ในเรื่องของความจำเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ มีผลต่อการเรียน การทำงาน และการดำเนินชีวิต “สมอง” อวัยวะที่มีหน้าที่ในการรับรู้ จดจำสิ่งต่าง ๆ การฝึกฝนการรับรู้ ฝึกคิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ล้วนแต่ส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว …

การฝึกเพิ่มพลังสมองให้สตองช่วยการจดจำที่แม่นยำ มีเรื่องน่ารู้และมีวิธีการดูแลเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ป้องกันและชะลอสมองเสื่อม โดย พญ.อชิรญา สุวรรณหงส์ หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความรู้ในประเด็นนี้ว่า สมอง มีความสำคัญสามารถจะฝึกฝนพัฒนาได้ สมองมีหน้าที่หลายอย่าง โดยเรื่องของความจำเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังที่กล่าวมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงานและการเรียนซึ่งล้วนแต่ต้องอาศัยความจำและการจดจำ

ขณะที่เราใช้ชีวิตประจำวัน ในเรื่องของความจำสามารถฝึกฝน กระตุ้นสมองได้เรื่อย ๆ การกระตุ้นพัฒนาสมองมีความสำคัญและไม่เฉพาะเพียงวัยใดวัยหนึ่ง ทุกช่วงวัยควรได้รับการฝึกฝน ฝึกคิด เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ

พญ.อชิรญา สุวรรณหงส์

“การใช้ชีวิตประจำวัน หากทำกิจกรรมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ  อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นสมอง การปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้มีความหลากหลาย ฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นสมอง มีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งสูงวัยขึ้น ถ้าไม่มีกิจกรรมใด ๆ ที่ส่งเสริมการกระตุ้นพัฒนาสมอง ก็มีโอกาสทำให้สมองเสื่อมถอยลงเร็วกว่าผู้ที่ฝึกฝนตนเอง ฝึกใช้สมองบ่อย ๆ อย่างวัยเกษียณถ้ามีกิจกรรม มีงานอดิเรกในชีวิตประจำวัน ได้เรียนรู้ ได้ผ่อนคลายเพลิดเพลินไปกับงานอดิเรก นอกจากมีผลต่อสมอง ต่อร่างกายแล้วยังดีต่อจิตใจ โดยสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อกัน”

หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวช พญ.อชิรญา อธิบายเพิ่มอีกว่า การหลงลืม สิ่งนี้เกิดขึ้นและพบได้แม้แต่วัยของพวกเรา ความรู้สึกลืม จำไม่ได้ไม่เจาะจงเฉพาะผู้สูงอายุ และยังมีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดมากทำให้สมาธิไม่ดี เมื่อสมาธิไม่ดีก็จะหลงลืมได้ง่ายขึ้น ไม่สดชื่นแจ่มใส

อีกทั้งความเครียดยังมีผลสืบเนื่องมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมในอนาคต โดยเครียดเรื้อรังนาน ๆ อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการทำงานของสมอง การฝึกเพิ่มพลังสมอง ลดคลายความเครียด สร้างอารมณ์แจ่มใส จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม ช่วยการจดจำ

กิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมองมีหลากหลายกิจกรรม การทำอาหาร จากเมนูที่คุ้นเคย ทำเป็นประจำ หากปรับเปลี่ยนสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ หรือเมนูที่ยังไม่เคยทำ การได้ค้นสูตรทดลองทำมีส่วนช่วยสมอง ฝึกทักษะการคิด การตัดสินใจ ทั้งช่วยเรื่องการจดจำ ได้ฝึกฝนหลายด้านไปพร้อมกัน 

การอ่านหนังสือ อ่านอะไรก็ได้ที่สนใจ การอ่านถ้าอ่านแล้วได้ย่อยความรู้ ย่อยเรื่องราวสิ่งที่อ่าน ได้นำไปเล่า แชร์มุมมองจากหนังสือก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ฝึกทักษะความจำ ทั้งนี้การอ่านที่จะนำไปสื่อสารกับบุคคลอื่นได้นั้นต้องอาศัยการจดจำ เป็นอีกวิธีกระตุ้นสมอง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสมอง

“การอ่านไม่จำเป็นจะต้องเป็นหนังสือวิชาการ เลือกอ่านเล่มใดก็ได้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย การ์ตูนหรือเล่มโปรดที่ไม่ได้อ่านมานาน การอ่านนอกจากให้ความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย การอ่านยังเสริมสร้างความสตรองให้กับสมองของเรา อีกทั้งการอ่านยังช่วยฝึกทักษะภาษา ได้เรียนรู้คำศัพท์ มีคลังคำเพิ่มขึ้น กระตุ้นสมองอีกทางหนึ่ง”

คุณหมออชิรญา แนะนำเพิ่มอีกว่า การทำงานฝีมือ งานศิลปะ วาดภาพ ก็เป็นอีกวิธีที่นอกจากช่วยเรื่องการฝึกคิด ยังช่วยในเรื่องอารมณ์ ลดคลายความเครียด หรือ กิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยได้มาก 

“การเล่นเกมมีส่วนช่วยกระตุ้นสมองแต่เกมที่เลือกนำมาเล่นต้องมีความเหมาะสม อย่างเช่น หากต้องการกระตุ้นในเรื่องการคิด การวางแผน อาจเลือกเกมที่มีส่วนสนับสนุนส่งเสริม เช่น เล่นหมากฮอส หมากรุก หรือในเรื่องความจำ อาจเลือกเล่นเกมประเภท จับผิดภาพ จำรูปภาพ เกมที่มีการคิดคำนวณตัวเลข ค้นหาผลลัพธ์ ฯลฯ แต่ทั้งนี้อยากให้เล่นเกมที่ส่งเสริมทักษะด้านต่าง ๆ ไม่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง”

นอกจากนี้ การออกกำลังกาย การพักผ่อนเพียงพอ ก็มีความสำคัญ จากที่กล่าวการฝึกฝนเพิ่มพลังสมอง เพิ่มความสตรอง มีผลต่อทุกวัย เด็ก ๆ สามารถกระตุ้นพัฒนาสมองได้จากการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เรื่อย ๆ ถือเป็นการกระตุ้นสมอง หรือถ้าผู้ปกครองเห็นถึงสิ่งที่เขาสนใจ หรืออยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม หรือทักษะใดที่ไม่ถนัด เช่นเรื่องของภาษา การคิดคำนวณ ฯลฯ อาจเพิ่มเติมในสิ่งเหล่านั้น 

วัยเรียน วัยทำงาน การพัฒนาสมองยังคงมีความสำคัญ โดยวัยทำงานอาจต้องค้นหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการงานโดยการค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ เหล่านี้ เป็นการเพิ่มพลังสมองไปในตัว ส่วน ผู้สูงอายุ การพบปะเพื่อนวัยเดียวกัน หรือมีกิจกรรมกับครอบครัว หรือการได้พาผู้สูงอายุท่องเที่ยวเดินทางเปลี่ยนบรรยากาศไปในสถานที่ใหม่ ๆ บ้าง ได้เรียนรู้ พบเห็นสิ่งใหม่ ๆ ได้ปรับสภาพอารมณ์ก็เป็นอีกความสุข เป็นการพัฒนาศักยภาพ สมองให้ยังคงสตรอง

“ปัญหาของผู้สูงอายุ เมื่อมีวัยเพิ่มขึ้นจะพบปัญหา คิดช้าลง และอาจมีหลงลืมได้ง่ายขึ้นในความจำระยะสั้นอย่างเช่น บางครั้งวางของแล้วลืม จำไม่ได้ หาไม่เจอ ซึ่งถ้านาน ๆ ครั้งอาจไม่เป็นไร แต่ถ้าหลงลืมกระทั่งต้องมีคนคอยดูแล ช่วยเหลือการใช้ชีวิตประจำวัน หรือหลงลืมจำไม่ได้ว่าที่นี่คือที่ไหน หรือไปในที่ที่คุ้นเคยแล้วจำไม่ได้ ต้องมีคนไปด้วย ฯลฯ ก็ต้องสงสัยแล้วว่าไม่ใช่เป็นการหลงลืมโดยทั่วไป”

การหลงลืมทั่ว ๆ ไป เกิดขึ้นได้ แต่ก็ต้องพิจารณาอีกด้วยว่าการหลงลืมของเรามีความสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นด้วยหรือไม่ เช่น พักผ่อนน้อยไม่เพียงพอ ทำให้มีปัญหาความจำมากขึ้นได้ หรือในช่วงนั้นมีความเครียด ความกดดัน ก็เป็นเหตุให้หลงลืมได้เช่นกัน ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย

ส่วนการย้ำคิดย้ำทำ บางคนหลงลืมและเริ่มเช็กซ้ำบ่อย ๆ ทั้งนี้เพราะจำไม่ได้ว่าได้ทำสิ่งนั้นไปหรือยัง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าเป็นการทำอะไรซ้ำ ๆ แล้วคน ๆ นั้นมีความเครียด จากสิ่งที่ทำซ้ำ เริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจต้องพบแพทย์ โดยส่วนหนึ่งนี้อาจเป็นหลักให้สังเกตตนเองเบื้องต้น

“ผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อม อาการหลงลืมจะไม่คงที่ จะค่อย ๆ แย่ลง จากเดิมที่เคยมีหลงลืมความจำระยะสั้น เป็นนาน ๆ ครั้ง อาจมีบ่อยขึ้น ถามซ้ำในเรื่องเดิมบ่อย ๆ อย่างเช่นเพิ่งถามผ่านไปไม่นาน กลับมาถามอีก ผู้ดูแลจึงต้องมีความเข้าใจโรค หรือสังเกตอาการ ทั้งนี้หากยังไม่มีภาวะสมองเสื่อมก็มีโอกาสป้องกันการเกิดโรคได้” 

หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวช พญ.อชิรญา ให้มุมมองทิ้งท้ายถึงการฝึกเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสมอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพิ่มอีกว่า กิจกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เรื่อย ๆ หรือแม้แต่การช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน ก็มีส่วนช่วยพัฒนาสมอง บางบ้านอาจกลัวผู้สูงอายุเหนื่อยจึงไม่อยากให้ทำอะไร แต่สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นทำให้สมองเสื่อมลงเร็ว

“ถ้าสิ่งใดที่ผู้สูงอายุยังคงทำได้ โดยถ้าพิจารณาแล้วว่าเหมาะสม ไม่เกินกำลังหรือไม่เป็นอันตราย อยากให้ลองทำ อย่างเช่น การรดน้ำต้นไม้ ทำอาหาร หรือดูแลบ้าน ฯลฯ นอกจากดีต่อสมอง ฝึกใช้ความคิด ทำอย่างไร ใส่เครื่องปรุงอะไร ยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัวได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ถ้ากลัวว่าท่านจะเหนื่อย อย่างการทำอาหารที่อาจต้องยืนนาน ๆ อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการนั่งทำ หรือให้ท่านเป็นผู้ช่วยหยิบจับ เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือทำอาหารเมนูง่าย ๆ ที่ใช้เวลาไม่มาก ฯลฯ โดยยังคงทำอะไรได้ด้วยตนเอง”

นอกจากส่งผลดีต่อด้านอารมณ์ ลดความเครียด ดีต่อสุขภาพใจ ยังดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพสมอง สตรองไปพร้อมกัน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ