รายงานข่าวจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการสำรวจจากประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป จำนวน 63.8 ล้านคน พบว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์จำนวน 16.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25.3 และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 42.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 66.7 ของประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 58 ที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 24.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 39.3  
 
โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลเป็นรายภาค พบว่า กทม.มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์สูงที่สุดคือ ร้อยละ 43.0 iองลงมาคือ ภาคกลาง ร้อยละ 24.7 ภาคเหนือ ร้อยละ 23.1  ภาคใต้ ร้อยละ 22.5 และต่ำที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 20.1 สำหรับการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า กทม. มีผู้ใช้สูงที่สุดเช่นเดียวกัน คือ ร้อยละ 85.3 รองลงมาคือ ภาคกลาง ร้อยละ 72.0 ภาคใต้ ร้อยละ 65.2 ภาคเหนือ ร้อยละ 59.6 และต่ำที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 56.8   

 และเมื่อจำแนกการใช้อินเทอร์เน็ตแบ่งตามกลุ่มอายุต่าง ๆ พบว่า ทุกกลุ่มอายุมีแนวโน้มใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้น โดย กลุ่มอายุ 15-24 ปี มีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุด ร้อยละ 95.5 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 25-34 ปี ร้อยละ 92.3 และกลุ่มอายุ 35-49 ปี ร้อยละ 79.1 ส่วนสถานที่ใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย พบว่า ส่วนใหญ่ใช้ตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเป็นการใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือร้อยละ 90.1 รองลงมาคือ ใช้ที่บ้าน/ที่พักอาศัยร้อยละ 65.6 และใช้ที่ทำงาน ร้อยละ 30.9  

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลสำรวจจะชี้ให้เห็นว่าคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อสำรวจถึงการใช้งานกลับพบว่า กิจกรรมที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เป็นการใช้งานเล่นโซเซียลเน็ตเวิร์ก สูงถึงร้อยละ 93.0 รองลงมาคือ ใช้โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (VoIP) เช่น โทรผ่านไลน์, เฟซบุ๊ก, เฟซไทม์, วอทแอพ เป็นต้น ร้อยละ 84.4 และใช้ในการดาวน์โหลด หรือ สตรีมมิ่งรูปภาพ, หนัง, วิดีโอ, เพลง, เกม เล่นเกมดูหนัง ร้อยละ 70.3
 
ในขณะที่ความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 5-7 วัน ใน 1 สัปดาห์ มีสูงถึงร้อยละ 88.4 รองลงมาใช้ 1-4 วันใน 1 สัปดาห์ ร้อยละ 11.2 ส่วนอุปกรณ์ในการเข้าถึงหรือใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต พบว่า ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูง คือ ร้อยละ 96.4 ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ร้อยละ 31.5 ใช้คอมพิวเตอร์พกพาหรือโน้ตบุ๊ก ร้อยละ 12.5 และแท็บเล็ต ร้อยละ 4.9

ทั้งนี้ แม้คนไทยจะใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นแต่ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยซื้อสินค้าหรือบริการทางอินเทอร์เน็ต ถึงร้อยละ 73.1 โดยให้เหตุผลว่า ชอบซื้อสินค้าด้วยตนเอง ร้อยละ 41.7  และ ไม่สนใจซื้อทางอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 30.5 ส่วนร้อยละ 14.6 ไม่มีความมั่นใจ ความรู้ในการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ส่วนประชาชนที่เคยซื้อสินค้า ร้อยละ 26.9 เป็นการซื้อเครื่องแต่งกาย รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ ร้อยละ 78.1 เครื่องสำอาง ร้อยละ 38.8 และ ซื้ออาหาร ของอุปโภคบริโภค ของใช้ในครัวเรือนร้อยละ 17.8

เมื่อดูข้อมูลภาพครัวเรือนที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตแบบไร้สายเคลื่อนที่ผ่านโทรศัพท์มือถือ 3จี ขึ้นไป จำนวนร้อยละ 74.7 และเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ ร้อยละ 20.9 อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเขตเทศบาลลดลงจากร้อยละ 42.6 ในปี 58 เป็นร้อยละ 31.5 ในปี 62 ส่วนผู้อยู่นอกเขตเทศบาลลดลงจากร้อยละ 28.7 เป็นร้อยละ 20.2 ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาล โดยในเขตเทศบาลจากร้อยละ 49.4 ในปี 58 เป็นร้อยละ 74.6 ในปี 62 ส่วนนอกเขตเทศบาล จากร้อยละ 31.2 เพิ่มเป็นร้อยละ 60.1…