ศิลปะภาพยนตร์ที่เป็นสื่อสร้างการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรักหนัง “หนังสั้น” อีกประเภทภาพยนตร์ที่มีมายาวนาน มากด้วยเรื่องราวน่าสนใจ ชวนติดตาม

หนังสั้น ในปัจจุบันยังร่วมสร้างความตระหนักในมิติต่างๆ ทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เทคโนโลยี ฯลฯ จะเห็นได้ว่ามีการจัดประกวดหนังสั้นอยู่เนือง ๆ อีกทั้งหนังสั้นยังเป็นผลงานก่อนจบการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่เรียนด้านภาพยนตร์ และจากผลงานหนังสั้นยังเป็นดั่งนามบัตร เป็นไอเดียส่งต่อการสร้างหนังฟอร์มใหญ่ เป็นพอร์ตโฟลิโอให้แก่ผู้ที่เริ่มทำหนังยาว ทั้งนี้พาสัมผัสเสน่ห์หนังสั้น พาค้นความต่างความท้าทาย ฟังเรื่องน่ารู้ โดย ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความรู้ อธิบายลักษณะของหนังสั้นว่า เวลาที่อธิบายหนัง มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังเล่าเรื่อง หนังสารคดี หนังตลก ฯลฯ

แต่ในความเป็นหนังสั้น ชื่อจะบ่งบอกถึงความเป็นหนัง หนังสั้นหรือภาพยนตร์สั้น เป็นประเภทของภาพยนตร์อย่างหนึ่งที่เหมือนกับภาพยนตร์ทั่วไปที่เล่าเรื่องด้วยภาพและเสียง สร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสารคดี หนังทดลอง ฯลฯ สามารถเป็นหนังสั้นได้หมด ถ้าไม่ยาว

ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์

ดร.พีรชัย อธิบายเพิ่มอีกว่า จากคอนเซปต์ของหนังสั้น ถ้าพูดถึงจะเป็น หนังที่ไม่ได้ใช้เวลามากในการดู จะต่างจากภาพยนตร์ที่ชมกัน เป็นหนังที่เล่าเรื่องนำไปสู่ประเด็นอะไรสักอย่างเพียงประเด็นเดียว เรียกว่าเรื่องทั้งเรื่องวิ่งไปสู่คำถามเดียว จำนวนของตัวละครเอกจะน้อย ถ้าได้ชมจะไม่เห็นตัวละครเอกออกมาแบบประชันกัน จะเป็นตัวละครเดียว แต่เป็นตัวละครเดียวที่สะกดผู้ชมอยู่ ฯลฯ เป็นเสน่ห์ของหนังสั้นที่มีความท้าทายคนทำหนัง 

“การสร้างสรรค์หนังสั้นมีความน่าสนใจหลายด้าน นอกจากการเลือกประเด็น นำเสนอ เลือกสิ่งที่ต้องการนำเสนอ ดังที่กล่าว เรื่องนำไปสู่ประเด็นอะไรสักอย่างแค่ประเด็นเดียว ภายในเวลาอันสั้น ซึ่งจะต้องคิดหาวิธีการเล่าให้น่าสนใจ น่าติดตาม ตรึงอารมณ์ได้ เรียกว่าคัตต่อคัต ทุกชอตของหนังมีความประณีต ด้วยที่ว่าหนังมีเวลาจำกัด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางมุมกล้อง วิธีการสื่อสาร การจัดเรียงภาพ แต่ละคัตเล่าแล้วคมคาย”

ถ้าเป็นหนังยาว ซีรีส์ มีเวลาบอกเล่าได้มากกว่า แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า หนังสั้นจะต้องเล่าเรื่องเร็ว บางเรื่องเล่าช้า แต่มีเสน่ห์เสียเหลือเกิน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับไอเดีย หนังสั้นถือว่าเป็นเวทีให้กับคนทำหนังได้สร้างสรรค์ประชันความสามารถ บางครั้งเพียงแค่เปิดเรื่องมา หนังกลับสะกดให้ติดตาม เร้าให้อยากรู้ถึงจุดสุดท้าย จบลงอย่างไร ฯลฯ

“หลายต่อหลายเรื่องสั้นๆ จากหนังสั้นจะเห็นว่าสามารถหยิบนำมาเล่าได้อย่างมีเสน่ห์ สื่อสารได้น่าประทับใจแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ จากที่กล่าว หนังสั้นมีความหลากหลายนับแต่ระเบิดภูเขาเผากระท่อม ถึงกระทั่งเรื่องราวความเป็นส่วนตัว นำชีวิตจริงมาเล่า ฯลฯ ให้ความรู้สึกเศร้า สุขเรียกรอยยิ้ม สื่อสารผ่านหนังได้”

นอกจากไอเดียดี เรื่องของอารมณ์ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ดร.พีรชัย ให้มุมมองอธิบายเพิ่มอีกว่า หนังสั้นควรต้องให้อารมณ์ร่วมจะซึ้งก็ซึ้ง เศร้าก็เศร้า แต่ถ้าเทียบกับหนังยาว หนังสั้นมีพื้นที่บรรจุอารมณ์ได้น้อย เวลารู้สึกอะไรดี ๆ กับหนังสั้นมักจะจดจำไอเดีย ต่างกับหนังยาวที่เราจะจดจำอารมณ์ อย่างเช่น ถ้าดูหนังยาวฉากนี้ร้องไห้ ผู้ชมจะจำอารมณ์ แต่หนังสั้นจะจำไอเดีย เรื่องนี้จบดี จบชวนงุนงง ฯลฯ หนังสั้นมีเสน่ห์อยู่ในเรื่องราวเหล่านี้ที่ท้าทายและยั่วยวน ชวนใช้ขบคิด ทำไมต้องพูดประโยคแบบนี้หรือจบลงแบบนี้ หรือเรื่องกำลังจะบอกอะไร ฯลฯ  

ถ้าย้อนไปที่ประวัติหนังสั้น หนังสั้นมีมายาวนานทั้งมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เป็นหนังประเภทแรกที่เกิดขึ้นในโลก หนังสั้นในยุคแรกในที่นี้เป็นหนังที่ยังไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ แต่ต่อมาก็มีการฉายในโรงภาพยนตร์และถูกแทนที่ด้วยหนังยาว ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องม้วนฟิล์ม การถ่ายทำ อีกทั้งศิลปินพัฒนาการเล่าเรื่อง

“เมื่อหนังยาวแทนที่ หนังสั้นลดบทบาทลง แต่อย่างไรแล้วหนังสั้นยังคงอยู่ มีกลุ่มก้อนคนทำหนัง ใช้หนังสั้นสื่อสาร หนังสั้นมีอยู่ในแวดวงคนทำหนังทดลอง ทั้งเป็นการสื่อสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปิน โดยบางครั้งจะเห็นการนำหนังมาฉายในโรงภาพยนตร์ ในแกลเลอรี่ต่างๆ

จากที่กล่าวหนังสั้นยังคงอยู่ ที่เฟื่องฟูจะเห็นชัดเป็นช่วง 1980 เห็นถึงการนำเรื่องราวของหนังสั้นมาเล่าเรื่องใน มิวสิกวิดีโอ หนังสั้นถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง หรือใน งานโฆษณา จะเห็นเรื่องราวศิลปะของหนังสั้นปรากฏอยู่ ทั้งนี้หนังสั้นสามารถสร้างอารมณ์ร่วม สร้างการจดจำ”  

อีกด้านหนึ่งมหาวิทยาลัยที่สอนทางด้านภาพยนตร์ เป็นอีกส่วนหนึ่งให้กับพื้นที่หนังสั้น นักศึกษาได้ฝึกฝน ทดลอง ได้สร้างสรรค์ทำหนังสั้น และแทบจะทุกมหา วิทยาลัย ทุกโรงเรียนที่สอนด้านภาพยนตร์ทั่วโลกจะให้ผู้เรียนได้ทำหนังสั้น หนังสั้นยังทำหน้าที่เป็นเหมือนนามบัตร บอกเล่าทักษะไอเดียสร้างสรรค์ หรือถ้าไอเดียในหนังได้รับความสนใจจะได้รับการนำไปขยายต่อเป็นภาพยนตร์ เป็นซีรีส์ ฯลฯ ก็เกิดขึ้นได้ 

อีกฟังก์ชันของหนังสั้นยังเป็นพอร์ตโฟลิโอให้กับคนที่ทำหนัง อาจไม่ใช่เฉพาะแต่นักศึกษาด้านภาพยนตร์ สำหรับคนที่สนใจใฝ่ฝันชอบทำหนังก็สามารถทำหนังสั้นของตนเองนำเสนอ มีโอกาสเข้าสู่แวดวงภาพยนตร์ หนังสั้นจึงไม่จำกัด แต่เปิดกว้างให้กับผู้ที่มีความฝัน มีความชอบ ทุกวัยได้ทำหนัง ฯลฯ โดยอีกสองส่วนนี้เป็นเรี่ยวแรงทำให้ศิลปะหนังสั้น เป็นศิลปะที่ยังคงน่าศึกษาและมีคนทำหนังต่อไปอีกเรื่อยๆ

อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ดร.พีรชัย ให้มุมมองทิ้งท้ายเพิ่มอีกว่า ทุกวันนี้หนังสั้นยังมีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ให้พื้นที่กับหนังสั้น เห็นไอเดียสร้างสรรค์ของคนทำหนัง บางแพลตฟอร์มได้รวมหลากเรื่องราวหนังสั้น ทำเป็นโปรแกรม นำออกฉายพร้อมกันหลายเรื่อง ฯลฯ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ปลุกหนังสั้น 

จากที่กล่าวหนังสั้นเป็นไปได้ทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นหนังตลก ดราม่า สารคดี หนังทดลอง ฯลฯ สร้างสรรค์ได้หลากหลาย เพียงแต่นิยามของหนังสั้นอยู่ในเรื่องของความยาวที่ต่างไปจากหนังยาวที่ชม ที่คุ้นเคย หนังสั้นถ้าเทียบกับหนังยาวมีอยู่เยอะมาก โดยปีๆหนึ่งมีการถ่ายทำออกมาเยอะมาก ด้วยที่สั้น หรือเป็นความสนใจเฉพาะบุคคล แสดงให้เห็นว่ายังคงมีกลุ่มก้อนและมีความต่อเนื่องในการสร้างสรรค์

“สื่อหนังสั้นยังส่งเสริมสร้างการเรียนรู้เป็นกิจกรรมในโรงเรียน เด็ก ๆ ที่ชอบการทำหนัง ได้ทดลองถ่ายหนัง มีชมรมภาพยนตร์ ผลิตผลงานหนังดี ๆ มีหนังที่ได้รับรางวัลฝีมือของเด็กออกมาให้ชมอยู่บ่อยครั้ง หนังสั้น จึงเป็นอีกกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ ค้นพบความถนัด ความชอบ

การทำหนังยังฝึกกระบวนการคิด ต้องบริหารจัดการเวลาให้เหมาะสม ไม่เฉพาะแต่ในหนัง แต่จะเริ่มตั้งแต่การเขียนบทเล่าเรื่องให้นำไปสู่ประเด็นที่ต้องการ ให้ผู้ชมสนุกติดตาม ได้ขบคิด”

ยังไม่รวมถึงไอเดียที่เลือกนำมาสื่อสาร ฯลฯ ขณะที่การถ่ายทำก็สร้างการเรียนรู้ ฝึกทักษะด้านต่าง ๆ อีกมากมาย ทั้งการตัดสินใจ แก้ไขสถานการณ์ ทั้งยังเป็นการทำงานร่วมกับคนอื่น ฯลฯ โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้รวมอยู่ในศิลปะหนังสั้น เรียนรู้ได้จากหนังสั้น …

ศิลปะภาพยนตร์ที่มีมนต์เสน่ห์ มากด้วยเรื่องราวน่าค้นหา.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ