…เป็นการสะท้อนถึง “สาเหตุ-ปัจจัย” ที่ทำให้หลายคน “เหนียวภาษีเลี่ยงภาษี” พร้อม “แนวทางแก้ไข” เพื่อให้คนหันมา “จ่ายภาษีตามกำหนด” …เป็นการสะท้อนไว้โดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการการพัฒนาระบบบริหารจัดเก็บ “รายได้ท้องถิ่น”…

ที่ได้สะท้อน-ได้แนะแนวทางในเรื่องนี้

เพื่อ “จูงใจให้คนยอมจ่ายภาษีตามเป้า”

ด้วยรูปแบบ-วิธี “ส่งจดหมายสะกิดใจ”

เรื่องนี้…กรณีนี้ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อวันนี้…เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการการพัฒนาระบบบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น” ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP 4.0) ที่มี รศ.ดร.วีระศักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็น
หัวหน้าโครงการฯ โดยผู้จัดทำโครงการวิจัยเรื่องนี้สะท้อนไว้ว่า… “ภาษีรถยนต์ประจำปี” เป็น “หนึ่งในรายได้สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ” แต่ยังมีรถยนต์ราว 25% ที่ค้างชำระภาษี ซึ่ง “ภาษีรถคงค้างชำระทั่วประเทศ” คาดว่าจะมีมูลค่า มากกว่า 9 พันล้านบาท!! การหาแนวทางให้มีการชำระภาษีเพิ่มขึ้นจึงสำคัญ โดย…

“พัฒนาระบบบริหารจัดเก็บรายได้”

รายละเอียดการศึกษาเกี่ยวกับ “ระบบบริหารการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น” นี้ ทาง รศ.ดร.วีระศักดิ์ ได้ระบุไว้ว่า… สำหรับวัตถุประสงค์ใหญ่ของโครงการวิจัยนี้คือการ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ มากขึ้น ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เหมาะสม เป็นธรรม และปฏิบัติได้จริง ซึ่งในปีแรกของโครงการ (พ.ศ. 2563-2564) นั้นได้มีการดำเนินการกับภาษี 4 ชนิด คือ… ภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีรถยนต์ ค่าธรรมเนียมโรงแรม โดยในส่วนของภาษีรถยนต์นั้นมี “พื้นที่ จ.กระบี่” เป็น “พื้นที่นำร่องเพื่อทดลองระบบ” ซึ่งจากข้อมูลพบว่า… ทาง อบจ.กระบี่ จะมีรายได้จากภาษีรถยนต์เฉลี่ยเดือนละประมาณ 14 ล้านบาท แต่กลับมียอดภาษีรถยนต์ที่ค้างชำระสูงถึงกว่า 50 ล้านบาท…

ทาง รศ.ดร.วีระศักดิ์ ระบุไว้ว่า… จาก “สาเหตุ” ที่ทำให้เกิดการ “เลี่ยงการชำระภาษี” คือการไม่เห็นถึงประโยชน์หรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากเงินที่ผู้เสียภาษีได้จ่ายไป ดังนั้น หากมีรูปแบบที่ทำให้คนเห็นว่าเงินนั้นสร้างคุณประโยชน์ได้อย่างไร น่าจะช่วยทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงไป โดยรูปแบบที่ทีมวิจัยได้นำมาทดลองใช้ คือรูปแบบ-วิธีที่เรียกว่า…มาตรการเชิงพฤติกรรม” โดยได้ทดลองกับผู้ค้างชำระภาษีรถยนต์ 2 พันกว่ารายในพื้นที่อำเภอเมือง ที่มียอดภาษีรถยนต์ค้างชำระประมาณ 8 ล้านบาท โดยมีการใช้ “เครื่องมือที่ง่ายที่สุด ประหยัดที่สุด คุ้มค่าที่สุด” นั่นคือการ…ส่งจดหมายเพื่อติดตามเร่งรัด” โดยที่…

“เพิ่มการสะกิดใจ” ไว้ในจดหมายด้วย!!

รศ.ดร.วีระศักดิ์ อธิบายไว้ต่อไปว่า… การใช้วิธีส่งจดหมายที่มี ข้อความ หรือ ภาพ ที่ “สะกิดใจ” นั้น จะเป็นการใช้ข้อความหรือภาพที่ทำให้ผู้ที่ค้างชำระภาษี “เห็นคุณค่าของเงินภาษีที่จ่าย” เช่น ในจดหมายจะ มีภาพแสดงผิวถนนที่ได้รับการปรับปรุงจากเงินภาษีรถยนต์ ซึ่งหลังจากได้ทดลองนำวิธีนี้มาใช้ ปรากฏในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีการชำระเงินภาษีรถยนต์ค้างชำระของคนในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 10% ของยอดค้างชำระรวม ที่ถือเป็นแนวโน้มที่ดีกว่าในอดีต

“เพื่อจะยืนยันว่า มาตรการเชิงพฤติกรรมในรูปแบบข้อความสะกิดใจในจดหมายติดตามเร่งรัด มีผลต่อการตัดสินใจกลับมาจ่ายภาษีจริง ๆ โครงการฯ ระยะที่ 2 จึงได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก และจังหวัด เพื่อขยายพื้นที่ศึกษาจากอำเภอเมืองออกไปเป็นทั้ง จ.กระบี่” …เป็นความคืบหน้าของโครงการฯ ที่มีการขยายผล…

“จดหมายสะกิดใจ” เพื่อให้ “จ่ายภาษี”

อนึ่ง ทางหัวหน้าโครงการฯ นี้ ชี้ไว้ว่า… เมื่อนำข้อมูลการจ่ายภาษีรถยนต์ค้างชำระในช่วงการทดลองไปเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทำให้พบว่า…อบจ.กระบี่ มีเงินจากภาษีในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเดือนละกว่า 1.1 ล้านบาท ในขณะที่ อปท. ในจังหวัดกระบี่ มีรายได้เพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่า 1.2 ล้านบาทต่อเดือน  ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่จะมีเพียงค่าอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และค่าส่งจดหมาย ที่รวมแล้วเป็นจำนวนเงินไม่กี่แสนบาท ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ ทำได้จริง ทำแล้วคุ้มค่า และทำแล้วสามารถที่จะเพิ่มรายได้ให้กับ อบจ. หรือ อปท. ได้อย่างเป็นรูปธรรม …ทาง รศ.ดร.วีระศักดิ์ ชี้ไว้

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น ระยะที่ 2 นั้น นอกจากภาษีรถยนต์ ค่าธรรมเนียมโรงแรม ภาษีป้าย และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ในอนาคตยังอาจต่อยอดไปถึงรายได้ท้องถิ่นประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมขยะ ค่าบำบัดน้ำเสีย การใช้ทรัพยากรน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บภาษี ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้อง “บูรณาการการทำงานร่วมกัน” ของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้นำไปใช้จริงได้ในวงกว้างต่อไป …นี่เป็น “กรณีศึกษาพื้นที่ จ.กระบี่”

กรณี ส่ง จ..สะกิดใจ” เพื่อ เก็บภาษี”

เป็น วิธีเรียบง่าย” แต่ก็ ใช้ได้ผลจริง”

กับการ “จูงใจให้ผู้คนไม่ค้างจ่ายภาษี”.