ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก โดยเฉพาะในรายที่ถึงขั้น “ติด” แต่ทว่า…กับกลุ่มคนที่ “ต้องการ-ตัดสินใจ” ว่าจะ “เลิกดื่ม-เลิกเมา” นั้น ถึงแม้จะตั้งใจ-ตัดสินใจแล้ว แต่บางคนก็ไม่สามารถจะทำได้ด้วยตนเอง จำเป็นที่จะต้องมี “ตัวช่วย” ด้วยการเข้าสู่ “ระบบบำบัดฟื้นฟู” เพื่อให้สามารถ “ตัดขาดการดื่ม” ได้ อย่างไรก็ตาม แต่ดูเหมือน “การเข้าถึงระบบบริการ” เพื่อที่จะ “เลิกดื่ม” นั้น…

ในไทยยังคง “มีข้อจำกัด-มีอุปสรรค”…

“เข้าถึงระบบเพื่อจะเลิกดื่ม” ยัง “ยาก!!”

ทำให้ผู้ที่อยากเลิก ทำไม่ได้ดังที่ตั้งใจไว้

ทั้งนี้ กรณี “ปัญหาของผู้ที่อยากเลิกดื่ม” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่สามารถตัดขาดได้ด้วยตัวเอง จำเป็นจะต้องอาศัยการเข้าสู่ “ระบบบำบัด” แต่กลับ “ติดขัดข้อจำกัดจนเข้าไม่ถึงระบบบริการ” นั้น วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อ-จะสะท้อนข้อมูลจากการฉายภาพไว้ผ่านทางรายงานผลการศึกษาหัวข้อ “การเข้าถึงบริการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง” ที่จัดทำโดย ดร.รุ่งนภา คำผาง และคณะ โดยการสนับสนุนจาก สสส. และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งรายงานดังกล่าวนี้ได้เผยแพร่ไว้เมื่อเดือน ธ.ค. 2564

ในรายงานผลการศึกษาการเข้าถึงบริการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ทาง ดร.รุ่งนภา และคณะ ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาเรื่องนี้ไว้ว่า… เพื่อศึกษาการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย เพื่อที่จะประเมิน ปัจจัยที่สนับสนุนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ ของผู้ที่มีปัญหาดังกล่าว โดยผลการศึกษาพบว่า… การให้บริการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระบบสุขภาพของประเทศไทยนั้น…

มี “อุปสรรคข้อจำกัด” หลายประเด็น…

กล่าวคือ… “ระบบอภิบาลยังไม่เข้มข้น” โดยถึงแม้ไทยจะมีการดำเนินงานด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มานานกว่า 10 ปี แต่ นโยบายฟื้นฟูผู้มีปัญหายังไม่ชัดเจนมากพอ เมื่อเทียบกับนโยบายอื่น ๆ เช่น นโยบายเลิกบุหรี่ นโยบายบำบัดสารเสพติด ที่มีแนวทางและงบประมาณชัดเจนมากกว่า, “ขาดตัวชี้วัดผลกระทบ” โดยปัจจุบันตัวชี้วัดที่มีอยู่นั้นจะเน้นที่การรักษา แต่ไม่มีระบบข้อมูลที่สะท้อนผลลัพธ์สุขภาพหรือผลจากการดื่มโดยตรง, “ขาดแผนบูรณาการที่ชัดเจน” โดยในที่นี้หมายรวมทั้งแผนดำเนินงานและการส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัด, “ขาดงบประมาณจูงใจ” โดยงบประมาณคัดกรองผู้ที่มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในรูปแบบงบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้ผู้จะให้บริการ…

ไม่เกิดแรงจูงใจมากพอในการจัดระบบ

ถัดมา… “ปัญหาจากการตีความ” เนื่องจากการติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกตีความเป็นการติดสารเสพติด ทำให้ไม่สามารถเบิกหรือขอรับชดเชยในการเข้ารับการบำบัดได้ อาทิ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ เว้นแต่จะเข้ารับบริการด้วยโรคทางกายหรือโรคทางจิต, “ขาดงบประมาณสนับสนุนชุมชน” ทำให้การบำบัดนอกสถานพยาบาลของรัฐมีไม่มากพอ ทั้งที่การบำบัดโดยชุมชนสามารถช่วยป้องกันการกลับมาดื่มซ้ำได้ดีมาก, “ข้อจำกัดด้านสถานที่” โดยสถานที่บำบัดมักอยู่ในคลินิกจิตเวช หรือหอผู้ป่วยจิตเวช ทำให้ผู้ที่มีปัญหานี้กลัวจะถูกคนรอบข้างมองตนเองเป็นผู้ป่วยจิตเวช จึงไม่กล้าเข้ารับการบำบัด

“ผู้บำบัดมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการบำบัด” เช่น รู้สึกอายที่จะต้องเข้ารับบริการบำบัด หรือไม่คิดว่าตนเองจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัด เป็นต้น, “ระบบส่งต่อยุ่งยาก” โดยผู้ที่มีปัญหาการดื่มมักจะมีปัญหาทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่ระบบส่งต่อไปโรงพยาบาลเฉพาะทางนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบบริการ และอีกประเด็นคือ… “สังคมยังมีทัศนคติเชิงลบ” ต่อผู้เข้ารับการบำบัด รวมถึงไม่มีความเชื่อมั่นในตัวผู้บำบัด ทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดขาดกำลังใจและแรงจูงใจที่จะ
เลิกดื่ม …ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “ข้อจำกัด” ที่คณะผู้ศึกษาวิจัยค้นพบ และสะท้อนไว้

จะ “เข้าถึงระบบบำบัด” ยัง “ไม่สะดวก”

นี่คือปัจจัยที่ “เป็นอุปสรรคการเลิกดื่ม!!”

ทั้งนี้ ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยได้เสนอ “แนวทางแก้ปัญหา” ไว้ โดยมี “ข้อเสนอแนะ” ประเด็นต่าง ๆ ดังนี้คือ… ควรขับเคลื่อนให้การคัดกรองผู้ที่มีปัญหาเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หรือ Service Plan, ควรผลักดันให้มีการติดตามตัวชี้วัดทั้งการคัดกรองและบำบัด ในระเบียบการตรวจราชการ และในระบบฐานข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ, เร่งสนับสนุนให้ผู้ประกันตนรู้ถึงสิทธิในการเข้าถึงบริการในสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้ เมื่อมีปัญหาการดื่ม, ควรจัดสถานบริการที่เป็นมิตร สำหรับผู้ที่มีปัญหาการดื่ม และรวมถึง ควรลดการตีตราผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วย

เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปจากการศึกษา

“บำบัดติดเมา” ด้วยระบบบริการนั้น…

กรณีนี้…“ระบบบริการก็มีข้อติดขัด”

ก็ “มีอุปสรรค” ที่ “ต้องลด-ละ-เลิก”.