“เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตวิถีใหม่ เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกช่วยประชาชน ทั้งการเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพเพื่อสร้างความตระหนัก และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงช่วงโควิด-19 เทคโนโลยีได้ช่วยแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต แต่สำหรับกลุ่มคนเปราะบาง (เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ) การเข้าถึงและการได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลยังมีข้อจำกัด” วีรพงษ์ เกรียงสินยศ รองประธานกรรมการบริหารแผนสร้างสรรค์โอกาสสร้างเสริมสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกเล่าถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่ส่งไม่ถึงผู้เปราะบาง ทั้งๆที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากว่ากลุ่มผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ในการเปิดโครงการพัฒนารูปแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จัดประกวดผลงานนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ

ภายใต้แนวคิด “HEALTHTECH X สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ” เปิด โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท ซีนเนอร์ยี่ อินโนเวชั่น จำกัด (SYNHUB) โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคล ชุมชน ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป พัฒนานวัตกรรมสุขภาพเพื่อกลุ่มคนเปราะบาง โดยมีเป้าหมายสนับสนุนทุน 25 โครงการ โครงการละไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาดำเนินงานถึง ส.ค. 2566

HEALTHTECH X สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ คัดเลือกไอเดียจากผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 105 ทีม ให้เหลือนวัตกร X-Innovator ที่มีคุณสมบัติและความพร้อม 25 ทีม ผ่านหลักเกณฑ์ 4 ขั้นตอนแบบเจาะลึก 1.เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง 2.การจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ 3.ความคิดสร้างสรรค์ ใช้งานได้จริง 4.สื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ

“ตัวอย่างไอเดียที่เข้ารอบ เช่น แว่นที่สามารถสแกนสิ่งกีดขวาง ส่งสัญญาณเสียงผ่านหูฟังสำหรับคนพิการทางสายตา ไม้เท้าอัจฉริยะช่วยเหลือยามฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ ผลงานทั้งหมดมุ่งเป้าสร้างสรรค์โอกาสในการมีส่วนร่วม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” นายวีรพงษ์ กล่าว

ด้าน นายนิติ เมฆหมอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SYNHUB และนายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า SYNHUB Digi-Tech Community ศูนย์บ่มเพาะและพัฒนา นวัตกรและสตาร์ทอัพ มุ่งเน้นนำดิจิทัลเทคโนโลยีสร้างสรรค์ผลงานโดยทีมผู้เชี่ยวชาญในการสร้างประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจเชิงปฏิบัติในการพัฒนานวัตกรสู่ความเป็นสตาร์ทอัพมืออาชีพ

ครั้งนี้ SYNHUB เป็นหน่วยร่วม สสส. เพื่อปั้นและบ่มเพาะ X-Innovator ทั้ง 25 ทีม มุ่งสร้างศักยภาพทีมและช่วยพัฒนาผลงานดิจิทัลเทคโนโลยี ให้ตอบโจทย์การสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มเปราะบาง และโค้ชการพัฒนางานในทุกมิติ ทั้งด้านธุรกิจ การตลาด การเงิน และการต่อยอดผลงานสู่นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบธุรกิจสตาร์ทอัพมืออาชีพ พร้อมออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์และการร่วมทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ

อีกทั้งมีโอกาสแสดงผลงานนวัตกรรมสู่เวทีโลก เช่น งาน Consumer Electronics Show (CES) ที่สหรัฐอเมริกา หรือ Hard Tech Venture Capital (HAX) ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรระดับโลก ติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจและติ๊กต๊อก “HealthTechX” หรือโทร. 06-5925-6424, 06-5925-4426

ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรงกลุ่มผู้เปราะบางในสังคมกังวลเรื่องของความเสี่ยงที่จะกลัวการติดเชื้อ และยังมีความต้องการใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยการใช้อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน

ด้าน คุณยายพิศ โปรแกรมเมอร์ TikTok บอกเล่าว่า ตัวเองเข้าถึงเทคโนโลยียากในในช่วงปัจจุบันโดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ถ้าไม่มีใครสอนบ่อยๆ จะจำไม่ค่อยได้ เพราะด้วยสมองที่ช้าลงและเทคโนโลยีไปเร็วมาก ต้องได้รับการทบทวนบ่อยๆ และได้รับการชี้นำที่ถูกต้อง และช่วงโควิดที่ตัวเองต้องอยู่บ้านและต้องระวังว่าคนในบ้านที่ออกนอกบ้านไปทำงานจะนำเชื้อโควิดกลับมาติดตัวเองหรือไม่ รู้สึกกังวลว่าถ้าติดโควิดแล้วจะมีอาการรุนแรง

ภัทราวรรณ พานิชชา Miss Wheelchair Thailand2012 ในฐานะตัวแทนของผู้พิการ บอกเล่าปัญหาหลักๆ คือการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องนั่งวีลแชร์ตลอดเวลามีปัญหาคือปวดหลังปวดขา และช่วงโควิดที่ระบาดคนพิการเจอปัญหาคือการเดินทาง ยิ่งผู้พิการที่ใช้ขนส่งสาธารณะเชื่อว่าเป็นปัญหาที่เจอ ที่พบกับความเสี่ยงที่เจอผู้คนจำนวนมากและหลายคนต้องไปโรงพยาบาลมีความกังวลกับความเสี่ยงจะติดโควิด

ด้าน ดร.มหิศร ว่องผาติ นักทำหุ่นยนต์ไทย CO-FOUNDER HIVERGROUND ตัวแทนคนรุ่นใหม่ เล่าว่า วัยรุ่นตอนนี้เจอปัญหาเรื่องสุขภาพจิต มีความเครียดจากการเรียน ติดเกม สมาธิสั้น มีต้องการเข้าถึงหมอทางสุขภาพจิตที่ง่าย หรือปัญหาสมาธิสั้นอยากให้มีเทคโนโลยีอะไรก็ได้มาตอบโจทย์การแก้ปัญหาเด็กสมาธิสั้น นอกจากนี้อาจจะมีแพลตฟอร์มที่สามารถปรึกษาเรื่องซึมเศร้าได้สำหรับคนรุ่นใหม่