…นี่เป็นใจความสำคัญส่วนหนึ่งจากบทความของทาง ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับ “ปัญหาการติดพนัน” ที่ทาง เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน ได้มีการเผยแพร่ไว้…

“ติดพนัน” นี่ก็ใช่ “การติด (Addiction)”

ในทาง “พฤติกรรม” นี่ก็ “เป็นปัญหา!!”

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ โครงการศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ประจำปี 2564 โดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน นั้นพบว่า… มีจำนวนคนไทยเล่นพนันเพิ่มมากขึ้นอีกประมาณ 1.9 ล้านคน โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา คนไทยเล่นการพนันกันประมาณ 32.33 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 59.6 ซึ่งพฤติกรรมการ “ติดพนัน” ของคนไทยนั้น สามารถติดกันได้ง่ายและรวดเร็ว โดยในจำนวนนักพนันไทยที่เพิ่มมากขึ้นนี้ มีทุกเพศและทุกช่วงวัย

ขณะที่ในบทความเกี่ยวกับ “ปัญหาการติดพนัน” ที่ได้อ้างอิงไว้ข้างต้น ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อในวันนี้ ชี้ไว้ว่ายิ่งการพนันชนิดใดเห็นผลได้เร็ว…ก็จะยิ่งทำให้ติดการพนันชนิดนั้น ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

การ “เสพติดพนัน” นั้น มีการระบุไว้ว่า… ปัจจุบัน “จัดว่าเป็นโรคทางสมอง” โดยจากงานวิจัยพบว่า วงจรการทำงานของสมองของผู้ติดการพนันมีลักษณะที่ต่างไปจากคนทั่วไป เช่น วงจรการควบคุมตนเอง นอกจากนี้ สารสื่อประสาทในสมองชนิดหนึ่ง คือ เซโรโทนิน (serotonin) อาจเสียสมดุลในผู้ที่ติดพนัน โดยพบว่ามีระดับการทำงานลดลง

“การติดการพนันก่อให้เกิดความบกพร่องในชีวิต ทั้งทางด้านจิตใจ ร่างกาย สังคม หรืออาชีพ อย่างรุนแรง มีผลกระทบต่อครอบครัว ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ และการเงิน” …ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวได้ระบุไว้ และก็รวมถึง…

ในเพศชายกับเพศหญิงการเล่นพนันมีความแตกต่างกัน กับเพศหญิงมีแนวโน้มเล่นพนันแบบที่ไม่ต้องใช้ยุทธวิธี และเทียบกับเพศชายแล้ว เพศหญิงมีแนวโน้มเล่นเพื่อหวังหนีปัญหาชีวิตมากกว่า มีแนวโน้มมีปัญหาติดแอลกอฮอล์หรือทำสิ่งผิดกฎหมายน้อยกว่า และก็ยังมีแนวโน้มที่จะพยายามหาความช่วยเหลือในการ “รักษาการติดพนัน” มากกว่าเพศชาย

จากข้อมูลเกี่ยวกับ “ปัญหาการติดพนัน” ในทางวิชาการด้านจิตเวช ยังมีการระบุไว้อีกว่า… คนทั่วไปที่เล่นการพนันอาจเล่นเพราะรู้สึกสนุกกับการที่ได้เสี่ยง หรือได้ลุ้นที่จะชนะพนัน ในขณะที่บางคนเล่นเพื่อหวังทำให้อารมณ์ตนเองดีขึ้น หรือเพื่อหวังหลีกหนีจากปัญหามรสุมในชีวิต อย่างไรก็ตาม กับผลลัพธ์ในความเป็นจริงนั้น จากการศึกษาพบว่า นักพนันประมาณ 8-47% ติดสารเสพติดร่วมกับการติดพนัน ด้วย และ ในนักพนันจะพบกลุ่มอาการทางจิตเวชได้มากกว่าคนทั่วไปเช่น เกิดปัญหาบุคลิกภาพ โดยเฉพาะ บุคลิกภาพแบบอันธพาล รวมไปจนถึง อาการซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย!!

“ติดพนัน” นั้น “พยายามฆ่าตัวตายมาก”

พยายามอย่างน่าเศร้ากันราว “15-20%”

การเป็น “โรคติดพนัน” นั้น แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ…ระยะแรก เป็นช่วงชนะรางวัลใหญ่ หรือชนะติดกันหลายครั้ง ทำให้มองว่าจะชนะไปเรื่อย ๆ รู้สึก ตื่นเต้นเมื่อได้พนัน และเริ่มเพิ่มเงินพนันมากขึ้นเรื่อย ๆ… ระยะกลาง เป็นช่วงโอ้อวดเกี่ยวกับการชนะพนันบ่อยครั้ง จะเริ่มคิดเกี่ยวกับการพนันอยู่ตลอด และอาจยืมเงินครอบครัว เพื่อน หรือทำผิดกฎหมายเพื่อให้ได้เงินมาใช้พนัน อาจเริ่มโกหกครอบครัว เพื่อน เกี่ยวกับการเล่นพนัน เริ่มไม่สุงสิงกับใคร กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย ชีวิตครอบครัวเริ่มไม่มีความสุข หาเงินมาใช้หนี้ไม่ได้ และอยากเล่นพนันอีกให้เร็วที่สุดโดยหวังจะชนะ หวังได้เงินที่เสียไปคืน

และ ระยะสุดท้าย เป็นช่วงใช้เวลากับการพนันอย่างมาก เหินห่างแปลกแยกจากครอบครัว เพื่อน คิดโทษคนอื่น โดยอาจร่วมกับ เกิดความรู้สึกผิด อาจหย่าร้าง อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมายจริงจังเพื่อจะนำเงินมาใช้พนัน จนถูกจับ หรือ…

อาจใช้สิ่งเสพติด…มีปัญหาทางอารมณ์

มีความรู้สึก “สิ้นหวัง” และ “อยากตาย”

ทั้งนี้ ข้อมูลโดย ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่เผยแพร่ไว้ทาง เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน ได้ระบุไว้ด้วยว่า… แม้ปัญหานี้เป็นภาวะเรื้อรัง แต่ “ติดพนันสามารถรักษาได้” โดยการ ให้คำปรึกษา (counseling) การ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behavioral therapy) หรือการ เปลี่ยนแนวคิด (cognitive therapy) และอาจเข้า ร่วมกลุ่มให้กำลังใจ ในการเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนการ รักษาด้วยยา แม้ยังไม่มีการรับรองว่าสามารถใช้ได้ผลกับปัญหานี้ แต่ก็อาจมีส่วนช่วยได้บ้าง ขณะที่ ถ้ามีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ติดสารเสพติด ก็ต้องรักษาควบคู่ ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น…

“ติดพนันรักษาได้” หากติด “ควรรักษา”

มีผลต่อ คุณภาพชีวิตผู้ติด-ครอบครัว”

รักษาหาย-ไม่ติดซ้ำ…ชีวิตย่อม “ดีขึ้น”.