@@@@ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร ออสเตรเลีย-ไทย ครั้งที่ 22 (The 22nd Meeting of the Australia – Thailand Joint Working Group on Agriculture: JWG) พร้อมด้วย นายสุรเดช สมิเปรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายคริส ทีนนิ่ง (Mr. Chris Tinning) ผู้ช่วยปลัดด้านการค้าและการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร น้ำ และป่าไม้ หัวหน้าคณะผู้แทนออสเตรเลีย เป็นประธานร่วมฝ่ายออสเตรเลีย ณ นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ว่า เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 70 ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและออสเตรเลีย ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 (17 ปี) โดยไทยและออสเตรเลียเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตร รวมถึงด้านการค้า การแลกเปลี่ยนนโยบาย และกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการต่าง ๆ เป็นอย่างดีเสมอมา

“การประชุม JWG ไทย – ออสเตรเลีย ครั้งที่ 22 ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนด้านนโยบายการเกษตร ฝ่ายไทยได้นำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่ระดับโลกตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และนโยบายระดับประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การดำเนินการตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในระยะ 5 ปีถัดไป (พ.ศ. 2566 – 2570) รวมถึงนโยบาย Agri Challenge Next Normal 2022 ซึ่งตอบรับนโยบายการเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) โดยฝ่ายออสเตรเลียนำเสนอแผนการพัฒนาการเกษตรของออสเตรเลีย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายรับทราบความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยกับออสเตรเลีย รวม 5 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาเกษตรกรเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรต้นแบบและเกษตรกรรุ่นใหม่ ผ่านการฝึกงานในลักษณะ On the Job Training (OJT) เป็นเวลา 6 เดือน ณ สวนผลไม้ที่เมืองดาร์วิน ทางตอนเหนือของเครือรัฐออสเตรเลีย 2) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการเกษตรในการพัฒนาการพยากรณ์สินค้าเกษตรของไทย 3) ความร่วมมือด้านปศุสัตว์เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์มโคนม และการยกระดับด้านการผลิตและการตลาดโคเนื้อ 4) ความร่วมมือด้านน้ำในด้านการประยุกต์ใช้แนวทางการให้สิทธิและการขอใช้น้ำ (Water Requesting and Sharing) ในพื้นที่ที่ระบบการส่งน้ำที่มีจำกัด และด้านการบริหารจัดการน้ำและการตรวจสอบคุณภาพน้ำ และ 5) ความร่วมมือด้านการประมงเกี่ยวกับวิธีการประเมินสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำ และวิธีการจัดการประมงของไทยและออสเตรเลีย” ปลัดเกษตร กล่าว

ภายหลังการประชุมฯ ประธานร่วมฝ่ายไทยและฝ่ายออสเตรเลีย ได้ลงนามในเอกสารถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) โดยมีเนื้อหาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและออสเตรเลียที่มีมาอย่างยาวนานภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และความร่วมมือทางด้านการเกษตรระหว่างกัน โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้มีการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลียไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและสร้างความก้าวหน้าและความยั่งยืนในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารให้มากขึ้น การค้าระหว่างกันก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งและสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ในด้านการอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และเกษตรกร ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะเร่งดำเนินการเปิดตลาดสินค้าเป็ดปรุงสุกจากประเทศไทยและอะโวคาโดพันธุ์ Hass จากรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสร็จสิ้นภายในปี 2565 นี้ และรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันประกาศความสำเร็จในครั้งนี้ และยืนยันการเริ่มการค้าของสินค้า ทั้งสองชนิดนี้ระหว่างกัน

ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อันดับที่ 34 ของไทย มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรไทย – ออสเตรเลีย ปี 2564 รวม 65,895.70 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปออสเตรเลีย 28,588.97 ล้านบาท และไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากออสเตรเลีย 37,306.73 ล้านบาท สินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลียที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าวสาร อาหารสัตว์ ผักและผลไม้ ของปรุงแต่งจากผลไม้  และสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม

ปลัดเกษตรฯ จับมือผู้ช่วยปลัดด้านการค้าและการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรฯ ออสเตรเลีย ฉลองครบรอบ 70 ปี การทูตระหว่างไทยและออสเตรเลีย ยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลียไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565

@@@@ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ จัดบริการกงสุลสัญจร ที่เมือง Coffs Harbour เมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.30 -17.30 น. ณ ห้อง Auditorium ใน C.ex Coffs เลขที่ 2 – 6 Vernon St, Coffs Harbour, NSW, 2450) ได้บริการทำหนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชน รับสูติบัตร รับรองเอกสาร หนังสือยินยอม หนังสือมอบอำนาจ และปรึกษาปัญหาด้านกงสุลอื่นๆ รวม 136 รายการ และได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับชุมชนชาวไทยอีกด้วย ชุมชนไทยใน Coffs Harbour และเมืองต่างโดยรอบ ขอขอบคุณทีมงานทุกๆท่านที่จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรมาเพื่อความสะดวกของชุมชนไทยที่อาศัยอยู่นอกตัวเมืองให้ได้มีโอกาสปรึกษาสอบถามข้อมูล ติดต่อธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยการมาเยี่ยมในครั้งนี้ทีมงานนำความพร้อมทั้งทางบุคลากร และอุปกรณ์ที่ทันสมัยพร้อมให้บริการได้แบบไม่ต้องรอนาน จัดซุ้มให้คำปรึกษาแบบละเอียด มีระบบ online booking และกรอกข้อมูลที่สามารถทำได้ง่ายๆด้วยตัวเองซึ่งช่วยร่นเวลาของการทำธุรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด พร้อมยังมีทีมงานที่พร้อมจะช่วยเหลือสำหรับท่านที่ไม่ค่อยถนัดใช้ระบบดิจิตอลอีกด้วย สำหรับการให้บริการกงสุลสัญจรในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โปรดติดตาม facebook สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ สำหรับบริการกงสุลสัญจร นอกรัฐนิวเซาท์เวลส์โปรดติดตาม facebook สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ขอขอบคุณประชาชนในเมือง Coffs Harbour และเมืองต่างๆในละแวกใกล้เคียง ที่ได้สนับสนุนการประชาสัมพันธ์และมารับบริการกงสุลสัญจรด้วยความเรียบร้อย เมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2565 ณ ห้อง Auditorium ใน C.ex Coffs

@@@@ กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ นางหัทยา คูสกุล ได้ร่วมแสดงความยินดีกับเด็กนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลในงาน The 2022 Minister’s Awards for Excellence in Student Achievement – Community Languages Schools ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่มหาวิทยาลัย UNSW โดยในปีนี้มีนักเรียนจากโรงเรียนภาษาไทยวัดพุทธรังษีที่ได้รับรางวัล 2 คน ได้แก่ ด.ช. วิวิศน์ ทิพวงษ์ ได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัล Minister’s Award ระดับเด็กเล็ก ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุด โดยได้รับรางวัลจากนาง Sarah Mitchell รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ น.ส. วีรญา ลง ได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัล Commended Award ระดับเด็กโต โดยมีนาย Joseph La Posta ที่ปรึกษา NSW Community Languages Schools เป็นผู้มอบรางวัล ในโอกาสนี้ นาย Mark Coure รัฐมนตรีกระทรวงพหุวัฒนธรรม รัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้เข้าร่วมในพิธีมอบรางวัลด้วย รางวัลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรมในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยทุกปีรัฐบาลนิวเซาท์เวลส์จะมอบรางวัลให้แก่นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนสอนภาษาต่าง ๆ ซึ่งมีความรู้ความสามารถที่โดดเด่นในการใช้ภาษา และความมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งในโรงเรียนและชุมชน

กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ได้ร่วมแสดงความยินดีกับนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลในงาน The 2022 Minister’s Awards for Excellence in Student Achievement – Community Languages Schools ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ มหาวิทยาลัย UNSW

@@@@ เมื่อวันที่ 2 – 3 กันยายน 2565 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่โรงแรม Best Western นครโฮบาร์ต รัฐแทสเมเนีย โดยให้บริการรับคำร้องขอทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-passport) และการให้คำปรึกษาด้านการกงสุลอื่น ๆ อาทิ งานนิติกรณ์ ทะเบียนราษฎร และทะเบียนครอบครัว ให้แก่คนไทยในนครโฮบาร์ตและจากเมืองต่าง ๆ ในรัฐแทสเมเนียรวมทั้งสิ้น 70 ราย ในโอกาสนี้ คณะเจ้าหน้าที่กงสุลสัญจรได้พบปะพูดคุยกับชุมชนคนไทยเพื่อรับทราบถึงความเป็นอยู่และสอบถามถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ในพื้นที่ และได้ทำความรู้จักเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการติดต่อสื่อสารระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ กับชุมชนคนไทยในรัฐแทสเมเนียในกรณีที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉินหรือความจำเป็นเร่งด่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ ในวันที่ 4 กันยายน 2565 คณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เดินทางไปวัดสังฆรังษี เพื่อเข้ากราบนมัสการพระมหาสงครามธมฺมวโร (พระอาจารย์เล็ก) เจ้าอาวาสวัดสังฆรังษี และถวายหน้ากากอนามัยจำนวน 1,800 ชิ้น และชุดตรวจ ATK จำนวน 300 ชุดด้วย ในการดำเนินงานกงสุลสัญจรครั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการรักษาสุขอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และขอถือโอกาสนี้ขอบคุณชุมชนคนไทยในรัฐแทสเมเนียที่ได้มาใช้บริการรวมทั้งได้ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการให้บริการกงสุลสัญจรในครั้งนี้จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สำหรับการให้บริการกงสุลสัญจรครั้งถัดไป ขอให้ติดตามจากประกาศของสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งจะได้แจ้งให้ชุมชนคนไทยในออสเตรเลียทราบต่อไป

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่โรงแรม Best Western นครโฮบาร์ต รัฐแทสเมเนีย เมื่อวันที่ 2 – 3 กันยายน 2565 และได้เดินทางไปวัดสังฆรังษี เพื่อเข้ากราบนมัสการพระมหาสงครามธมฺมวโร (พระอาจารย์เล็ก) เจ้าอาวาสอีกด้วย

@@@@ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ต้อนรับนายสิทธินันท์ มานิตกุล รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะซึ่งเยือนออสเตรเลียระหว่างวันที่ 4-10 กันยายน 2565 โดยเอกอัครราชทูตฯ ได้บรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ออสเตรเลียซึ่งปีนี้ครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับภารกิจและความร่วมร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ในการนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะและหารือเพิ่มเติมกับหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทยที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตด้วย

เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราต้อนรับ นายสิทธินันท์ มานิตกุล รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะซึ่งเยือนออสเตรเลียระหว่างวันที่ 4 – 10 กันยายน 2565 และได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะและหารือเพิ่มเติมด้วย

@@@@ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วยนายคริส ทีนนิ่ง (Mr. Chris Tinning) ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตร ประมงและป่าไม้ออสเตรเลีย ประธานร่วมของการประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรไทย – ออสเตรเลีย ครั้งที่ 22 เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานการฉายรังสีเป็นมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับสินค้าผักผลไม้สดตามข้อกำหนดของรัฐบาลออสเตรเลีย ณ โรงงานฉายรังสีบริษัท Steritech Merrifield Irradiation เมือง Micklehamรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความชำนาญในการฉายรังสีมากว่า ๕๐ ปีโดยปัจจุบันมีการให้บริการเทคนิค Cobalt 60 รังสี X-ray และรังสี E beam ตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียอนุญาตให้ใช้การฉายรังสีในสินค้าผลไม้สดส่งออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ และมีมาตรการสำหรับภายในประเทศในปี ๒๕๕๔ ในผลไม้ทุกชนิด เป็นการแสดงถึงความปลอดภัยทางอาหารของการฉายรังสี ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการค้าปลีกและผู้บริโภคภายในประเทศโดยมาตรการฉายรังสีองตลาดในประเทศมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 700และตลาดส่งออกร้อยละ 50 ผลไม้ที่มีการฉายรังสีมากที่สุดคือ องุ่น คิดเป็นร้อยละ 34 รองลงมาคือ มะม่วง คิดเป็นร้อยละ 22

ที่ผ่านมา มาตรการกำจัดศัตรูพืชของออสเตรเลียมีอยู่ 3 ทางเลือก ได้แก่ 1) การรมด้วยเมทิลโบมายด์ (Fumigation) 2) การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น (Cold Disinfestation) 3)การกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีอบไอน้ำ (Vapor Heat Treatment) โดยรัฐบาลออสเตรเลียรับรองระบบการฉายรังสีว่าเป็นมาตรการที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี และไร้สารตกค้าง ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในการใช้การฉายรังสี สำหรับผลไม้ส่งออกไปยังออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะสินค้ามะม่วง ที่ออสเตรเลียและไทยมีฤดูกาลผลิตที่แตกต่างกัน จึงเป็นโอกาสของมะม่วงพรีเมียมที่ส่งออกจากไทยไปยังออสเตรเลียซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศสนับสนุนมาตรการฉายรังสี เพื่อทดแทนการรมควันด้วยเมทิลโบมายด์ทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนห่วงโซ่อุปทานของการบำบัดด้วยความเย็นและการอบไอน้ำ การหารือระหว่างกันในครั้งนี้ นับว่าประเทศไทยสามารถได้รับข้อมูลและเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของออสเตรเลีย เพื่อนำไปปรับใช้กับการกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก “การหารือระหว่างกันในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ของประเทศไทย ที่สามารถได้รับข้อมูลและเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของออสเตรเลีย เพื่อนำไปปรับใช้กับการกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก และขอชื่นชมการบริหารจัดการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในธุรกิจเกษตร และการใช้หลักการตลาดนำการผลิตที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรที่ตอบสนองความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคที่หลากหลาย  โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคธุรกิจ” ดร.ทองเปลว กล่าว

นอกจากนี้ คณะยังได้แลกเปลี่ยนกับเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการส่งออกเชอรี่รัฐวิคตอเรีย (Young Smart Farmer) หนึ่งในผู้ปลูกเชอรี่รายใหญ่ของประเทศออสเตรเลียเนื่องจากสามารถลดความเสียหาย คงคุณภาพความสดของสินค้าและยืดอายุการเก็บรักษา  และได้รับประโยขน์จากมาตรการฉายรังสีที่ขยายโอกาสในการค้าเชอรี่สดทั้งในและส่งออก โดยมีคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ นิวซีแลนด์ เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ หารือ Young Smart Farmer และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรออสเตรเลีย แลกเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีการป้องกันโรคในพืชและสัตว์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565

@@@@ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราต้อนรับนางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและคณะผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ 10 และรุ่นที่ 11 ในโอกาสที่คณะฯ เดินทางมาศึกษาดูงานที่เครือรัฐออสเตรเลีย และเข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตฯ ในการนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้บรรยายสรุปเรื่องความสัมพันธ์ไทย – ออสเตรเลียและภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตฯ และร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกันในระหว่างรับประทานอาหารกลางวันกับคณะฯ ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ด้วย

เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราให้การต้อนรับและบรรยายสรุปแก่คณะผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ 10 และรุ่นที่ 11 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565

ไตรภพ ซิดนีย์
[email protected]