ฤดูน้ำหลาก น้ำท่วม เป็นของคู่กันสำหรับคนที่มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำ เหมือนกับผมมีบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำปราจีนบุรี (บางปะกง) เจอน้ำท่วมมาทั้งชีวิต โดยมีคราบน้ำที่ข้างฝาบ้านยืนยันว่า ปี 26 น้ำท่วมมากที่สุด แต่ถูกลบสถิติลงเมื่อปี 54 และปี 54 ก็ถูกลบสถิติไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากปี 56 เจอน้ำท่วมมากกว่า!

แต่คนภาคกลาง ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมาถึงกรุงเทพฯ ยังผวากับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54 ยังไม่ถูกลบสถิติ!

ปี 54 มีพายุโซนร้อนเข้าประเทศไทย 5 ลูก เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. เรื่อยไปจนครบ 5 ลูก ในช่วงต้นเดือน ต.ค. 54

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ส.ค.54 ตอนนั้นน้ำใกล้เต็มแม่น้ำ รวมทั้งเขื่อนใหญ่ ๆ จากข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ย.54 เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 83% ของความจุที่ 13,462 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 95% ของความจุที่ 9,510 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 78% ของความจุที่ 960 ล้าน ลบ.ม.

วันที่ 30 ก.ย.54 ปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ พุ่งขึ้นไป 93% และ 99% ส่วนเขื่อนป่าสักฯ ปาเข้าไป 136% ทั้งสามเขื่อนจึงต้องระบายน้ำออกมารวมกันวันละกว่า 200 ล้าน ลบ.ม. (ปล่อยออกหลายวัน) จึงท่วมภาคกลาง-กรุงเทพฯ

แต่ 12 ก.ย. 65 เขื่อนภูมิพลเพิ่งมีน้ำ 55% เขื่อนสิริกิติ์ 59% เขื่อนป่าสักฯ มีน้ำแค่ 35% ดังนั้นภาวะน้ำท่วม น้ำขังที่คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เจอในเวลานี้ มาจาก “น้ำฝน” ล้วน ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับ “น้ำเขื่อน” มาผสมโรงเหมือนยุคยิ่งลักษณ์

ชป.เฝ้าระวังลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีน น้ำเพิ่มสูงขึ้น ช่วง 20-30 ต.ค.นี้

ส่วนรอบ ๆ กรุงเทพฯ ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำปราจีนบุรีน้ำยังไม่เยอะ มาแถว ๆ อ.บางบาล-เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่รับน้ำ น้ำท่วมเป็นปกติทุกปีอยู่แล้ว เรื่อยไปถึงลุ่มน้ำสุพรรณบุรี มีน้ำล้นตลิ่งเล็กน้อย โดยภาพรวมของน้ำท่วมมาจากปัญหาเดิม ๆ เกี่ยวกับโครงสร้างทางกายภาพ และลักษณะทางภูมิศาสตร์

ดังนั้นหลังปี 54 รัฐบาลยิ่งลักษณ์มองภาพกว้างว่า ปัญหาน้ำท่วมส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ ถ้าท่วมบ่อย ๆ โรงงานแถว ๆ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี จะย้ายหนีกันหมด จึงคิดทำโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 9 โมดูล ใช้งบแค่ 3.5 แสนล้านบาท

โดยเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ร่วมกับฝ่ายการเมือง รวมทั้งบริษัทชั้นนำจากอเมริกา-เนเธอร์แลนด์-เกาหลีใต้ เข้ามาวางระบบโครงการบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูล และมีการจัดนิทรรศการให้ดูด้วย แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกล้มกระดานไปเสียก่อน ทั้ง 9 โมดูลจึงยังไม่ได้ทำ หรือทำบ้างในบางโมดูลแต่ไม่สมบูรณ์

แต่ปีนี้ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน จนน้ำท่วมขังพื้นที่หลายเขตของกรุงเทพฯ รวมทั้งปทุมธานี และสมุทรปราการ ก็อย่าไปโทษ “ท้องถิ่น” เพราะบางทีมีหน้าที่ แต่ไม่มีงบ ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือขนาดใหญ่ อย่าเพิ่งโทษ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะเพิ่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 31 พ.ค. 65 งบประมาณยังไม่มีเลย ยังไม่ได้โยกย้าย ผอ.เขตคนไหนเลย ที่สำคัญนายชัชชาติไม่ได้นอนเกาพุงอยู่ที่บ้าน พอเลิกงานนั่งกระดกไวน์ แล้วพักผ่อนนอนเป็นเวลา เสียเมื่อไหร่เล่า!

รับมือ 4 คลองหลัก “ชัชชาติ” ลุยศึกแก้นํ้าท่วมกรุง ฝนตกอ่วม

แต่ต้องโทษนายกฯ 8 ปี ไม่รู้จะเริ่มนับเมื่อไหร่โน่น! เป็น 8 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อวางระบบแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ทั้งที่ใช้งบกว่า 8 แสนล้านบาท แต่วนอยู่กับ “แทคติก” ให้หน่วยงานรัฐไปเจาะบ่อบาดาลแพง ๆ ให้งบ “องค์การทหารผ่านศึก” ขุดลอกคูคลองแหล่งน้ำ ทั้งที่เป็นหน่วยงานที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ

พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ ม.44 แต่งตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนนั่งบริหารงาน 5 ปี มีงานก่อสร้างคร่อมถนนทั่วไปหมด บางโครงการล่าช้ามาก บ้างก็ผู้รับเหมาทิ้งงาน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วน้ำท่วมกรุงเทพฯ มีเครื่องสูบน้ำตั้งโด่เด่ แต่ไม่มีน้ำมันเติม! เดือดร้อนว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ต้องไปหาน้ำมันมาให้ 20 ลิตร บางเขตไม่ได้ลอกท่อมา 10 ปี ส่วนเครื่องสูบน้ำ-ประตูน้ำกรมชลประทานแถว ๆ รังสิตก็เสีย! อยู่ระหว่างรองบมาซ่อม สะท้อนภาพการทำงานของ “รัฐราชการ” ได้เป็นอย่างดี!

ปัญหาเดิม ๆ ซ้ำซาก! สมควรทัวร์ลง “ชัชชาติ” หรือว่าทัวร์ควรกระหน่ำไปที่ “นายกฯ ชำรุดยุทธ์โทรม” กันแน่!!

—————————–
พยัคฆ์น้อย