เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2584-2586/2565 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด มหาชน หรือ บีบีซี ฉายาพ่อมดการเงินในความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยคดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน

โดยอัยการโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างปี 2537-2539 จำเลยซึ่งเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด มหาชน หรือ บีบีซี กับพวกให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี ได้กระทำผิดร่วมกันโดยทุจริตใช้บัตรการอนุมัติให้สินเชื่อเกินบัญชีเกินกว่า 30 ล้านบาท กับเอกชน ได้แก่ บริษัทสมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และเอกชนอื่นรวม 10 แห่ง โดยการอนุมัติดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการสินเชื่อ หรือ คณะกรรมการบริหารของธนาคารก่อนและได้อนุมัติโดยผู้ขอสินเชื่อ ไม่ได้จัดให้มีหลักประกันตลอดจนไม่มีการวิเคราะห์ฐานะของลูกหนี้และความสามารถในการชำระหนี้คืน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังได้ร่วมกันแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันเบียดบังเอาเงินของธนาคารผู้เสียหายซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายเกริกเกียรติไปเป็นของจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติโดยทุจริต ซึ่งภายหลังการกระทำความผิด จำเลยกับพวกดังกล่าวได้ชดใช้เงินให้แก่ธนาคารผู้เสียหายบางส่วน โดยโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 722,136,005.03 บาท และจำนวน 1,427,195,799.92 บาท กับจำนวน 353,363,966 บาท

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 307, 308, 311 ประกอบมาตรา 315 (เดิม) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 500,000 บาท ในสำนวนแรก 60 กระทง ในสำนวนที่สอง 6 กระทง ในสำนวนที่สาม 1 กระทง รวม 67 กระทง รวมจำคุก 335 ปี และปรับ 33,500,000 บาท

เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) และปรับ 33,500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 29/1, 3 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นเวลา 2 ปี ให้จำเลยร่วมกันคืนโดยใช้เงินในสำนวนคดีแรกจำนวน 722,136,005.03 บาท ในสำนวนที่สองจำนวน 1,427,195,799.92 บาท และในสำนวนที่สามจำนวน 353,363,599 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 18173/2555 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาอื่น ๆ อีก 15 คดี คำขอในส่วนนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ต่อมา นายราเกซ จำเลย ยื่นฎีกา

โดยวันนี้เป็นการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาผ่านระบบจอภาพให้จำเลยในเรือนจำ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดนั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลได้ออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดตามผลคำพิพากษาของศาลฎีกา.