ซึ่งล่วงเลยมาถึงปี 2565 นี้ สถานการณ์นี้ยังคงมีอยู่มากน้อยอย่างไร??…กับประชาชนผู้ใช้บริการโดยทั่วไปก็ไม่ทราบกันแน่ชัดนัก?? อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวเกี่ยวพันกรณี “ต้นทุนทางสุขภาพ” ซึ่งกรณีนี้ก็มีผลการศึกษาที่น่าสนใจ ที่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำบางส่วนมาสะท้อนต่อให้ลองพิจารณากัน โดยกรณีต้นทุนทางสุขภาพนี้ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อจะคาดการณ์ “สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทย”  รวมถึงเพื่อให้มี…

“ข้อมูลเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย”

ให้เกิดนโยบายที่ “ตอบโจทย์-ตรงจุด”

เกิดความคุ้มค่า…โดย “ไม่เกิดปัญหา”

ทั้งนี้ การมีรายงานการศึกษาเรื่องนี้กรณีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา “ระบบสาธารณสุข” โดยทาง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สนับสนุนทุนเพื่อให้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งผลศึกษานั้นได้มีการนำมาเปิดเผยผ่านเวทีประชุมวิชาการในวาระครบรอบ 30 ปี สวรส. ผ่านเวทีเสวนา “ความรู้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ของต้นทุนบริการ” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย “ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ” ของประเทศไทยนั้น พบว่า “ไทยมีค่าใช้จ่ายสุขภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

“สุขภาพประชาชน” คือ “ตัวแปรสำคัญ”

บนเวทีประชุมวิชาการ-เวทีเสวนาดังกล่าว มีนักวิชาการด้านระบบสุขภาพหลาย ๆ คน ขึ้นเวทีเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูล “สถานการณ์ค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพประชาชนคนไทย” ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ “ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายโดยรวมด้านสุขภาพของประเทศ” และก็ “อาจกระทบการดูแลสุขภาพประชาชน” ดังนั้น “การกำหนดนโยบาย” เกี่ยวกับการให้บริการด้านสุขภาพในอนาคตจึงถือเป็นเรื่อง สำคัญอย่างมาก” โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายให้ ตรงจุดคุ้มค่า” ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบทด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างประชากร เทคโนโลยีการรักษาโรค

เกี่ยวกับกรณีนี้เรื่องนี้ หนึ่งในนักวิชาการบนเวทีนี้ คือ ดร.อรทัย เขียวเจริญ ผู้จัดการสำนักพัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย (สรท.) สะท้อนไว้ว่า… ในการจัดทำ “ข้อมูลต้นทุนรายบุคคล” ของประเทศนั้น สรท. ได้เป็นแกนหลักในการระดมความร่วมมือในการจัดทำข้อมูลต้นทุนฯ โดยเริ่มต้นศึกษาข้อมูลของโรงพยาบาล 6 แห่ง จนได้ชุดข้อมูลมาตรฐาน-วิธีที่เป็นมาตรฐาน และต่อมามีโรงพยาบาลต่าง ๆ ขอเข้าร่วมเพิ่มขึ้น จนสามารถขยายขอบเขตการศึกษาไปถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงเรียนแพทย์ ซึ่งเมื่อมีโรงพยาบาลเข้าร่วมมากขึ้น จึงส่งผลดีให้กับการศึกษาเรื่องนี้ โดยทำให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้น…

การมีโรงพยาบาลต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มขึ้นทำให้ มีข้อมูลการบริการที่แตกต่างซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีแค่ 14 หมวดค่ารักษา ก็ขยายเป็น 400 หมวด ทำให้คำนวณและวิเคราะห์ต้นทุนรายกิจกรรมได้แม่นยำยิ่งขึ้น จนได้ ชุดข้อมูลต้นทุนทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ซึ่งอนาคตหวังว่าแต่ละโรงพยาบาลจะจัดทำข้อมูลต้นทุนค่าบริการนี้ได้เอง และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริการและการบริหารจัดการต้นทุนของโรงพยาบาลเองได้ เพื่อ พัฒนาการให้บริการประชาชนได้ตรงจุดและตอบโจทย์ความต้องการจริง ๆ” ของพื้นที่ …ดร.อรทัย ระบุไว้

ขณะที่ ภญ.ฐิติมา พยัฆศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านสนับสนุนบริการ โรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้หยิบยกกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบไว้ว่า… ในช่วงที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เกิด “โควิด-19 แพร่ระบาด” ทางโรงพยาบาลสมุทรสาครซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ ได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุน โดยพบว่า… ต้นทุนค่าบริการปี 2564 นั้นสูงกว่าปี 2563 ต้นทุนค่าบริการที่เพิ่มมากขึ้นมีทั้งค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าลงทุน ขณะที่ต้นทุนค่าบริการผู้ป่วยในนั้นได้มีการเพิ่มมากขึ้นถึง 60% …นี่เป็น “ข้อมูลต้นทุน” ของโรงพยาบาลแห่งนี้ที่ มี คีย์เวิร์ด” จาก วิกฤติโควิด-19″ ที่เกิดขึ้น ซึ่ง…

เป็น “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสุขภาพ”

ด้าน นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก ก็สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบไว้ว่า… ด้วยภูมิประเทศพื้นที่ ผู้มาใช้บริการจึงมีทั้งคนไทยและคนต่างด้าว และเนื่องจากไม่มีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขาจึงมีต้นทุนบริการเพิ่มขึ้นทุกปี โดยพบว่า…ต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ 56% ซึ่งสูงมาก เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลใหญ่ นอกจากนี้ค่าบริการยังมีแนวโน้มไม่สม่ำเสมอ ซึ่งพบว่า ต้นทุนมีสัดส่วนสูงกว่าค่าบริการ โดยค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 40% ต้นทุนผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 60% และยังพบว่า… ต้นทุนเฉลี่ยผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 700 บาทต่อครั้ง แต่ค่าบริการกลับอยู่ที่ 500 บาทต่อครั้งเท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า…ต้นทุนค่าบริการคนต่างด้าวจะสูงกว่าคนไทย โดยคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ครั้งละ 8,000 กว่าบาท คนต่างด้าวอยู่ที่ 10,000 กว่าบาท เพราะคนต่างด้าวไม่ได้รับสิทธิ เช่น ฉีดวัคซีน ทำฟัน ฯลฯ แต่โรงพยาบาลก็ต้องดำเนินการให้…แม้บางครั้งเก็บค่ารักษาไม่ได้ก็ตาม …นี่ก็เป็นกรณี “ต้นทุนสุขภาพของไทยอีกส่วน” ที่น่าพิจารณา

ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ฉายภาพยึดโยง”

“ตอบโจทย์บริการสุขภาพประชาชน”

ด้วย…“นโยบายบริการที่ตรงจุด??”.