นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร มีความสนใจต่อความเป็นไปของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างมาก ประเมินได้จากภารกิจเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านการค้าระหว่างประเทศ และรมว.การต่างประเทศ ที่เธอเดินทางเยือนภูมิภาคแห่งนี้บ่อยครั้ง เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักร กับทุกประเทศในภูมิภาคดังกล่าว

ตอนนี้ ทรัสส์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐนาวาแล้ว จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่เธอต้องแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกฝ่าย ว่าเธอทำได้มากกว่าการเยือนประเทศโน้นประเทศนี้ และกล่าวว่า สหราชอาณาจักรจะเป็นพันธมิตรที่ทรงคุณค่า ของทุกประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทว่าแนวทางการดำเนินงานซึ่งยังคงไม่ชัดเจนในหลายประเด็น และทรัสส์เผชิญกับเสียงวิจารณ์ไม่น้อย ว่าเน้นการสร้างวาทกรรมดุดัน มากกว่าการนำเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรม อาจส่งผลต่อความพยายามของเธอ ในการสานต่อและขับเคลื่อนนโยบาย

BBC News

ทรัสส์วิจารณ์จีนอย่างหนักในแทบทุกด้าน แน่นอนว่าสิ่งที่เธอได้รับเป็นการตอบแทนจากอีกฝ่าย นั่นคือ “ความไม่ชอบใจและเสียงประณาม” และยิ่งตอกย้ำความตึงเครียดและผันผวนในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ตลอดช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อปี 2564 ที่ต่างฝ่ายต่างประกาศมาตรการคว่ำบาตรโต้ตอบกันไปมา ท่าทีของทรัสส์ตั้งแต่ตอนนั้นน่าจะยังคงสร้างแรงกระเพื่อม มาจนถึงตอนที่เธอดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลของสหราชอาณาจักร ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหราชอาณาจักรในยุครัฐบาลของเธอ “ไม่น่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่”

นางลิซ ทรัสส์ ในสมัยยังดำรงตำแหน่งรมว.การต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม “จี7” ที่เมืองลิเวอร์พูล ในสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2564

แน่นอนว่า รัฐบาลทรัสส์น่าจะยิ่งเดินหน้าวิจารณ์นโยบายสิทธิมนุษยชนของจีน โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ การส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรกติกาความร่วมมือไตรภาคี “ออคัส” ที่สมาชิกอีกสองประเทศ คือสหรัฐ และออสเตรเลีย และกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคง “ไฟฟ์ อายส์” หรือ “5 ตา” ที่ไม่เพียงแต่เป็นการยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับจีน ทว่ายังจะเป็นการช่วยให้สหราชอาณาจักรนำตัวเองเข้าสู่วงโคจรของการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน เพื่อช่วงชิงอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย

เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ทรัสส์ถือเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ระหว่างสหราชอาณาจักรกับทุกประเทศในภูมิภาค ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพ.ย. 2564 ทรัสส์ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งรมว.การต่างประเทศ เยือนมาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย เสนอแนะและเรียกร้อง “การเปลี่ยนแปลงแบบเร่งด่วน” ในความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้

อนึ่ง อาเซียนมีมติเมื่อเดือนส.ค. ปีที่แล้ว รับรองสถานะคู่เจรจาให้แก่สหราชอาณาจักร นับเป็นครั้งแรกในรอบนานกว่า 2 ทศวรรษ ที่อาเซียนรับรองคู่เจรจารายใหม่ และเป็นคู่เจรจาประเทศที่ 10 ต่อจาก ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ แคนาดา เกาหลีใต้ อินเดีย จีน และรัสเซีย และองค์กรระดับภูมิภาคอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ สหภาพยุโรป ( อียู )

ปัจจุบันสหราชอาณาจักรมีสถานเอกอัครราชทูตในทุกประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน และยังมีเอกอัครราชทูตประจำอาเซียน ปฏิบัติงานอยู่ที่กรุงจาการ์ตาด้วย ซึ่งการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคู่เจรจาของอาเซียนจะช่วยให้สหราชอาณาจักรได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกับอาเซียนในอนาคต สถานะประเทศคู่เจรจากับอาเซียนจะนำไปสู่ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ระหว่างสหราชอาณาจักรและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการศึกษา

สถานะประเทศคู่เจรจาจะทำให้สหราชอาณาจักรเข้าถึงศูนย์กลางของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยสหราชอาณาจักรจะทำงานร่วมกับอาเซียนและประเทศสมาชิกที่เผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ที่สำคัญร่วมกัน เช่น ความมั่นคงทางทะเลและอาชญากรรมข้ามชาติ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการค้า และกระชับความร่วมมืออีกหลายด้านให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สหราชอาณาจักรมีกำหนดจัดการเลือกตั่งทั่วไปครั้งใหม่ ภายในวันที่ 25 ม.ค. 2568 และความเป็นไปได้ของการยุบสภาสามัญก่อนหน้านั้น ถือเป็นการขีดเส้นกำหนดช่วงเวลาให้กับทรัสส์ ในการเดินหน้าความมุ่งมั่นมีส่วนร่วมกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ให้ได้ในทุกมิติที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภายในประเทศที่แน่นอนว่า เต็มไปด้วยปัญหาซึ่งต้องเร่งรัดแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม หมายความว่า ทรัสส์ต้องเลือกว่า จะให้น้ำหนักกับเรื่องใดก่อน หรือมากกว่ากัน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES