกิน พอส่งน้องไปโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องรีบวิ่งไปโรงเรียนให้ทันทำเวรอาสาของโรงเรียน เพื่อที่เราจะได้คูปองกินข้าวฟรี ซึ่งโรงเรียนอยู่ห่างจากบ้านไป 4 กิโลเมตร พอเรียนเสร็จช่วงเย็นก็ต้องรีบกลับมาทำความสะอาดบ้าน“ เป็น “กิจวัตรประจำวัน” ของครูสุในช่วงชีวิตวัยเด็ก

เธอเล่าให้ฟังอีกว่า เธอใช้ชีวิตและเรียนอยู่ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา จนถึงอายุประมาณ 14 ปี จากนั้นก็มีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่ประเทศมาเลเซีย จนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย Segi University ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตัวคนเดียว จนเรียนจบปริญญาตรีด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ จากนั้นจึงกลับมาอยู่บ้านที่ประเทศไทย

สำหรับ “จุดเริ่มต้นอาชีพครู” นั้น เธอเล่าว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้ชอบ และไม่ได้คิดว่าจะทำอาชีพครูมาตั้งแต่เด็กแล้ว ซึ่งด้วยความที่มีทั้งคุณป้าและคุณน้ามีอาชีพเป็นครู ทำให้เธอรู้สึกว่าไม่ชอบอาชีพนี้เลย เนื่องจากทั้งคุณป้าและคุณน้าที่เป็นครูนั้น ค่อนข้างดุ จนช่วงที่กลับมาอยู่บ้าน พอดีทางโรงเรียนเสนพงศ์ ซึ่งอยู่ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่คุณป้าสอนอยู่ ต้องการครูที่สามารถดูแลพูดคุยกับเด็กพิเศษ เด็กออทิสติก และเด็กไฮเปอร์ได้ ทางคุณป้าก็เห็นว่าครูสุเรียนจบมาทางด้านนี้โดยตรง และเคยทำงานเกี่ยวกับการบำบัดเด็กด้วย จึงชักชวนให้เธอทำงานเป็นครูในส่วนนี้ ซึ่งครูสุเล่าถึงเส้นทางในอาชีพครูของเธอว่า…

’ตอนนั้นคิดแค่ว่าเข้าไปช่วยดูแลเด็กพิเศษ คิดแค่นั้นมากกว่า โดยไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นครูต่อมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งตอนนั้นหน้าที่ของเราก็คือ ช่วยสอน และเตรียมความพร้อมให้เด็กที่เป็นออทิสติก หรือเด็กกลุ่มไฮเปอร์ หรือกึ่งเด็กพิเศษ โดยเราจะต้องฝึกพัฒนาการให้เขาก้าวทันกับเพื่อน ๆ ร่วมห้องเรียน เมื่อมีพัฒนาการมากขึ้นแล้วก็ส่งขึ้นไปเรียนในระดับอนุบาล ซึ่งเราก็ต้องรับให้คำปรึกษา ดูแล และบำบัด จนเด็ก ๆ เหล่านี้เรียนจน ป.6 นี่จึงทำให้เรามีความผูกพันกับเด็กมาก จนไม่สามารถที่จะทิ้งเขาไปได้ และนั่นก็เลยเป็นที่มาที่ทำให้เราเป็นครูยาวมาเลย“

ส่วนอีกมุมชีวิตของคุณครูสาวท่านนี้ที่ชินตาชาวโซเชียล คือการ แบกเป้ท่องเที่ยวและเดินป่า นั้น เธอบอกว่า เป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบมาตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่ที่มาเลเซียแล้ว โดยเริ่มจากที่ตอนเรียนนั้นอาจารย์ได้บอกกับเธอว่า ’วิธีที่จะบำบัดตัวเองได้ง่ายที่สุด และเข้าใจคนอื่น คือต้องไปอยู่กับธรรมชาติ“ จึงทำให้เธอมักจะออกไปท่องเที่ยวเดินป่าเป็นประจำ ซึ่งทำให้ชื่นชอบการท่องเที่ยวธรรมชาติมาตลอด และเมื่อเธอเป็นครูอยู่ที่ไทย แทบทุกวันช่วงเช้า ราว ๆ ตี 5 เธอก็จะออกไปปั่นจักรยานขึ้นเขา พอถึงประมาณ 6 โมง ก็จะกลับมาอาบน้ำแต่งตัวเตรียมของขึ้นรถโรงเรียนไปรับนักเรียน พอหลังจากสอนพิเศษเสร็จตอน 2 ทุ่มครึ่ง เธอก็จะปั่นจักรยานกลับบ้าน โดยเธอจะทำแบบนี้แทบทุกวันเป็นกิจวัตร

กับเด็ก ๆ ที่เธอดั้นด้นไปช่วยเหลือ

’แต่ถ้าปิดเทอมเมื่อไหร่ เราก็จะหายตัวไปเลย (หัวเราะ) เก็บเสื้อผ้าใส่เป้ออกไปเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว ไปเดินป่าขึ้นดอย โดยเราจะกลับมาอีกทีก็ช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอมเลย ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่เราออกไปท่องเที่ยวคนเดียวแบบนี้ คุณแม่ก็เป็นห่วง เพราะไปหลายวันและติดต่อเราไม่ได้ จนหลัง ๆ เขาเริ่มเข้าใจ อีกทั้งคุณแม่บอกเราว่าถ้าทำอะไรแล้วไม่เดือดร้อนตัวเอง ไม่เดือดร้อนที่บ้าน ไม่เดือดร้อนคนอื่น ทำแล้วมีความสุข ก็ทำไปเถอะ“ ครูสุบอก

ทั้งนี้ หลังจากใช้ชีวิตเป็นครูสอนเด็กและออกท่องเที่ยวช่วงปิดเทอมแบบนี้มาจนเข้าสู่ปีที่ 5 ปรากฏได้มีกลุ่มเพื่อน ๆ สมัยที่เรียนอยู่ที่ประเทศมาเลเซียมาหาครูสุ และขอให้เธอพาไปเดินป่า โดยครูสุบอกว่า ทริปนั้นถ้าจำไม่ผิดคือไปเดินป่าที่สันป่าเกี๊ยะ ดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งทริปนั้นทำให้ไปพบเด็กอายุเกือบ 10 ขวบคนหนึ่ง ที่ยังอ่าน ก.ไก่ ไม่ได้ นับเลขก็ไม่ได้ จนเพื่อน ๆ ชาวมาเลเซียตั้งคำถามกับเธอว่า ทำไมเด็ก ๆ ที่ประเทศของเธอถึงยังไม่รู้หนังสือ หรือทำไมถึงไม่มีพื้นฐานการศึกษาเลย ซึ่งทำให้เธอรู้สึกอึ้ง จึงได้บอกกับเพื่อนชาวมาเลเซียว่า เด็ก ๆ บนดอยไม่ค่อยได้รับโอกาสทางการศึกษาเหมือนกับเด็กพื้นราบหรือเด็กในเมือง เพื่อน ๆ เขาก็บอกมาว่าเขาไม่เข้าใจ ทำไมเป็นประชาชนในประเทศเหมือนกันแต่ไม่เท่าเทียมกัน

บรรยากาศตอนที่สอนหนังสือเด็ก ๆ

’พอเพื่อนพูดขึ้นมาแบบนี้ ทำให้เราเองก็มีความรู้สึกว่าเออว่ะ…ทำไม? แล้วก็เก็บเรื่องนี้มาคิดอยู่ตลอดเวลา จนมาถึงช่วงปิดเทอมอีกครั้ง คราวนี้เราเก็บเสื้อผ้าใส่เป้ขึ้นรถไฟไปเชียงใหม่ ขึ้นดอยไปที่หมู่บ้านเดิม แต่รอบนี้ไปคนเดียว ก็ไปเจอเข้ากับน้ำป่า ดีที่ได้ชาวบ้านช่วยไว้ จนได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นสัปดาห์ กว่าที่ชาวบ้านจะต่อแพมาส่งเราลงดอยได้ ทำให้เราได้เห็นว่าคนบนดอยไม่ได้คิดเรื่องผลประโยชน์ เขาช่วยเราด้วยใจ ทำให้เรารู้สึกว่าจะมีสักกี่คนในสังคมที่เราโตมา ที่อยู่ ๆ เห็นคนอื่นลำบากก็เข้าช่วยเหลือ ก็เลยมีความรู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งเรามีมากพอแล้ว เราจะกลับไปตอบแทนคนที่นั่นให้ได้“ ครูสุเล่าให้เราฟังเรื่องนี้ ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอกลายมาเป็น “ครูอาสา” อีกสถานะหนึ่ง

หลังจากนั้นเธอก็กลับมาสอนที่โรงเรียนเดิมอีก 1 เทอม แล้วก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อจะมีเวลาทำในสิ่งที่ตั้งใจ แต่ก็ยังเป็นครูอยู่ โดยรับสอนพิเศษ เพื่อหาเงินทุนไว้ไปทำในสิ่งที่ได้ตั้งใจ คือการเป็น “ครูอาสาสอนเด็กบนดอย” โดยหลังเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เป้าหมายแรกที่ไปสอนคือที่หมู่บ้านบนดอยที่เธอเคยไปและประทับใจในน้ำใจของชาวบ้านที่นั่น โดยหลังภารกิจครั้งแรกลุล่วง จากนั้นเธอก็ออกไปสอนหนังสือเด็ก ๆ บนดอยอีกเรื่อย ๆ จนทำให้ “ครูอาสา” กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเธอ

เส้นทางขึ้นดอย – ห้องน้ำบนดอย

’ทุก ๆ อาทิตย์จะไปออกค่ายทำจิตอาสาอยู่ตลอด ซึ่งวันจันทร์ถึงพฤหัสบดีจะเป็นเวลาทำมาหากินหาเลี้ยงชีพของเรา โดยเรามีธุรกิจขายต้นไม้อยู่ แต่พอถึงวันศุกร์ เราก็จะแบกเป้ออกเดินทาง และจะกลับบ้านมาตอนช่วงดึกของวันอาทิตย์ เพื่อเตรียมตัวออกไปทำมาหากินในวันจันทร์ต่อไป แต่ในแต่ละช่วงของทุก ๆ ปีนั้นเราจะตั้งเป้าหมายเอาไว้เลยว่า จะต้องมี 1 สัปดาห์ที่เราจะขึ้นดอยไปสอนเด็ก ๆ บนดอยที่เราไปสอนประจำ ซึ่งจะมีอยู่ 2 ที่ คือ จ.เชียงใหม่ และ จ.น่าน โดยเราจะเตรียมอาหารไปกินแค่ 2 วัน ที่เหลือก็จะหาปลา เก็บผัก ขุดหัวเผือกหัวมันกิน ซึ่งทุกครั้งที่ขึ้นไปใช้ชีวิตสอนเด็กบนดอย มันเหมือนเรากลับบ้าน“ ครูสุบอกเล่าและสะท้อนถึงความรู้สึก

นอกจากเป็นครูอาสาแล้ว เธอยังรับหน้าที่ช่วยเป็น “ตัวกลางเพื่อเปิดรับสมัครครูอาสาและแพทย์อาสา” อีกด้วย โดยเธอเล่าให้ฟังถึงที่มาในเรื่องนี้ว่า มีครั้งหนึ่งเธอได้ไปบริจาคของที่พื้นที่ อ.อุ้มผาง และได้รับอุปการะเด็ก เป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ โดยให้ทุนการศึกษาเด็กที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาจำนวน 5 คน ซึ่งมีเด็กคนหนึ่งที่รับอุปการะเสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย เนื่องจากการเดินทางออกมาหาหมอที่โรงพยาบาลนั้นมีความยากลำบาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มทำค่ายแพทย์อาสาขึ้นเพื่อไปรักษาเด็กและชาวบ้านบนดอยในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งทุกที่ที่ไปออกค่ายแพทย์อาสาจะต้องกลับไปซ้ำ เพราะต้องคอยไปติดตามอาการคนไข้อยู่ตลอด ซึ่งเธอเล่าว่า คนที่สมัครมาเป็นครูอาสาและแพทย์อาสาเพื่อไปออกค่ายกับเธอนั้น ทุกคนน่ารักมาก เพราะการออกค่ายแบบนี้ นอกจากจะไม่ได้เงินแล้ว ยังต้องควักเงินตัวเองอีกด้วย ซึ่งหลาย ๆ คนได้บอกกับเธอว่า เมื่อก่อนเคยคิดแค่ทำงานเก็บเงินไปเที่ยว แต่ตอนนี้รู้สึกชีวิตมีจุดมุ่งหมายเพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้มาออกค่ายอาสาแบบนี้ ทำให้หลายคนจึงตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะทำงานเก็บเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ต้องการโอกาสและความช่วยเหลือ

กับเพื่อน ๆ ค่ายอาสา

’คำพูดตรงนี้ พอเราได้ยิน มันทำให้เราก็รู้สึกดีมาก ๆ ที่ทำให้คนที่มาทำงานออกค่ายกับเรานั้น มาทำงานแล้วเขารู้สึกว่าเขามีความสุขกับการทำงาน ทั้ง ๆ ที่เหนื่อย เพราะเอาจริง ๆ ออกค่ายกับเรานั้น แทบจะไม่ได้เที่ยวเลย ส่วนใหญ่จะทำแต่งานกันมากกว่า“ ครูสุเล่าให้เราฟัง พร้อมกับแววตาเป็นประกายด้วยความภูมิใจจากเรื่องนี้

ก่อนจบการสนทนากับ “ครูสุ-สุนันทา คีรีรักษ์” ทางครูอาสาสาวแกร่งคนนี้ได้บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า จากที่เคยคิดว่าหน้าที่การงานทั้งหมดคือการใช้ชีวิต แต่ปรากฏเธอคิดผิด หลังได้ออกเดินทางและได้ช่วยเหลือทำประโยชน์ให้กับคนอื่นจึงรู้ว่าแบบนี้มากกว่าที่เรียกว่าได้ใช้ชีวิตจริง ๆ ที่เป็นการ “ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและมีความสุข” ส่วนถ้าถามว่า จะทำแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่? คงยังตอบไม่ได้ แต่ได้ตั้งใจเอาไว้ว่า คงทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว… ’หากยังมีความสุข เราก็คงยังทำต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราอยากทำ แม้ไม่ได้เงินเดือนอะไร เราก็ยังอยากทำแบบนี้อยู่ดี แค่ได้สอนเด็ก ๆ เหล่านี้ เราก็มีความสุขแล้ว เพราะสอนให้เด็ก ๆ ไปเท่าไหร่เขาก็เก็บไว้หมด ที่สำคัญยิ่งเราให้เขาไปมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งให้เรากลับมามากเท่านั้น โดยสิ่งที่เขาให้เรากลับมานั้น ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่สิ่งของ แต่คือรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ที่สำหรับเราแล้ว…

  มีคุณค่าทางจิตใจมาก“.

‘คุณแม่’ คือ ‘ไอดอลชีวิต’

กับรางวัลด้านจิตอาสาที่ได้รับ

จากการทำกิจกรรมเพื่อเด็กบนดอย สอนหนังสือ ออกค่ายแพทย์อาสา เพื่อช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ห่างไกลมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด “ครูสุ-สุนันทา คีรีรักษ์” นั้นได้รับ รางวัลทูตวัฒนธรรม เยาวชนและบุคคลต้นแบบแห่งชาติ ปี 2565 ด้านผู้มีความเป็นเลิศด้านจิตอาสา-จิตสาธารณะ ซึ่งทำให้เธอยิ่งรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก ๆ ที่ทำเรื่องนี้ โดยเธอได้เผยความรู้สึกหลังจากได้รับรางวัลที่ทรงเกียรตินี้ให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่ารู้สึกดีใจที่มีคนมองเห็นสิ่งที่เธอทำ และรางวัลที่ได้รับนี้ก็เหมือนเป็นการเติมพลังให้กับเธอที่จะตั้งใจทำตั้งใจช่วยเหลือคนอื่นยิ่งขึ้น และก็น่าจะทำให้บางคนที่เคยคาใจเธอ ได้สิ้นความสงสัยในเรื่องนี้ได้ โดยเธอเล่าว่า มีบางคนที่มีคำถามว่า เธอทำจริงหรือเปล่า? หรือแค่ทำดีเพราะอยากปั้นคอนเทนต์? ซึ่งจริง ๆ เธอก็ไม่ได้เก็บเอามาคิด เพราะถ้าเป็นคนที่ติดตามการทำงานของเธอจริง ๆ ก็จะรู้ว่าทำจริง และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่เธออยากทำเช่นนี้ ก็เพราะมี “คุณแม่เป็นต้นแบบ” เพราะคุณแม่นั้นเป็น “หญิงเหล็ก” ที่ทำให้เธอซึมซับทั้งเรื่องความเข้มแข็ง อดทน และเสียสละ… ’แม่จะบอกกับเราเสมอ ซึ่งทำให้เราชอบทำงานที่เกิดประโยชน์กับคนอื่น แม่บอกเสมอว่า ความสุขที่ยั่งยืนที่สุดมาจากการให้“.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน