จากการที่ “ขาดแคลนแรงงานทดแทนกลุ่มเดิม”… เนื่องจากกลุ่มประชากรที่เป็นแรงงานกลุ่มเดิมกำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณหรือวัยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้มีความพยายามที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงมีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการ “นำเข้าประชากร” เพื่อมาทดแทนแรงงานที่หายไป และกับแนวคิดนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนการฉายภาพผ่านบทความเชิงวิชาการไปแล้วก่อนหน้านี้ ที่ชี้ว่าไทยจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อรับมือปัญหานี้อย่างเร่งด่วน!!!

ทั้งนี้ เรื่องของการ “แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนที่เกิดจากอัตราการเกิดต่ำ” นั้น เรื่องนี้ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าที่สุดแล้วประเทศไทยจะมีแนวทางรับมือกับปัญหานี้อย่างไรบ้าง?? และได้ผลเช่นไร?? แต่ทั้งนี้…ว่าด้วยเรื่อง “การสร้างแรงงานทดแทนกลุ่มเดิม” นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ปรากฏ “ศัพท์แปลกใหม่” ที่ฟังแล้ว “ไม่คุ้นหู…แต่น่าสนใจ” นั่นคือคำว่า… “กำลังคนระดับสูง??”  ซึ่งศัพท์คำนี้ถูกระบุในการประชุมศูนย์กลางเครือข่ายวิจัยระบบขนส่งทางรางไทย 2565 เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดย สกสว. และ ทปอ. ซึ่งมีการเน้นย้ำถึงการที่ “ไทยจำเป็นต้องเร่งสร้าง” กำลังคนระดับสูงที่ว่านี้…

“รับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี”

เพื่อจะให้ไทย “พึ่งพาตนเองได้ยั่งยืน”

ไทย “ต้องเร่งสร้างกำลังคนระดับสูง!!”

สำหรับ “ศัพท์ไม่คุ้นหู” อย่างคำว่า “กำลังคนระดับสูง” นี้ แม้จะดูเป็นคำใหม่ แต่แท้จริงศัพท์คำนี้ได้เคยมีการหยิบยกนำมากล่าวถึงอยู่เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของ “การศึกษา-การพัฒนาคน” ซึ่งกับคำอธิบายเกี่ยวกับศัพท์คำนี้นั้น กรณีนี้ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจในบทความหัวข้อ “ปลดล็อกไทยสร้างคนให้ขับเคลื่อนประเทศ” ที่มีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งได้มีการอธิบาย “แผนยุทธศาสตร์” เกี่ยวกับการ “สร้างกำลังคนระดับสูง” ไว้ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจโดยสังเขปดังนี้…

ในบทความดังกล่าวได้มีการระบุถึงแผนการสร้าง “กำลังคนระดับสูง” เอาไว้ โดยชี้ว่า…กำลังคนสมรรถนะสูงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางการแข่งขัน โดยกำลังคนกลุ่มนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม แต่ทว่ากำลังคนสมรรถนะสูงในประเทศไทยนั้น พบว่า… เมื่อปี 2562 มีการรายงานไว้ว่า ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูงเพียงร้อยละ 13.8 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น การเตรียมฐานกำลังคนสมรรถนะสูงให้มีจำนวนเพียงพอจึงเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทย…

ยิ่งไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูงเพิ่ม…

ก็ยิ่งมีผลดีต่อการพัฒนาประเทศไทย

“กำลังคนระดับสูง” ในที่นี้หมายถึง “กำลังคนสมรรถนะสูง” ซึ่งจากความสำคัญของประชากรกลุ่มดังกล่าวนี้ ที่ยึดโยงกับการพัฒนาประเทศ สำหรับในส่วนของ สอวช. นั้น ก็ได้มีการกำหนดแนวทางในการเพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงในระบบ โดยมีการ กำหนดแนวทางเพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงในระบบเป็นร้อยละ 25 ภายในปี 2570 หรือภายในอีก 5 ปีนับจากนี้ซึ่งการจะบรรลุตามแนวทางหรือแผนยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ ก็ต้องเป็นไปภายใต้ 4 ประเด็นสำคัญคือ…

“ต้องเตรียมกำลังคนสมรรถนะสูงรองรับยุคหลังโควิด-19” โดยเฉพาะรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติ โดยที่… เพื่อเตรียมความพร้อม…ไทยจะต้องเร่งพัฒนากลไกการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงอย่างเร่งด่วน ผ่านการดำเนินงานร่วมกันภายใต้แพลตฟอร์มการพัฒนาคนที่หลากหลาย ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการภาคผลิตและบริการได้

“ต้องสร้างแพลตฟอร์มสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดทุกช่วงวัย เพื่อตอบโจทย์การทำงาน ตอบโจทย์การใช้ชีวิต และรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ตลอดจนควรมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำงานของผู้สูงอายุ เพื่อดึงดูดผู้สูงอายุให้มีส่วนร่วม และเพื่อชะลอการสูญเสียแรงงานที่มีสมรรถนะสูงออกจากระบบ

“ควรส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง” เพราะไทยมีฐานทรัพยากรที่หลากหลาย มีการคมนาคมที่เอื้อ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนา โดยต้องทำควบคู่ไปกับการดึงดูดกำลังคนระดับสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมพัฒนาด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยให้ขับเคลื่อนได้อย่างเต็มศักยภาพ

และอีกประเด็นคือ “ต้องพลิกโฉมระบบการอุดมศึกษา” เพื่อที่จะตอบสนองต่อทิศทางความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในอนาคต ใน 3 กลุ่มสำคัญคือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่สอดรับบริบทโลกในอนาคต กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และกำลังคนสมรรถนะสูงในสาขาสหวิทยาการ …ซึ่งเหล่านี้คือเรื่องราวกรณี “กำลังคนระดับสูง”

“ระดับสูง” ที่ “ไม่ได้เกี่ยวกับกรณีไฮโซ”

ที่ “เกี่ยวกับกำลังคนที่ไทยต้องสร้าง”

คนที่สมรรถนะสูง “แรงงานสกิลสูง”

ที่ “สำคัญต่อการอัพเกรดไทย!!”.