ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบางส่วนเป็นปัจจัยที่ป้องกันได้ โดยเฉพาะสาเหตุจาก “ผู้ขับขี่” ที่ต้องยอมรับว่า จำนวนไม่น้อยฝ่าฝืนกฎหมาย ขับขี่ด้วยความประมาท หวาดเสียว รวมถึงมึนเมาขณะขับขี่ โชคดีก็เจ้าหน้าที่สกัดพบก่อน แต่บ่อยครั้งโชคร้ายที่เกิดอุบัติเหตุแล้วจึงตรวจพบ

ประเทศไทยติดอันดับมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดเสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าภูมิใจ แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 การล็อกดาวน์ต่อเนื่องจะทำให้สถิติความสูญเสียบนท้องถนนลดลง แต่เมื่อยกเลิกแนวโน้มก็กลับมาเหมือนเดิม

ข้อมูลจาก กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.65 (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ส.ค.65) มีจำนวน 8,624 คน (คิดเป็น 13.22 คนต่อประชากรแสนคน) จำนวนนี้ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 64 ที่มีผู้เสียชีวิต 8,967 คน (คิดเป็น 13.71 คนต่อประชากรแสนคน)

โดยเฉลี่ยจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเดือนละ 1,437 คน…

ประเภทผู้ใช้รถใช้ถนนที่เสียชีวิตมากสุด คือ รถจักยานยนต์ ร้อยละ 82.72 รองมาเป็นรถยนต์ ร้อยละ 9.81 รถบรรทุกขนาดเล็ก/รถตู้ ร้อยละ 4.49 คนเดินเท้า ร้อยละ 2.98 สำหรับช่วงวัยที่เสียชีวิตมากสุดคือ 15-24 ปี

ที่ผ่านมา “เมาแล้วขับ” เป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เศร้าสลดอันดับต้น สะท้อนให้เห็นความบกพร่องต่อความรับผิดชอบส่วนรวม เนื่องจากไม่เพียงตัวผู้ขับขี่ที่อันตราย แต่รวมถึงชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ถนนคนอื่นด้วย

โดยเฉพาะกลุ่มเมาแล้วขับซ้ำ ๆ ที่แม้ถูกจับคุมประพฤติแต่บางรายไม่เพียงพอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรม จนถูกหยิบยกเป็นหนึ่งในสาระสำคัญตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ใหม่แล้ว  

“ผิดครั้งแรก” อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,00020,000 บาท

“ผิดซ้ำ” (ภายใน 2 ปี นับจากวันที่กระทำความผิดครั้งแรก) อัตราโทษเพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต

หากขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาต หรือถูกพักใช้หรือเพิกถอน โทษจะยิ่งสูงขึ้นอีก “1 ใน 3” และหากมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะให้ศาลพิพากษา “เพิ่มโทษ” อีก “กึ่งหนึ่ง” ของโทษที่ศาลกำหนด

สรุปคือเมาแล้วขับผิดซ้ำ ศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ!!!

เชื่อว่าบนท้องถนนมีผู้ขับขี่เมาแล้วขับไม่น้อย แต่จากข้อมูล กรมคุมประพฤติ เฉพาะสถิติ กระทำผิดซ้ำของผู้ถูกคุมประพฤติคดีขับรถขณะเมาสุรา ช่วงปีงบประมาณ 62-64 (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มี.ค.65) มีดังนี้

ปี 61 มีผู้พ้นการคุมประพฤติคดีเมาแล้วขับด้วยดี  41,510 คน จากข้อมูลกระทำผิดซ้ำพบว่า ปี 62 มี 1,294 คน คิดเป็นร้อยละ 3.12, ปี 63 มีจำนวน 1,039 คน คิดเป็นร้อยละ 2.50 และปี 63 มีจำนวน 589 คน คิดเป็นร้อยละ 1.41

นอกจากเพิ่มโทษทางกฎหมาย อีกประเด็นเกี่ยวเนื่องและถูกคาดหวังพฤติกรรมเมาแล้วขับจะแผ่วลงคือ ขั้นตอนตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ฉบับล่าสุด ระบุชัดให้การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและสารเสพติดในร่างกายผู้ขับขี่ จากเดิมต้องได้รับการยินยอม แก้ไขเป็นให้อำนาจพนักงานสอบสวนสามารถร้องขอแพทย์โดย “ไม่ต้องรอความยินยอม”

เมาแล้วขับที่คิดจะลอยนวล จึงต้องคิดใหม่ เมื่อโทษจำคุกอาจสูญเสียงาน และอนาคตมากกว่าที่คิด!!!

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]