ในตอนที่แล้ว ทิ้งท้ายไว้เรื่อง เหตุผลในการปฏิเสธเข้าเมือง ตอนนี้ขอมาอธิบายกันต่อสักหน่อยนะครับ การที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จะพิจารณาไม่ให้ใครเข้าประเทศสักคน ต้องคิดให้ถ้วนถี่ ไม่ใช่ว่าเหม็นขี้หน้า หมั่นไส้ ก็ไม่ให้เข้านั้นไม่ได้ครับ ต้องอิงหลักกฎหมาย
 
ตามที่ได้บอกไว้นั่นคือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 12 ที่กำหนดลักษณะคนที่ไม่สมควรให้เข้าประเทศไว้ 11 ประการ ดังนั้นถ้าเราจะพิจารณาไม่ให้ใครเข้าประเทศไทย ก็ต้องดูว่าบุคคลนั้นมีลักษณะใดเข้าตามข้อพิจารณาหรือไม่ มิฉะนั้นอาจเป็นเหตุให้เขาฟ้องกลับว่ากลั่นแกล้งได้
 
แต่เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก การจะพิจารณาทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้วิธีการสุ่มตรวจ หรือ ดูบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะสะดุดตาน่าสงสัย
 
ยกตัวอย่าง เช่น นักเดินทางมีลักษณะเป็นคนจีน หรืออินเดีย แต่ถือหนังสือเดินทางฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ที่พอมีทักษะอาจทักทายเขาด้วยภาษาฝรั่งเศส แต่เขาตอบกลับไม่ได้ อย่างนี้ก็น่าสงสัย ต้องมีการเชิญตัวออกจากแถวไปเข้าห้องเย็น สัมภาษณ์ เป็นต้น
 
เหตุผลการปฏิเสธการเข้าเมืองที่ใช้มาก รองจาก เรื่องหนังสือเดินทางฉีกขาด เสียหาย หมดอายุ หรือไม่มี VISA คือไม่มีปัจจัยในการยังชีพตามควรแก่การเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นเหตุผลครอบจักรวาล สามารถนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจได้อย่างหลากหลาย 
 

ปัจจัยยังชีพคืออะไร? เมื่อถามเจ้าหน้าที่หลายคน ยังคงเข้าใจผิดกันว่า ปัจจัยยังชีพนั้นหมายถึง “เงิน” …ไม่ใช่ครับ…
 
เพราะเรื่องข้อกำหนดเรื่องเงิน มีบัญญัติไว้แล้วในอนุ 9 ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดว่า นักท่องเที่ยวได้รับการตรวจลงตราประเทศท่องเที่ยวหรือคนอยู่ชั่วคราวต้องแสดงเงินติดตัว หรือเอกสารแลกเปลี่ยนฯ เทียบเท่าเงิน 20,000 บาท และ 10,000 บาท สำหรับกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับการตรวจลงตรา 
 
ทีนี้คำว่าปัจจัยยังชีพหมายถึงอะไร ผมขอให้ไปดู พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ในภาคภาษาอังกฤษ เขาเขียนว่า Having no appropriate means of living following entry into the Kingdom.  “Means” ในบริบทนี้ หมายถึง จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ที่เหมาะสม สมควรในการเข้ามาในราชอาณาจักร 
 
ง่าย ๆ คือเราพิจารณาแล้วเห็นว่า คนต่างชาติรายนี้ “จะเข้ามาเพื่ออะไรแน่” นั่นเอง มาเที่ยว มาทำงาน มาอยู่กับครอบครัว ก็ต้องให้ถูกต้องตามประเภทของ VISA ที่เขาได้รับมา
 
ขอยกตัวอย่างเรื่องจริงเพื่อขยายความให้ความเข้าใจ มีพี่น้องชาวไทยสองคน เป็นลูกของข้าราชการท่านหนึ่ง ตั้งใจจะไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเรียนที่ไหน เลยขอ VISA นักท่องเที่ยว เพื่อเดินทางไปหาข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ทั้งคู่เดินทางไปพร้อมกันครับ
 
เมื่อถึงสหรัฐอเมริกาแล้วเข้าช่องตรวจหนังสือเดินทางคนละช่อง เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ซักถามถึงเหตุผลการมาประเทศสหรัฐอเมริกา คนหนึ่งตอบว่า “มาเที่ยว” ส่วนอีกคนตอบว่า “มาหาที่เรียนต่อ” คนแรกได้รับอนุญาตให้เข้าระเทศ ส่วนอีกคนถูกปฏิเสธครับ เพราะเจ้าหน้าที่มองว่า คุณมีวัตถุประสงค์ในการเข้าประเทศไม่ตรงกับประเภทของ VISA ที่ได้มา
 

ตัวอย่างเคสที่ผมปฏิเสธ เคสแรก นักท่องเที่ยวมาจากเอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล)  ลักษณะการแต่งกายดูโดดเด่นกว่าใครในแถวของนักเดินทางที่รอต่อคิว ชุดสูทใหม่เอี่ยมของเขาทำไมมันดูไม่เข้ากันกับอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะหน้าตา ผิวพรรณ ทรงผม แววตา ความประหม่าไม่มั่นใจ 
 
เมื่อแยกมาสัมภาษณ์ มักจะพบว่า นักท่องเที่ยวเหล่านี้ถือหนังสือเดินทางใหม่เอี่ยม มี VISA ท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย จากหนังสือเดินทาง เขาไม่เคยเดินทางไปประเทศไหนมาก่อนเลย ในกระเป๋าสตางค์เก่าๆ มีธนบัตร 100 USD ใหม่เอี่ยม 7 ใบพอดีเป๊ะ (แลกได้ราว 20,000 บาท)
 
ในกระเป๋าที่ถือมามีเสื้อผ้าเก่าๆ มีเอกสารวุฒิบัตรการศึกษา โทรศัพท์ที่ใช้เป็นรุ่นเก่าจอขาวดำ ไม่มีแผนที่การเดินทาง ไม่พกกล้องถ่ายรูป ผิดวิสัยนักท่องเที่ยวปกติ เขาพอจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้บ้าง สอบถามได้ความว่าจะมาเที่ยว
 
เมื่อถามถึงสถานที่เที่ยว เขาบอก ได้เพียง Bangkok สอบถามถึงที่พักก็ตอบไม่ได้ เชื่อแน่ว่า ถ้าผ่าน ตม.ไปได้ก็จะมีคนมารอรับอยู่ข้างนอก เคสนี้น่าเชื่อว่าจะมาลักลอบทำงานหรือไปประเทศที่สาม อย่างนี้ถือว่า “จะเข้ามาทำไมแน่ ไม่รู้แน่ชัด” ผมจึงปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ
 
เคสที่สอง นักเดินทางผิวสี 2 ราย จากแอฟริกา ได้ Visa NON B หรือ เพื่อมาทำงาน ทำธุรกิจ มาจากสถานทูตไทยในต่างประเทศ  สอบถามแล้ว เขาบอกว่าจะเข้ามาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เขาแสดงเอกสารการเซ็นสัญญากับทางโรงเรียนให้ดู ก็ OK นะ ถามแล้วตอบได้ มีเหตุผลเข้าประเทศตรงตาม VISA 
 

แต่เมื่อเขาจะมาสอนภาษาอังกฤษ  ผมขอ Test หน่อยได้ไหม  ให้เขาทำข้อสอบภาษาอังกฤษ จากคู่มือไวยกรณ์ภาษาอังกฤษ ระดับมัธยม 4 – 6  จำนวน 20 ข้อ ที่ผมทำเตรียมเอาไว้รับมือกับคนเหล่านี้ คนแรกทำได้ 6 ข้อ ส่วนอีกคนทำได้ 9 ข้อ  “คุณจะสอนภาษาอังกฤษนักเรียนได้ยังไง …ผมเสียใจ…คุณไม่ได้ไปต่อ” ผมบอกเขา ดังนั้นการได้ VISA ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าคุณจะเข้าประเทศไทยได้
 
งานตรวจหนังสือเดินทาง ไม่ใช่งานตรวจตั๋วเข้าสวนสนุก การใช้ดุลยพินิจ พิจารณาว่า คนต่างชาติที่ถูกสุ่มเลือกออกมาเพื่อสัมภาษณ์จากแถวรอตรวจหนังสือเดินทาง คนใดควรให้ผ่านเข้าไปในประเทศหรือไม่ เป็นความลำบากใจอย่างหนึ่งว่าเราตัดสินใจถูกหรือไม่
 
การตัดสินใจที่ผิดพลาดของเราอาจทำให้คนที่อุตส่าห์เดินทางมา ตั้งใจมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ต้องเสียเวลาเดินทางกลับประเทศไป ทว่าการตัดสินใจที่ถูกต้องก็สามารถคัดกรองไม่ให้คนไม่ดี หรือคนที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวแต่ตั้งใจจะเข้ามาทำสิ่งผิดกฎหมายไม่ให้เข้าประเทศซึ่งทุกวันนี้ก็มีมากมายอยู่แล้ว
 
แต่อย่างไรก็ดี การใช้ดุลยพินิจที่เกินดุลก็ไม่เป็นคุณ 
 
ผู้เขียนเคยสอนลูกน้องถึงปริศนาของ Justitia หรือ เทพียุติธรรม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานยุติธรรมของแทบทุกประเทศในยุโรป เป็นรูปของผู้หญิงที่มีผ้าผูกตา มือข้างซ้ายถือตาชั่ง อันแสดงถึงการตัดสินใจโดยปราศจากอคติ ส่วนมือขวาที่ถือดาบสองคมเล่มยาวนั้น หมายถึงการตัดสินใจต้องถูกต้องและเด็ดขาด
 
…เพราะถ้าพลาด ดาบที่มีสองคมนั้นก็อาจประหารตัวเอง เช่นกัน
…………………………………
คอลัมน์ : Story  ผู้กองกบ
โดย : ผู้กองกบ