เมื่อวันที่ 14 ก.ย. น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงกรณีมีคลิปงูเหลือมฉกเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหมที่มาพบเพื่อนเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ โดยที่เกิดเหตุเป็นห้องในตึกญี่ปุ่น กรมอุทยานฯ ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. วันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้ามืดได้เกิดเหตุงูออกมาฉกกัดเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ บริเวณสวนหย่อมกลางอาคาร ได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าเป็นรายที่ 2 หลังรับแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ได้ติดตามงูตัวดังกล่าวตั้งแต่เมื่อคืน จนถึงเวลานี้แต่ยังไม่พบ คาดว่างูตัวนี้อายุยังไม่มาก และค่อนข้างไร้เดียงสา หนีน้ำท่วมจากท่อขึ้นมาหาอาหารจำพวกหนู และสัตว์ตัวเล็กๆกิน โดยงูมักจะออกมาในช่วงเวลากลางคืน หรือช่วงที่คนไม่พลุกพล่าน จึงได้จัดเจ้าหน้าที่เวรยามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

“เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม งูหรือสัตว์ป่า ก็เป็นผู้ประสบภัยเช่นเดียวกับเรา เหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป ทั้งสถานที่ราชการ หรือบ้านเรือนประชาชน โดย นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยธยา อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ให้ความช่วยเหลือประชาชน กรณีพบเจอสัตว์ป่าพลัดหลง หรือหนีน้ำท่วมเข้าบ้านเรือน โดยแจ้งเหตุได้ที่สายด่วนกรมอุทยานฯ 1362”

น.สพ.ภัทรพล กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับขั้นตอนปฏิบัติเมื่อพบสัตว์ป่าพลัดหลง เข้ามาในเขตชุมชนและเขตที่อยู่อาศัย จากเหตุน้ำท่วม 1.สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู ชนิดต่างๆ เหี้ย ตะกวด ควรสำรวจบริเวณบ้าน เช่น โรงครัว ห้องเก็บของ พื้นที่รกเพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยและหลบภัยของสัตว์เหล่านั้น ควรหาที่เก็บสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัย ไม่ควรให้เด็กเล็กออกมาเล่นน้ำ นอกจากจะเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์เลื้อยคลาน และยังเป็นการป้องกันโรคระบาดที่มาพร้อมกับน้ำท่วมด้วย หากพบสัตว์อย่าตกใจ อย่าขับไล่สัตว์ เพราะสัตว์เหล่านั้นอาจตกใจและทำร้ายเราได้ จดจำสถานที่พบสัตว์ดังกล่าว หรือขังไว้ในห้อง ไม่รบกวน และแจ้งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการ

2.สัตว์จำพวกลิง ชะนี ค่าง หากสัตว์เข้ามาในเขตที่อยู่อาศัย ห้ามเข้าใกล้เพราะสัตว์เหล่านั้น เมื่อตกใจอาจเข้าทำร้ายได้ อาจใช้อาหารล่อสัตว์เข้ากรงดักหรือเข้าไปในห้องแล้วปิดประตูกักไว้ หากสัตว์อยู่ในพื้นที่เปิด พยายามเฝ้าติดตามการเคลื่อนที่ของสัตว์ จดจำจุดที่สัตว์อยู่ให้ชัดเจน และป้องกันฝูงชนไม่ให้มีการส่งเสียงไล่ต้อน ปาสิ่งของ และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่ถูกงูกัดเป็นรายที่ 2 นั้น เป็นเจ้าหน้าที่ระดับ ผอ.ส่วน โดยเกิดเหตุในช่วงเช้ามืดหลังใส่บาตรทำบุญ ได้เข้ามากรวดน้ำบริเวณสวนหย่อมของตึกญี่ปุ่นฯ แล้วถูกงูฉกได้รับบาดเจ็บ มีเลือดไหลบริเวณข้อเท้าขวา อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 13.00 น. มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่พบงูตัวดังกล่าวแล้ว

ต่อมาช่วงเย็น น.สพ.ภัทรพล เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา กรณี งูเหลือมกัดเจ้าหน้าที่ บริเวณ อาคารสำนักวิจัยฯ หรือตึกญี่ปุ่น กรมอุทยานฯ ว่า ล่าสุดพบงูเหลือมจำนวน 3 ตัวจับได้ 2 ตัว โดย 1 ในสองตัวนั้น เป็นงูที่กัดเจ้าหน้าที่ โดยจุดที่จับได้เวลา 18.25 น. บริเวณสวนหย่อมใกล้กับจุดที่กัดเจ้าหน้าที่ในตอนเช้า ความยาวประมาณ 3 เมตร พบงูนอนในกอหญ้า ในลักษณะที่พร้อมฉกเหยื่อ หากใครโดนผ่านหรือเข้าใกล้มีโอกาสโดนกัดโดยบริเวณนั้นมีแมวอยู่หนึ่งตัว เป็นเป้าหมายสำคัญของงู

น.สพ. ภัทรพล กล่าวว่า ผลการตรวจร่างกายงูโดยทั่วไป ยาว 3.50 เมตร ผิวหนังหยาบแห้ง ร่างกายผอม เยื่อบุในช่องปากแห้งซีด คาดว่าเกิดจากการขาดอาหารมาหลายวัน ทั้งนี้ ได้นำงูไปดูแล และพรุ่งนี้จะตรวจสุขภาพโดยละเอียด และส่งไปปรับพฤติกรรมที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต่อไป.