ปัญหาเรื่อง “หมา ๆ” ที่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตมีคนให้ความสนใจจำนวนมากนั้น คงต้องยอมรับว่า สุนัข หรือ หมา เป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมเลี้ยงมากและเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะหลังจากที่ได้มีการออกกฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โทษถึงขั้นติดคุกติดตะราง ถือว่ามีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับคนที่ไปทำร้ายสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งน้องหมาสี่ขาก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ด้วย

จากปัจจุบันที่มีสื่อสังคมออนไลน์บนโลกโซเชียลนั้นยิ่งส่งผลให้เกิดกระแส มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก หากมีข่าวการทารุณสัตว์ที่โหดร้ายต่าง ๆ แต่ก็มีอีกมุมหนึ่งที่เกิดคำถามในสังคมเช่นกันว่า ขณะที่มีกฎหมายออกมาปกป้องสัตว์ให้ความดูแลคุ้มครองอย่างมากมายนั้น แล้วหากคนถูกสัตว์กัดหรือถูกทำร้ายบ้าง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีเจ้าของอย่าง “สุนัขจรจัด” ใครจะรับผิดชอบ

ข้อมูลสถิติประชากรสุนัขในกรุงเทพฯ มีจำนวน 600,000 ตัว เป็นสุนัขจรจัดอยู่ประมาณ 100,000 ตัว ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีหน้าที่ควบคุมสุนัขจรจัดโดยได้ออก ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุม การเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข เพื่อไม่ให้คนที่เลี้ยงสุนัข นำไปทิ้งจนกลายเป็นสุนัขจรจัดเพิ่มมากขึ้น โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2549 ให้คนเลี้ยงสุนัขนำสุนัขไปขึ้นทะเบียนโดยการฝังไมโครชิพ ห้ามไม่ให้สุนัขของตนเองไปก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ เช่น ห้ามไปอุจจาระเรี่ยราดหน้าบ้านคนอื่นหรือในที่สาธารณะ ต้องพกบัตรประจำตัวสุนัขทุกครั้งเมื่อนำสุนัขออกจากบ้าน ให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ หากนำสุนัขไปทิ้งก็จะมีความผิด โดยกทม.สามารถติดตามได้จากไมโครชิพ ดังนั้นสาระสำคัญของข้อกฎหมายดังกล่าว การฝังไมโครชิพให้กับสุนัขจึงเป็นประเด็นสำคัญเพราะจะบอกรายละเอียดของผู้ที่เป็นเจ้าของ ว่ามีที่อยู่อาศัยที่ไหน สุนัขดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร

แต่ปัญหาที่ผ่านมา กทม.ไม่สามารถบังคับให้เจ้าของนำสุนัขไปฝังไมโครชิพได้ เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะไปตรวจสอบได้ว่าสุนัขในบ้านของใครยังไม่ได้ฝังไมโครชิพบ้าง ประกอบกับเจ้าของสุนัขไม่ให้ความร่วมมือเพราะกลัวว่าเมื่อสุนัขของตนไปสร้างความเดือดร้อนแล้วจะต้องมีความผิด อีกทั้งในช่วงแรกที่กฎหมายออกมานั้นมีค่าใช้จ่ายในการฝังไมโครชิพที่ตัวละประมาณ 500 บาท เป็นการเพิ่มภาระมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กทม.ก็มีความพยายามที่จะให้การควบคุมดังกล่าวได้ผล จนถึงขั้นใช้งบประมาณของ กทม.จัดซื้อไมโครชิพมาฝังให้ฟรี ซึ่งปัจจุบันมีสุนัขที่ได้รับการฝังไมโครชิพกว่า 60,000 ตัวเท่านั้น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโครงการบังคับนำสุนัขฝังไมโครชิพยังไม่เห็นผลใด ๆ ในทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่การลดจำนวนสุนัขจรจัดได้ รวมทั้ง กทม. ก็ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติใด ๆ ที่จะใช้ประโยชน์จากไมโครชิพที่ติดไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังเดินหน้าจัดซื้อไมโครชิพเพื่อฝังให้สุนัขตลอดมาเป็นเวลาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่เดินหน้าฝังไมโครชิพดังกล่าว ผู้ที่ได้ประโยชน์กลับกลายเป็นบริษัทฯขายไมโครชิพมากกว่า

เมื่อโครงการดังกล่าวไม่ได้ผล จึงอาจเป็นข้อจำกัดให้ปัญหาสุนัขจรจัดยังคงอยู่ เพราะยังมีสุนัขบ้านที่ถูกทิ้งกลายเป็นสุนัขจรจัดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นที่ผ่านมาสิ่งที่ กทม.ทำได้ก็คือการเข้าไปดำเนินการจับสุนัขจร จัดไปไว้ที่ศูนย์พักพิงของ กทม. แต่ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มคนที่รักสุนัข หรือคนที่ให้ข้าวให้น้ำสุนัขที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ขัดขวางไม่ให้ กทม.นำไป เพราะยังอยากเลี้ยงไว้ในที่เดิม กทม.ทำได้เพียงการเข้าไปฉีดวัคซีนป้อง กันสุนัขบ้า จับทำหมันไม่ให้เพิ่มจำนวน ซึ่งสุนัขจรจัดที่มีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 100,000 ตัวนั้น ก็มีทั้งคนที่ไม่ชอบเช่นกัน อีกทั้งสุนัขเหล่านี้ก็มีที่ดุร้ายและอาจไปกัดคนได้

เพราะฉะนั้น หากสุนัขจรจัดกัดคน กทม. คงจะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยาก เพราะด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบต้องดูแลควบคุมสุนัขจรจัดตามกฎหมาย แต่ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้.

ทีมข่าว กทม. : รายงาน