เมื่อเดือน ก.ย. ปีพ.ศ.2558 คสช. มีคำสั่ง ที่ 14/ 60  ระบุไว้ว่ากรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถคันใดไม่ชําระค่าปรับ แต่ต้องการต่อทะเบียนก็สามารถทำได้ แต่นายทะเบียนจะออกหลักฐานว่าชำระเงินการต่อทะเบียนไว้แล้วและยังไม่ให้ป้ายวงกลม  โดยเจ้าของรถต้องไปชําระค่าปรับที่ค้างภายใน30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากพ้น 30 วันไปแล้วยังไม่ไปชำระค่าปรับและถูกตำรวจจับ เพราะไม่มีป้ายวงกลมจะต้องเสียค่าปรับ 2,000 บาท ฐานไม่ต่อภาษีป้ายทะเบียน  อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของรถจ่ายค่าปรับ  และจ่ายค่าการต่อทะเบียนไปพร้อมกันก็จะได้ป้ายวงกลมทันที  ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ที่คสช.ประกาศนั้น กรมการขนส่งทางบกและตำรวจ จะต้องทำความเข้าใจกันและเชื่อมต่อข้อมูลตรงกันอย่างเป็นระบบ

ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้พิจารณาขอแก้ไขกฎหมาย พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ให้มีประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดให้มากยิ่งขึ้นนั้น โดยที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอให้กฤษฎีกาตีความใน 8-9 ประเด็น แต่ในประเด็นเรื่องการขอให้กรมการขนส่งทางบก อายัดการต่อภาษีประจำปีหากผู้เสียภาษีโดนใบสั่งแล้วไม่มาชำระค่าปรับ ซึ่งทางกรมการขนส่งฯเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้ และในส่วนของคณะกฤษฎีกาก็ไม่ผ่านความเห็นชอบ ให้ทำให้ประเด็นนี้มีอันตกไป

แต่ทั้งนี้กฤษฎีกาได้ให้ข้อแนะนำว่า การขอแก้ กฎหมาย พรบ.จราจรฯ ให้ทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำรวจเท่านั้น ดังนั้นทางตำรวจจึงได้กลับมาดูในรายละเอียดอีกครั้งและเตรียมเสนอใหม่อีกรอบ ในเรื่องการขอเพิ่มอัตราโทษปรับ ในส่วนที่ 1 หากผู้กระทำผิดได้รับใบสั่งแล้ว ไม่มาชำระค่าปรับจะให้มีโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท ซึ่งจากเดิมปรับไม่เกิน 1,000บาท และปรับขั้นต่ำ 200 บาท ส่วนที่ 2 เมื่อครบ 60 วัน ยังไม่มาชำระค่าปรับ จะเพิ่มโทษเป็นปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท และส่วนที่ 3 หากครบ 180 วัน ยังไม่มาชำระค่าปรับจะจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในข้อหานี้สามารถนำขึ้นศาลแขวง เพื่อให้ศาลพิจารณาโทษจำคุกได้
 

ด้านรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.) ที่รับผิดชอบงานจราจรในขณะนั้น ได้กล่าวว่า หลังจากนี้ทางตำรวจ จะไม่ยื่นเสนอขอแก้ไขในเรื่องอายัดภาษี ไม่ต่อทะเบียนรถ หากไม่มาชำระค่าปรับอีกแล้ว เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวถูกตีตกถึง 2 รอบ แต่ในส่วนการขอเพิ่มอัตราโทษปรับขณะนี้ในขั้นตอนของทาง บช.น. ได้มีการลงนามในข้อเสนอแล้ว เพื่อเสนอต่อให้สำนักกฎหมายและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแก้ไขและนำเสนอต่อกฤษฎีอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะผ่านความเห็นชอบได้และผ่านเข้าสู่กระบวนการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาต่อไป

ส่วนในการยื่นเสนอชำระค่าปรับ ผ่านเคาร์เตอร์เซอร์วิส ที่ทางตำรวจได้ยื่นเสนอให้กฤษฎีกาพิจารณานั้น ขณะนี้ได้รับความเห็นชอบจากทางกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็ต้องรอให้ สนช. มีความเห็นชอบอีกเช่นกัน ซึ่งคาดว่าภายในเร็วๆนี้ ซึ่งประชาชนจะได้รับความสะดวกขึ้นในการชำระค่าปรับ

สำหรับคำสั่ง คสช.ในครั้งนั้นสร้างความหวาดวิตกให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากถ้าไม่มาเสียค่าปรับจราจรนอกจากจะถูกอายัดทะเบียนรถแล้ว ถ้าเลยกำหนดเวลายังไม่มาเสียค่าปรับยังมีโทษ”จำคุก”อีกด้วย ผ่านมา 5 ปี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า หากประชาชนเบี้ยวจ่ายค่าปรับ จะถูกอายัดการต่อภาษีประจำปีนั้น  ไม่เป็นความจริง  โดยประชาชนสามารถที่จะต่อภาษีกับกรมการขนส่งทางบกได้เหมือนเดิม  แต่ประชาชนต้องไปเสียค่าปรับให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากถือว่าเป็นการกระทำผิดกฏหมายจราจร ซึ่งทุกคนต้องเคารพกฏหมาย  

ส่วนกรณีคำสั่งคสช.ที่ 14/60 เกี่ยวกับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมายว่าด้วยการจราจรทางบกนั้น ได้ให้กฤษฏีกาพิจารณาระเบียบต่าง ๆ ว่าจะผิดข้อกฏหมายหรือไม่  และในระหว่างนี้กรมฯและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตง.) เตรียมความพร้อมที่จะเชื่อมข้อมูลระหว่างกันเพื่อให้การทำงานมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น

ด้านผู้สื่อข่าว”เดลินิวส์ ออนไลน”ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์กับทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการจราจร โดยใช้เวลาติดต่อนานหลายชั่วโมง เมื่อสามารถติดต่อได้แล้วทางเจ้าหน้าที่ได้ ปฎิเสธที่จะตอบคำถามถึงเรื่องดังกล่าว โดยขอเวลาไปปรึกษากับทางผู้ใหญ่ก่อน จากนี้ประชาชนยังคงต้องลุ้นว่าทางตำรวจจะดำเนินการต่อไปหรือไม่และทาง”กฤษฏีกา”จะมีความเห็นเป็นอย่างไร