การทำธุรกิจอาหารให้ประสบผลสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ถ้ามีจุดเด่นจุดขายที่น่าสนใจ ดังนั้นแต่ละร้านต้องหาตัวช่วยเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้า โดยเฉพาะ “อาหารเช้า-อาหารกลางวัน” เป็นมื้อสำคัญที่ทุกคน พ่อค้าแม่ค้าอาหารยุคใหม่จึงหยิบยกเมนูอาหารฟิวชั่น “กุ้ง-ท้องปลาแซลมอนกระเทียมพริกขี้หนู” ที่พลิกแพลงเป็นเมนูจานด่วนได้อย่างลงตัว ในราคาประหยัด คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมาแนะนำให้กับคนที่มองหาอาชีพอิสระ
ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลเรื่องนี้ คือ น็อบ–วิกรม กรพัฒนา อายุ 33 ปี เจ้าของร้านข้าวผัดปูจ๋า ซึ่งเล่าที่มาให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพขายอาหารฟิวชั่นตลาดนัด ตนเคยทำธุรกิจร้านอาหารและกาแฟมาก่อน ก็มีลูกค้าขาประจำไม่น้อยเลย เปิดมาได้ประมาณ 3 ปี เนื่องจากลูกน้องพอทำงานเป็นแล้วก็ลาออกไปทำขายเองและมาระยะหลังมีปัญหาจุกจิกเยอะ ก็เลยปิดกิจการร้านอาหารลง ต่อมาเพื่อนชวนมาเปิดร้านขายอาหารที่ตลาดหัวมุม ตนก็สนใจ ไปเดินสำรวจแล้วคิดว่าตลาดคนเดินแบบนี้ต้องเป็นอาหารที่รับประทานง่าย ทุกคนกินได้ รวดเร็ว และไม่ยุ่งยากในการทำ เลยเปิดร้านขายข้าวผัดปู-กุ้ง แต่ขายไม่ดี พ่อค้าแม่ค้าที่รู้จักกันแนะนำให้ลองไปขายตลาดเช้า ปรากฏว่าขายดีผัดขายไม่ทันเลย จากนั้นก็ตระเวนขายตามตลาดนัดของกระทรวงต่าง ๆ
“แล้วก็เจอวิกฤติโควิด ตลาดกระทรวงปิดหมด เราแย่เลย พอดีทราบจากไลน์กลุ่มแม่ค้าตลาดนัดก็ทราบว่าที่ตลาดนัดทูเดย์มาเก็ต วิภาวดีรังสิต ซอย 64 เปิดให้ขาย ผมก็เลยมาขายที่นี่ที่เดียว โดยสลับปรับเปลี่ยนเมนูทุกวัน ลูกค้าขาประจำจะรู้ว่า วันจันทร์ ขายข้าวผัดปู-สปาเกตตีผัดพริกแห้ง-คาโบนาร่า-ซอสมะเขือเทศ, วันอังคาร ขายข้าวผัดกับสปาเกต ตี, วันพุธ ขายหมู-กุ้ง-ท้องปลาแซล มอน และตับทอดกระเทียมพริกขี้หนู, วันพฤหัสฯ ขายข้าวผัดอเมริกัน-ข้าวผัดปู ข้าวผัดกุ้ง และวันศุกร์ มีเมนูคั่วพริกกระเทียม-ซุป-สปาเกตตี ฯลฯ เพราะเป็นคนชอบกินและชอบทำอาหารเลยไปเรียนทำอาหารแบบย่อยที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมนูอาหารที่ร้านจะไม่ใส่สารปรุงแต่ง เป็นลักษณะในแบบที่ทำกินกันในครอบครัว อร่อย สะอาด ถูกหลักอนามัย ทานแล้วสบายใจ”
น็อบ บอกอีกว่าจุดขายของที่ร้านนอกจากเรื่องรสชาติที่กลมกล่อม และวัตถุดิบที่ใช้เป็นของดีมีคุณภาพ คือการทำโชว์สด ๆ ที่หน้าร้านส่งกลินหอมยั่วยวนให้ลูกค้าเข้ามาดู ซึ่งเป็นหลักการง่าย ๆ คนซื้อจะชอบเพราะได้ของสดและใหม่
อุปกรณ์ มีเตาแก๊ส, กระทะ, ทัพพี, มีด, เขียง, หม้อต้ม, กะละมัง, กระชอน และอุปกรณ์เครื่องครัวเบ็ดเตล็ดทั่วไป
วัตถุดิบ ที่ใช้ในการทำ “กุ้งคั่วกระเทียมพริกขี้หนู” หลัก ๆ มี กุ้งแชบ๊วย (ท้องปลาแซลมอน-ตับ-เนื้อหมู), พริกขี้หนูสวน, กระเทียมไทยสับ, ซอสปรุงรส, นํ้าตาลทราย, นํ้ามันหอย, พริกไทยป่น, แป้งทอดกรอบ และนํ้ามันพืช
ขั้นตอนการทำ “กุ้งกระเทียมพริกขี้หนู”
เริ่มจากนำกุ้งแชบ๊วยที่เตรียมไว้มาล้างนํ้าให้สะอาด ปอกเปลือกผ่าหลังดึงเอาเส้นดำหรือไส้ทิ้ง ผึ่งให้สะเด็ดนํ้า (ถ้าเป็นท้องปลาแซลมอนก็หั่นเป็นชิ้นขนาดตามต้องการ, ตับและเนื้อหมูก็เช่นเดียวกัน) ตั้งพักไว้ จากนั้นนำพริกขี้หนูสวนบุบพอแตกเตรียมไว้ในภาชนะ ส่วนกระเทียมนำมาสับทั้งเปลือกเตรียมไว้ แล้วทำการเจียวในนํ้ามันให้มีความเหลืองกรอบ ตักขึ้นให้สะเด็ดนํ้ามัน พักไว้ในภาชนะ เพื่อรอการปรุงเสิร์ฟ
การทอด ใส่แป้งทอดกรอบลงในกุ้งที่เตรียมไว้ในภาชนะ คลุกเคล้าทอดกรอบกับกุ้งให้ทั่ว พอนํ้ามันร้อน ให้เอากุ้งที่คลุกแป้งเรียบร้อยแล้วใส่ลงไปทอดบนไฟแรง เพื่อให้เนื้อกุ้งมีความกรอบนอก-นุ่มเนื้อด้านใน สุกแล้วเนื้อกุ้งจะมีสีเหลืองสวย ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดนํ้ามัน (ส่วนท้องปลาแซลมอน-เนื้อหมู ก็ทำเช่นเดียวกัน เพียงแต่ตับจะทอดสด ๆ ไม่ต้องคลุกแป้ง)
การปรุงเสิร์ฟ ตั้งกระทะบนเตา ใส่นํ้ามันลงไปนิดหน่อย นำพริกบุบลงคั่วให้มีกลิ่นหอม ใส่กุ้งทอด (ท้องปลาแซลมอนทอด-หมูทอด) ลงไป ปรุงรสชาติด้วยนํ้ามันหอย, ซอสปรุงรส, พริกไทยป่น และนํ้าตาลทราย คั่ว ๆ คลุกเคล้าให้ส่วนผสมเข้ากัน เสร็จแล้วราดบนข้าวสวยร้อน ๆ โรยกระเทียมเจียวหอม ๆ ลงไปเพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
สำหรับราคาขาย “เมนูฟิวชั่น” เจ้านี้ ทุกเมนู ขายชุดละ 60 บาท
นี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่นำมาฝากกัน ใครสนใจก็ลองนำสูตรไปฝึกฝนกันดู หรือ อยากลองชิม “เมนูฟิวชั่น” อย่าง ข้าวกุ้งกระเทียมพริกขี้หนู (ท้องปลาแซลมอน-หมู-ตับกระเทียมพริกขี้หนู), สปาเกตตีผัดพริกแห้งหรือคาโบนาร่า, ข้าวผัดปู, ข้าวผัดกุ้ง, ข้าวผัดอเมริกัน ฯลฯ เจ้านี้ วันจันทร์ จะขายที่กรมส่งเสริมการเกษตร ม.เกษตรฯ บางเขน, วันอังคาร-ศุกร์จะขายประจำอยู่ที่ตลาดทูเดย์มาเก็ต วิภาวดี 64 ต้องการติดต่อไปออกงาน หรือสั่งอาหารไปใช้ในงานต่าง ๆ ติดต่อ น็อบ–วิกรม กรพัฒนา เจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” เจ้านี้ที่เบอร์โทร. และไลน์ 06-3516-4542 เพจ : ข้าวผัดปูจ๋า.
เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง