พื้นที่ราว 1 ใน 3 ของปากีสถานจมอยู่ใต้บาดาล มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1,200 คน ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ฝนมรสุม “ติดสเตียรอยด์” ซึ่งน่าจะทวีความรุนแรง เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กลับไม่ใช่สาเหตุเดียวของความทุกข์ยาก เช่นเดียวกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดบ่อยครั้งมากขึ้นทั่วโลก ปัญหามากมายตั้งแต่การขาดการลงทุนในระบบเตือนภัย ไปจนถึงการสร้างบ้านในเขตอันตราย และความล้มเหลวของเจตจำนงทางการเมือง ที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญซึ่งมีผลกระทบทั้งหมด

นางซิตา เซเบสวารี ผู้นำงานด้านความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (ยูเอ็นยู) ในเยอรมนี กล่าวว่า การศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจในปัจจุบันโต้แย้งว่า ความสูญเสียที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จะล้ำหน้าค่าใช้จ่ายในการเสริมความยืดหยุ่น และการลดการปล่อยก๊าซเพื่อควบคุมภัยพิบัติไปไกล แต่ถึงอย่างนั้น ข่าวดีก็คือ “มันมีหลายสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อลดผลกระทบของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น”

ยูเอ็นยูได้เผยแพร่การศึกษาที่แนะนำว่า มาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่การปกป้องธรรมชาติที่ดีขึ้น ไปจนถึงการลดความเหลื่อมล้ำ, การสนับสนุนระบบเตือนภัยล่วงหน้า, การลดการบริโภคเกินจำเป็น และการปรับปรุงการวางแผนต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อาจสร้างผลตอบแทนมหาศาลได้

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า นอกจากฝนมรสุมที่ไม่รู้จบในฤดูร้อนปีนี้แล้ว คลื่นความร้อนรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมา ยังมีส่วนอย่างมากต่ออุทกภัยในปากีสถาน เนื่องจากคลื่นความร้อนทำให้ธารน้ำแข็งบนภูเขาอันกว้างใหญ่ของประเทศละลายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แม่น้ำมีระดับน้ำสูงกว่าปกติ ซึ่งเมื่อฝนมรสุมตกหนักนานหลายเดือน น้ำก็จะเอ่อล้นและไหลเข้าท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

DW News

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การขาดความพยายามภาครัฐที่มั่นคง ในการเสริมสร้างการเตรียมพร้อมและลดความเสี่ยง ถือเป็นสาเหตุของการสูญเสียที่เกิดขึ้นเช่นกัน

หลังอุทกภัยครั้งใหญ่ระหว่างปี 2553-2555 จมหลายพื้นที่สำคัญของประเทศ รัฐบาลปากีสถานให้คำมั่นสัญญาถึงระบบเฝ้าระวังใหม่สำหรับการละลายของธารน้ำแข็ง และระบบเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้า เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงภัยพิบัติเช่นนี้ในอนาคต ถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้าบางระบบจะช่วยหลายชีวิตในเดือนนี้ แต่ปากีสถานมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาแล้วถึง 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2553 ส่งผลให้การดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวไม่ต่อเนื่อง

Al Jazeera English

รายงานของยูเอ็นยูระบุด้วยว่า วิธีหนึ่งในการทำเงินเพื่อลดความเสี่ยงที่ขยายวงกว้าง คือการทำให้มั่นใจว่าเงินสดที่ใช้ไปจะจัดการภัยคุกคามได้พร้อมกันมากกว่า 1 อย่าง โดย เซเบสวารี คาดการณ์ว่า ความไม่เสมอภาคระดับโลกที่เลวร้ายลง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ล้วนต้องการความความสนใจ แต่หากพยายามแก้ไขปัญหาทีละอย่าง มันอาจจะล้มเหลวได้ ซึ่งหลายประเทศอาจต้องลงทุนในความหลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างความยืดหยุ่นที่แท้จริง

“หากคุณใช้เงินไปกับวิธีแก้ปัญหาเดียว ดังที่เยอรมนีทำกับก๊าซรัสเซีย ราคามันค่อนข้างถูก ตราบใดที่มันยังมีอยู่” เซเบสวารี กล่าว “การกระจายวิธีแก้ปัญหา… แม้ว่าบางครั้งมันมีราคาแพงกว่าในตอนแรก แต่มันสามารถให้ผลตอบแทนได้”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS