นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาในเครือ บมจ. แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ หรือแอลพีเอ็น เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงครึ่งปีหลังนี้เติบโตกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่จากช่วงครึ่งปีแรกซึ่งเป็นผลจากไวรัสโควิด-19 ระบาดรุนแรง และคาดว่าทำให้ทั้งปี 64 มีโครงการใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ประมาณ 52,000-60,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 265,000-300,000 ล้านบาท เติบโต 8% หากเทียบกับปี 63

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ภายในปี 2564 นี้ คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวใหม่อยู่ที่ประมาณ 45,000-52,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 225,000-265,000 ล้านบาท หรือลดลง 5% -20% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันจากปี 63

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งหมด 23,551 หน่วย ลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 คิดเป็นมูลค่า 130,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 โดยที่จำนวนหน่วยการเปิดตัวลดลง แต่มูลค่าสูงขึ้นจากการเปิดตัวโครงการ เดอะฟอเรสเทียส์ โครงการมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านบาท ของ บมจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น

นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ผลจากการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงและอัตราการขายเฉลี่ยที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 คาดว่าหน่วยคงค้างในตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มทรงตัวจากสิ้นปี 63 ในจำนวนทั้งหมด 222,000 หน่วย อาจต้องใช้เวลาในการขายประมาณ 51 เดือนเพื่อระบายหน่วยคงค้างทั้งหมด ซึ่งแบ่งออกเป็นหน่วยคงค้างประเภทอาคารชุดประมาณ 85,300 หน่วย หดตัวลงจากสิ้นปีที่ผ่านมา 6% จากการชะลอแผนและเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่ตั้งแต่ต้นปี 63 ขณะที่หน่วยคงค้างของบ้านพักอาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 63 ประมาณ 4% เป็นจำนวน 136,700 หน่วย ผลจากการที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาเน้นพัฒนาบ้านพักอาศัยมากกว่าอาคารชุด

“ปัจจัยเสี่ยงในตลาดครึ่งปีหลัง นอกเหนือจากความสามารถในการโควิด-19แล้ว มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างทำให้ไม่สามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยได้ตามแผนและปัจจัยในเรื่องของราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาเหล็ก และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราการว่างงานสูง ภาระหนี้ครัวเรือนแตะระดับ 90% ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง แหล่งเงินทุนอย่างสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ 40-50% จะส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัย และการตัดสินใจเปิดตัวโครงการใหม่ของผู้ประกอบการ”