เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ประกาศว่ารัฐบาลจะลดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิง และราคาน้ำมันเบนซินในอินโดนีเซียจะขยับตัวสูงขึ้น โดยน้ำมันเบนซินแบบเปอร์ทาไลต์ ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในปริมาณ 1 ลิตร เพิ่มราคาจาก 7,650 รูเปียห์ (ประมาณ 18.83 บาท) เป็น 10,000 รูเปียห์ (ประมาณ 24.62 บาท) ส่วนน้ำมันแบบเปอร์ทาแม็กซ์ที่มีค่าออกเทนสูงกว่า มีราคาสูงขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา จาก 12,500 รูเปียห์ (ประมาณ 30.77 บาท) เป็น 14,500 รูเปียห์ (ประมาณ 35.70 บาท)


การตัดสินใจดังกล่าว กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ว่าการลดเงินช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่, ใครจะได้ผลประโยชน์ และผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงการชี้ให้เห็นถึงการขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสาธารณะในประเทศ ซึ่งการพิจารณาที่สำคัญเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น เมื่อต้นทุนของสินค้าหลักอย่างน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 31%


อย่างไรก็ตาม มันมีความแตกต่างที่สำคัญเกิดขึ้น ราคาของน้ำมันเบนซินไม่เพิ่มขึ้น แต่เงินอุดหนุนลดลง ซึ่งมันจะผลักดันต้นทุนของน้ำมันเบนซินให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดจริง และเนื่องจากเงินสนับสนุนเพียงแค่ถูกลดลง ไม่ได้ตัดออก น้ำมันเปอร์ทาไลต์ 67 เซ็นต์ต่อลิตร (ประมาณ 4.02 บาท) จึงยังคงมีราคาที่ถูกกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก ในโลกที่น้ำมันดิบมีราคา 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ประมาณ 3,303.54 บาท) อีกทั้งรัฐบาลเพียงแค่ตัดสินใจว่า ต้องการที่จะลดปริมาณที่ไม่ตรงกัน ระหว่างราคาตลาดกับราคาขายปลีกที่ออกมาจากงบประมาณของรัฐโดยตรง


หากพูดโดยทั่วไปแล้ว การลดเงินช่วยเหลือเชื้อเพลิงเป็นการปฏิรูปในระยะยาวที่ดี เพราะเงินอุดหนุนในวงกว้างเช่นนี้ไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งใครก็ตามที่ใช้น้ำมันเปอร์ทาไลต์ จะได้ประโยชน์จากเงินช่วยเหลือ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยหรือสูงก็ตาม นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเงินสนับสนุนเชื้อเพลิงจึงเป็นที่นิยมอย่างมาก และเมื่อมีการประกาศใช้ มันจะกลายเป็นสิ่งที่ยึดมั่นอย่างแน่นหนา เนื่องจากไม่มีใครต้องการเจอกับความร้อนแรงทางการเมือง เพราะไปยุ่งเกี่ยวกับมัน


ถึงการปฏิรูปเงินช่วยเหลือเหล่านี้ จะอยู่ในวาระมาเป็นเวลานานในอินโดนีเซีย แต่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด รู้สึกว่าตอนนี้เป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะลดมันลง เพราะราคาน้ำมันที่สูง สามารถให้ข้ออ้างที่สมเหตุสมผลได้ ยิ่งไปกว่านั้น มันเป็นเพราะว่าเขาจะไม่ลงสมัครเลือกตั้งใหม่ และมีทุนทางการเมืองเหลือไว้ เพื่อที่เขาจะสามารถทำสิ่งที่ไม่เป็นที่นิยมได้

South China Morning Post

แม้จะมีความกังวลที่มีเหตุผลเกี่ยวกับผลกระทบของราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นต่อคนยากจนและต่อภาวะเงินเฟ้อ แต่มันจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับรัฐบาล ในการใช้จ่ายไปกับเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงในวงกว้างที่น้อยลง และมุ่งเป้าให้ความช่วยเหลือโดยตรงไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือใช้เงินทุนเหล่านั้นเพื่อลงทุนในสิ่งต่าง ๆ เช่น การขนส่งสาธารณะ และพลังงานหมุนเวียน โดยมีการพูดคุยเกี่ยวกับการเอนเอียงไปในทิศทางนี้ผ่านความช่วยเหลือทางสังคมบางประเภท ที่จะรองรับราคาน้ำมันเบนซินที่สูงขึ้นสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และโดยหลักการแล้ว มันเป็นแนวคิดที่ดี


อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินช่วยเหลือยังทำให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลจะใช้จ่ายเงินอย่างไร ซึ่งในงบประมาณปี 2566 ที่มีการเสนอของอินโดนีเซีย มีการคาดการณ์ว่า การใช้จ่ายจะยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าการขาดดุลงบประมาณจะลดลงก็ตาม

อีกทั้งสิ่งนี้กำลังประสบความสำเร็จในด้านรายได้ ผ่านภาษีสรรพสามิตและภาษีการบริโภคที่สูงขึ้น รวมถึงด้านการใช้จ่ายจากการปฏิรูปเงินอุดหนุน ทว่าบางคนอาจมองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่น่าพอใจ เพราะเงินออมจากเงินสนับสนุนที่ลดลง จะถูกนำกลับมาใช้ในโครงการที่เป็นที่ถกเถียง และประชาชนอาจไม่ชอบแนวคิดของการที่จะต้องจ่ายเงินมากขึ้นที่สถานีบริการน้ำมัน เพื่อเป็นการให้เงินทุน


ทั้งนี้ทั้งนั้น ประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นอีกประการหนึ่งคือ ราคาน้ำมันเบนซินที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะกดดันเจ้าหน้าที่ให้มีความจริงจังเกี่ยวกับการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยการลงทุนในพลังงานสะอาดและการขนส่งสาธารณะแทน ดังเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย ซึ่งการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเริ่มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เพราะเมื่อน้ำมันเบนซินมีราคาถูกเกินจริงตามนโยบาย และผู้บริโภคได้รับการปกป้องจากราคาตลาด ผู้กำหนดนโยบายหลายคน จึงมีแรงจูงใจที่น้อยกว่าอย่างมาก ในการจัดการปัญหาเหล่านี้.


เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS