‘ติ๊กต็อก’ นั้นโดดเด่นในแง่ของการเป็นแหล่งรวมคลิปวิดีโอสั้น ซึ่งส่วนใหญ่คนจะให้ความสนใจในหัวข้อของการเต้นและเพลงป๊อป แต่สำหรับคนรุ่นใหม่หรือ เจเนอเรชัน Z แล้ว แพลตฟอร์มนี้กำลังกลายเป็นตัวกลางในการค้นหาข้อมูลหรือ Search engine หลักของพวกเขา 

ระบบอัลกอริทึมของ ติ๊กต็อก นั้นมีอิทธิพลมาก และการคัดเลือกสิ่งที่ระบบคาดว่าผู้ใช้งานจะชื่นชอบมานำเสนอ รวมทั้งผลลัพธ์การค้นหาที่มาพร้อมกับภาพและเสียง แทนที่จะเป็นข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ที่มีแต่ตัวหนังสือ ทำให้แพลตฟอร์มนี้กลายเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมในกลุ่มคนรุ่นหนุ่มสาว เพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการในชีวิตประจำวัน 

‘กูเกิล’ เริ่มสังเกตเห็นการใช้ ติ๊กต็อก ในขอบข่ายที่คาบเกี่ยวกับฟีเจอร์หลักหรือจุดแข็งของตัวเอง ซึ่งก็คือการเป็น Search engine หรือสื่อกลางในการค้นหาข้อมูลออนไลน์มาสักระยะหนึ่งแล้ว และแม้ว่าจะยังคงมีการโต้แย้งว่า คนรุ่นหนุ่มสาวการใช้ ติ๊กต็อก แทน กูเกิล ในการหาข้อมูลจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็มีผู้บริหารของ กูเกิล คนหนึ่งออกมายอมรับว่า ความสามารถในการสืบค้นข้อมูลของคู่แข่งของพวกเขานั้นเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้

พราบาการ์ รากาวาน รองประธานอาวุโสของ กูเกิล เคยพูดไว้ในการงานสัมนาเทคโนโลยีเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ในกรณีศึกษาของ กูเกิล พบว่า คนรุ่นใหม่ราว 40% จากทั้งหมด ไม่ใช้ กูเกิลแม็พ ในการค้นหาสถานที่ เช่น ร้านอาหาร อีกต่อไป แต่หันไปใช้แอพพลิเคชั่นอื่น เช่น ติ๊กต็อก และ อินสตาแกรม แทน

ดูเหมือน กูเกิล เองก็พยามไล่ตามคู่แข่งมาตลอด เมื่อไม่กี่ปีก่อน ระบบค้นหาของ กูเกิล รวมฟังก์ชันการค้นหาด้วยภาพและวิดีโอไว้กับระบบค้นหาตามปกติ ตั้งแต่ปี 2562 ผลลัพธ์การค้นหาของ กูเกิล มีคลิปจาก ติ๊กต็อก เป็นดาวเด่น และในปี 2563 กูเกิล ก็ปล่อยฟีเจอร์วิดีโอสั้น ‘Shorts’ ซึ่งมีฟอร์แมตภาพแนวตั้งแบบหน้าจอโทรศัพท์มือถือบนแพลตฟอร์มของเครือข่ายอย่าง ยูทูบ และเริ่มจับคลิปจาก Shorts ใส่ลงในผลลัพธ์การค้นหาของตัวเอง

ในโลกดิจิทัลที่กำลังขยายตัว วิธีการค้นหาข้อมูลของคนเริ่มเปลี่ยนไปและขยายขอบเขตในการใช้เครื่องมือที่กว้างขวางยิ่งขึ้น การเติบโตของ ติ๊กต็อก ในแง่ของการเป็น Search engine คือส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวของระบบค้นหาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จริงอยู่ที่ตอนนี้ กูเกิล ยังคงเป็น Search engine หลักของโลก แต่คนก็เริ่มหันไปหาเครื่องมือที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น เมื่อต้องการซื้อสินค้า ก็จะไปค้นหาในเว็บไซต์อะเมซอน หรือหากต้องการติดตามเทรนด์ต่าง ๆ จากทั่วโลก ก็จะไปสำรวจใน อินสตาแกรม แทน 

ทาง ติ๊กต็อก ซึ่งมีบริษัทไบต์แดนซ์ของจีนเป็นเจ้าของ ไม่ยอมให้ความเห็นเกี่ยวกับฟังก์ชันการใช้งานแบบ Search engine ของตน แต่บอกเพียงว่า บริษัทสนใจจะหาหนทางใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้ชุมชนของแพลตฟอร์มและยกระดับประสบการณ์การใช้งาน

กลุ่มคนอายุน้อยที่ใช้ ติ๊กต็อก ต่าง Search engine พบว่าการดูคลิปสั้น ๆ ติดต่อกัน เพื่อหาข้อมูลที่ต้องการนั้นน่าสนใจกว่า พวกเขาจะประเมินความน่าเชื่อถือของคลิปจากข้อความแสดงความเห็นที่ปรากฏในแต่ละคลิป 

จากเดิมที่ใช้ ติ๊กต็อก เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์หรือร้านค้าที่ตัวเองสนใจ คนรุ่นใหม่เริ่มใช้ ติ๊กต็อก เพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งอื่น ๆ ด้วย เช่น วิธีซ่อมแซมข้าวของ วิธีทำอาหาร วิธีเขียนจดหมายสมัครงาน หรือหาคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ ด้วยความรู้สึกว่า ติ๊กต็อก ให้ผลลัพธ์ที่ตรงไปตรงมากว่าผลลัพธ์ที่ได้จาก กูเกิล และบางรายก็อธิบายว่าเหตุที่ใช้ ติ๊กต็อก ในการสืบค้นข้อมูลก็เพราะอยากจะได้ ‘ความเห็นที่ต่างออกไป’ จากผลลัพธ์ที่ กูเกิล ส่งมา ซึ่งบางส่วนก็ได้รับอิทธิพลจากโฆษณาและการใช้เทคนิคเพิ่มคำค้นในเว็บไซต์ต่าง ๆ 

นอกจากนี้ รูปแบบการเป็นวิดีโอสั้น ยังทำให้การนำเสนอข้อมูลมีความรวดเร็วทันใจคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความอดทนน้อยลง อย่างไรก็ตาม คนที่ใช้ ติ๊กต็อก เพื่อหาข้อมูลส่วนหนึ่งก็ยังคงใช้ กูเกิล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วย

ข้อเสียในการใช้ ติ๊กต็อก เพื่อสืบค้นข้อมูลที่เห็นได้ชัดก็คือปัญหาเรื่องข้อมูลเท็จหรือความน่าเชื่อถือของข้อมูล ซึ่งอาจมีการเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วเมื่อคลิปกลายเป็นไวรัล โดยปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งทาง ติ๊กต็อก เองก็กำลังมีปัญหาในการดูแลคอนเทนต์ที่ชวนให้เข้าใจผิด และเผยแพร่ข้อมูลเท็จในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การทำแท้ง, สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ระบบอัลกอริทึมของ ติ๊กต็อก นั้นออกแบบมาเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้อยู่บนแพลตฟอร์มนาน ๆ จึงอาจทำให้คนไม่ค่อยสนใจที่จะหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้มา

กระนั้น การเติบโตของ ติ๊กต็อก ก็ดูจะกลายเป็นสิ่งที่ยั้งไม่อยู่ ด้วยตำแหน่งแชมป์แอพพลิเคชั่นที่มียอดดาวน์โหลดสูงที่สุดในโลก และการเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนในช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปี และเมื่อประกอบกับความพยายามทำให้ ติ๊กต็อก เป็นแพลตฟอร์มสารพัดประโยชน์ กลายเป็นแหล่งบริการแบบ ‘มาที่เดียว ได้ครบ จบทุกอย่าง’ เท่ากับเป็นการการันตีว่า ติ๊กต็อก จะยังคงเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมไปได้อีกนานหลายปี

แหล่งข้อมูล : nytimes.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES