รายงานข่าวจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กรุงเทพหานคร (กทม.) แจ้งว่า ในหน้าฝนนี้ สปภ.ได้รับแจ้งมีเหตุสัตว์มีพิษ เข้าบ้านเรือนประชาชนบ่อยครั้ง และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุหรือป้องกัน เบื้องต้น สปภ.ให้ข้อมูลแนะนำข้อมูลสัตว์มีพิษและวิธีป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษเบื้องต้น เนื่องจากสัตว์มีพิษบางชนิดเป็นสัตว์ที่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ผึ้ง ต่อ แตน แมงมุม และมดคันไฟ เป็นต้น เพื่อให้พ้นอันตรายจากสัตว์ ดังกล่าวเหล่านี้   

โดยในส่วนงูนั้น สายพันธุ์ที่พบมาก ได้แก่ งูเห่า งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ งูเหลือม งูหลาม เป็นต้น เนื่องจากสัตว์เลื้อยคลานดังกล่าวเป็นสัตว์เลือดเย็น ที่ต้องการความอบอุ่น ที่พักอาศัยจึงเป็นที่ที่เหมาะสม ต้องการหลบภัยที่มีความอบอุ่น  งูมีพิษส่วนใหญ่จะมีดวงตาเป็นรูปวงรีหัวเป็นรูปสามเหลี่ยมมีรอยบุ๋มอยู่ตรงกลางระหว่างหัวตาและที่สำคัญ คือ มีเขี้ยว โดยงูมีพิษมักจะฉกเหยื่อ หรือแผ่แม่เบี้ย  วิธีป้องกันอันตรายจากงู คือ หมั่นตัดหญ้าอยู่เสมออย่าปล่อยให้รก ใส่ตะแกรงท่อระบายน้ำทุกอัน ป้องกันไม่ให้งูเลื้อยขึ้นจากท่อระบายน้ำ หากเจองูเข้าโดยบังเอิญให้ตั้งสติดีๆ ให้ยืนนิ่ง ๆ ดูท่าที เพราะส่วนใหญ่เมื่องูพบคนจะเลื้อยหนีไปเอง และโรยปูนขาวไว้รอบๆ บริเวณบ้าน  เพื่อป้องกันมิให้งูเลื้อยเข้ามา

ผึ้ง เป็นแมลงที่มีเหล็กใน เมื่อต่อยแล้วเหล็กในแทงจะหลุดและปล่อยน้ำพิษผึ้งจะตายหลังต่อย ผึ้งที่ต่อยศัตรู คือ ผึ้งงาน และผึ้งนางพญา ต่อ แตน ตัวเมียมีเหล็กในและต่อมพิษเช่นเดียวกับผึ้ง แต่เมื่อต่อยศัตรูแล้ว จะๆไม่ปล่อย หรือทิ้งเหล็กใน จึงทำให้สามารถใช้เหล็กในต่อยศัตรูได้อีกหลายครั้ง ซึ่งต่อมพิษมีส่วนประกอบที่เป็นสารเคมีแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ เข้าสู่ร่างกาย แล้วมีผลทำให้เกิดอาการเจ็บปวด กล้ามเนื้ออักเสบ คันบวม เม็กเลือดแดงแตก ออกฤทธิ์ ต่อระบบประสาท วิธีป้องกันอันตรายจากผึ้ง ต่อและแตน คือ เมื่อเห็นรังผึ้ง ต่อ แตน อย่าเข้าไปใกล้ และอย่านำสิ่งของใดๆ ขว้างปาใส่รัง เพราะจะทำให้มันบินมากัดต่อยได้  ไม่ใส่เสื้อผ้าสีสดใส หรือน้ำหอมในบริเวณที่สัตว์เหล่านี้อยู่ เพราะจะดึงดูดสัตว์เหล่านี้มาไต่ตอม เสี่ยงต่อการถูกกัดต่อย  สอนให้เด็กรู้จักป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์เหล่านี้กัดต่อยด้วย เช่น เวลาไปเล่นที่สนามหญ้า ให้สังเกตดูว่ามีสัตว์พวกนี้อยู่ในบริเวณดังกล่าวหรือไม่  

ตะขาบ  เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ชอบซุกตัวอยู่บริเวณที่อับชื้นและรก เช่น ใต้ตุ่มน้ำ กองไม้ ซากต้นไม้ เปียกน้ำ ซึ่ง พิษตะขาบ โดยทั่วไปแม้ไม่มีอาการรุนแรง ส่วนมากจะปวด บวมและแดงสักเล็กน้อย บริเวณที่กัดมีรอยเขี้ยวเป็นสองจุด แต่ในรายที่อาการรุนแรงอาจะพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโตและกดเจ็บ ปวดศีรษะ ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียนและหนักไปกว่านั้นบริเวณที่ถูกกัดอาจบวมแดงจนเป็นเนื้อตายจำกัดอยู่เฉพาะที่

แมงป่อง  เป็นสัตว์ที่ชอบออกหากินในเวลากลางคืน และเวลากลางวันมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ใต้โพรงก้อนหินใต้กองไม้ ใต้ใบไม้ ตามรอยแตกใต้พื้นบ้านที่มีความชื้น โดยแมงป่องจะทำลายผู้คนโดยบังเอิญหากถูกรบกวนหรือถูกต่อยจะมีอาการไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับพันธุ์ของแมงป่อง จำนวนน้ำพิษ บางรายอาจมีอาการเจ็บเพียงเล็กน้อย บางรายมีอาการมากจนถึงขั้นเป็นอันตราย เพราะพิษของแมงป่องมีพิษต่อระบบประสาทและระบบโลหิต มีอาการปวดทันที กล้ามเนื้อกระตุก อาเจียน ชัก น้ำลาย ฟูมปาก กระหายน้ำมาก ตัวเขียวส่งผลให้หัวใจล้มเหลว  วิธีป้องกันอันตรายจากตะขายและแมงป่อง ด้วยการอุดรูที่พื้นและผนังที่แตกร้าวหรือเป็นช่อง โดนเฉพาะในห้องน้ำที่มีความชื้นสูง รวมถึงพื้นที่ที่แดดส่องไม่ถึง ซึ่งอาจเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้าย และดูแลพื้นที่บริเวณรอบบ้านอย่าปล่อยให้รกร้าง ทั้งนี้หากจำเป็นต้องเข้าไปในที่รกร้าง อับชื้น ควรแต่งกายให้มิดชิด สวมรองเท้าบู๊ทละใช้ไม้ตีตามจุดต่างๆเพื่อให้สัตว์เหล่านี้ตกใจหนีไป

แมงมุม โดยแมงมุมที่มีพิษคือ แมงมุมหม้ายดำ มักอาศัยอยู่ในบ้านในที่มืด ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น  ซึ่งพิษจะออกฤทธิ์ต่อประสาท ทำให้ผิวหนังตายมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ  อาการเฉพาะของพิษ คือ อ่อนแรง สั่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง ท้องแข็ง เป็นอัมพาต ซึม และชักในรายที่แพ้พิษรุนแรง  วิธีป้องกัน คือการดูแลความสะอาด อย่าปล่อย ให้รกรุงรัง ไม่ให้สัตว์มีพิษ ทุกชนิดมาอาศัย หลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานในที่รก หากจำเป็นต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายจากการถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก ถุงมือ หมวกคลุมใบหน้า ศีรษะ เป็นต้น

และสุดท้ายคือ มดคันไฟ  จะอาศัยทำรังอยู่ใต้ดินที่ร่วนซุย ผู้ถูกกัดต่อยจะรู้สึกเจ็บแสบคล้ายถูกไฟลวกจึงเรียกและจะมีอาการคันมากเมื่อเกาผิวหนังจะบวมแดงแผ่กว้างขึ้น วิธีป้องกันคือดูแลความสะอาดบริเวณที่จะเป็นแหล่งอาหารของมด  และไม่ควรทิ้งภาชนะทีใส่อาหารไว้โดยไม่ทำความสะอาดก่อน  ใช้ปูนขาวใส่ภาชนะรองที่ขาตู้และหากพบมดไต่ขึ้นมาตามรอยแตกร้าวของคอนกรีตให้ใช้น้ำมันก๊าดเทลงไปในร่อง กรณีที่พบรังมด ให้ใช้น้ำที่แช่หน่อไม้ สดหรือหน่อไม้ดองเปรี้ยวราดไปที่รังมดจะอพยพไปอยู่ที่อื่นทันที แต่ถ้าต้องการกำจัดให้หมดสิ้นไป ให้ใช้การบูรและยาสูบอย่างละ 1ส่วน นำไปใช้ตั้งไฟให้เดือด จากนั้นเอาไปราดที่รังมดก็จะตายและไม่กล้ามาทำรังอีก  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.หรือสายด่วน 199